วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2567

มี “ห้องว่าง” นำมาสร้างรายได้ รับนักเดินทางจากทั่วโลกด้วย "โฮมสเตย์" รายย่อย

by Smart SME, 14 มีนาคม 2562

ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ กำลังเป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่สามารถทำเงินเข้าประเทศได้อย่างมาก ซึ่งการทำธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จึงน่าสนใจและเหมาะเป็นทางเลือกใหม่ที่ผู้ประกอบการรายย่อยที่ชาญฉลาดน่าจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสทำเงินเข้ากระเป๋า ด้วยการปรับเปลี่ยนห้องว่างๆ ภายในบ้านมาสร้างรายได้จากการให้เช่าในลักษณะโฮมสเตย์ซึ่งแม้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่ทีเดียว


เทรนด์ท่องเที่ยว โฮมสเตย์เมืองหลักเมืองรอง

ที่สำคัญไม่ใช่แค่หัวเมืองหลักและเมืองท่องเที่ยวเท่านั้น แต่โอกาสยังเปิดกว้างสำหรับผู้ที่สนใจที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งเมืองในลำดับรอง ๆ ลงไปทุกภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด

โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นเจ้าภาพหลัก ภายใต้แคมเปญ “Amazing Thailand Go Local เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต” ประกอบด้วย

ภาคเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ลำพูน อุตรดิตถ์ ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ น่าน กำแพงเพชร

ภาคอิสาน 18 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย เลย มุกดาหาร บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ

ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ตราด จันทบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก

ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี

ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล ชุมพร ระนอง นราธิวาส ยะลา และปัตตานี

 

 

ล่าสุด ปลายปี 2561 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมมือกับแพลตฟอร์มให้เช่าที่พักระดับโลก อย่าง “แอร์บีแอนด์บี” (Airbnb) ได้เปิดตัวโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ภายใต้แนวคิดหลัก “สร้างสรรค์พลังไทย ท่องเที่ยวปลอดภัย เศรษฐกิจไทยยั่งยืน”

โดยให้องค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.) ทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วย เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศกว่า 7,800 แห่งเข้าร่วมโครงการ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่งชุมชนในเมืองรอง กระจายรายได้จากการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวสู่คนชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

 


รูปแบบคือให้ อปท.แต่ละแห่งประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของบ้านที่มีห้องว่างตั้งแต่ 1-4 ห้อง และมีความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวเช่าพักค้างคืนในลักษณะเป็นโฮมสเตย์ยื่นความประสงค์เข้าร่วมในโครงการ ด้วยการสมัครใช้งานแพลตฟอร์ม Airbnb หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่สนใจเข้ามาท่องเที่ยวหรือพำนักในประเทศไทยสามารถเข้าถึงได้

รัฐฯ การันตี ไม่ผิด พ.ร.บ.โรงแรม

ขณะเดียวกัน ให้ อปท.แต่ละพื้นที่ประสานงานกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด จัดทำข้อมูล รูปภาพแห่งท่องเที่ยวในพื้นที่ที่น่าสนใจ เพื่อนำไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม Airbnb หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ เป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวตลอดจนที่พักทางออนไลน์

ทั้งนี้ ภายใต้โครงการดังกล่าว ผู้ประกอบการรายย่อยในแต่ละพื้นที่สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ โดยนำห้องว่างภายในบ้านมาลงทะเบียน เปิดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจองพักได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยไม่ถือว่าห้องพักภายในบ้าน หรือโฮมสเตย์ในชุมชนท้องถิ่นที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเช่าพัก เป็นโรงแรมตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม

 

 

เพียงแต่ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของรายย่อย ต้องแจ้งรายละเอียดการเข้าพักของนักท่องเที่ยต่อนายทะเบียนโรงแรมของแต่ละจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายทะเบียน และหากผู้เช่าพักเป็นคนต่างด้าว เจ้าบ้านหรือเจ้าของ หรือผู้ครอบครองบ้าน หรือโฮมสเตย์ ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานตำรวจภายใน 24 ชั่วโมง

ล่าสุด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและ Airbnb ยังได้จัดทำคู่มือการใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวสำหรับเจ้าของบ้านผู้ประกอบการรายย่อย พร้อมจัดฝึกอบรมติวเข้มสำหรับเจ้าของบ้าน เจ้าของโฮมสเตย์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ

เริ่มตั้งแต่การเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับ Airbnb มีทั้งหมด 12 ขั้นตอน ได้แก่


1.การสมัครและลงประกาศฟรี
2.คิดค่าบริการ 3 % สำหรับทุกการจอง
3.การรับชำระเงินที่ปลอดภัย
4.บริการดูแลและแนะนำการจัดห้องพัก
5.ประกันความเสียหายของห้องพัก
6.มีผู้ใช้งาน แพลตฟอร์ม Airbnb หลากหลายจากทั่วโลก
7.เชื่อมต่อ API พาร์ตเนอร์หลัก ๆ
8.เลือกตั้งกฎการยกเลิกการจองได้เอง
9.รีวิวที่เกิดขึ้นหลังการเข้าพักของแขก
10.โปรแกรมเจ้าของที่พักดีเด่น
11.ติดต่อกับแขกที่จะเข้าพักผ่านการแชต ตั้งแต่ก่อนเดินทางมาถึง
12.ตอบกลับข้อความผ่านแอปพลิเคชัน หรือตอบจากอีเมล

เริ่มจากการสมัครเป็นสมาชิก airbnb เพื่อลงประกาศห้องพัก เข้าไปที่ thai.airbnb.com/th_dla โดยการสร้างบัญชีเจ้าบ้าน ได้แก่ ชื่อเจ้าบ้าน ชื่อจังหวัด อีเมลเจ้าบ้าน วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ รายละเอียดเกี่ยวกับตัวเจ้าของบ้าน สิ่งที่น่าสนใจ

คำแนะนำในการสร้างบัญชีและห้องพัก มี 6 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จ

1.โพรไฟล์เจ้าของที่พัก

2.หัวข้อเกี่ยวกับที่พัก เลือกระบุหัวข้อที่โดดเด่น เช่น บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ จุดเด่นของที่พัก เช่น ขนาดห้อง จุดที่ตั้ง ความใหม่

3.ภาพถ่ายที่พัก ห้องพักที่มีรูปภาพที่สวย จะถูกคลิกมากที่สุด ทำให้มีโอกาสได้รับการติดต่อสูง เกิดการจองสูง

4.รายละเอียดเกี่ยวกับที่พัก ลักษณะประเภทบ้านพัก จำนวนคนที่จะเข้าพักได้สูงสุด ลักษณะชุมชนที่ตั้ง บรรยากาศของชุมชน สถานที่สำคัญใกล้เคียง สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย จุดเด่นของห้องพัก จุดขาย กิจกรรม และบริการอื่นๆ

5.อัพเดตปฏิทินแบบอัตโนมัติ

6.ติดต่อแขกตั้งแต่ก่อนเข้าพัก

การสกรีนผู้ต้องการเข้าพัก และสอบถาม โดยดูรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ต้องการเข้าพัก การตั้งข้อความต้อนรับอัตโนมัติ ขอเก็บขอมูลการเข้าเมือง พาสพอร์ต โดยผู้เข้าพักสามารถส่งข้อความและข้อมูลผ่านกล่องข้อความ หรือตอบกลับทางอีเมลแจ้งเตือนในกล่องอีเมลของเจ้าของห้องพัก ฯลฯ

วิธีการรับชำระเงิน ด้วยระบบรับชำระเงินที่ปลอดภัย โดยเลือกรับโอนผ่านธนาคาร 3-5 วันทำงาน Payoneer : 1 ชั่วโมง PayPal: 3-4 ชั่วโมง โดย Bank Transfer จะไม่มีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากธนาคาร และเงินจะถูกโอนออกจาก Airbnb ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากผู้เข้าพักเช็กอิน

ถือเป็นทางเลือกใหม่ในการสร้างรายได้ สำหรับเจ้าของบ้าน และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีห้องว่างรับนักท่องเที่ยว และคนเดินทาง จากทุกมุมโลก

อยากมีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์ที่แปลกใหม่และหลากหลาย และพร้อมจะพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนทุกเพศ ทุกวัย แต่งห้องว่างในบ้านของคุณไว้รองรับแขกหน้าใหม่...ตั้งแต่วันนี้

Source : Bangkokbanksme

 

Tag :

Mostview

หนุ่มอายุ 25 ปี ใช้ AI สร้างรายได้เกือบ 2 ล้านบาท ใช้เวลาแค่ 2 เดือน

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ถูกพูดถึงอย่างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่ามา และคาดการณ์ว่าจะเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจต่อไปในวันข้างหน้า

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาแรง คนไทยซื้อผ่านแพลตฟอร์ม 67% คาดมูลค่าปี 2567 แตะ 7 แสนล้านบาท

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาแรงต่อเนื่อง โตแบบฉุดไม่อยู่ ปี 2566 มีมูลค่า 6.34 แสนล้านบาท คาดการณ์ปี 2567 มูลค่าแตะ 7 แสนล้านบาท และปี 2568 มูลค่าทะลุ 7.5 แสนล้านบาท

SmartSME Line