วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2567

ถอดสูตรความสำเร็จ “ชาบูอินดี้” จากลูกชาวนานำเงินซองงานแต่งมาลงทุนสู่ธุรกิจ 2,000 ล้านบาท

by Smart SME, 18 พฤศจิกายน 2563

พลิกกลยุทธ์ธุรกิจชาบูอินดี้ ลูกชาวนานำเงินจากซองงานแต่งมาลงทุน 450,000 บาท เปิดร้านวันแรกขายได้ 500 บาท ใช้เวลา 6 ปี สร้างธุรกิจชาบูมูลค่า 2,000 ล้านบาท

“ชาบูอินดี้” อีกหนึ่งธุรกิจอาหารที่มีความต้องการ มองเห็นโอกาสอยากให้คนต่างจังหวัดได้รับประทานอาหารที่อร่อยจากวัตถุดิบที่ได้รับการคัดสรรอย่างมีคุณภาพจึงทำให้วันนี้ “ชาบูอินดี้” เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจนใครต่อใครต้องใช้เป็นกรณีศึกษา

เอกลักษณ์ของชาบูอินดี้

คุณสุภัทรา ดวงงา เจ้าของธุรกิจชาบูอินดี้ พูดถึงเรื่องนี้ว่าจุดเด่นของชาบูอินดี้อยู่ที่คุณภาพของวัตถุดิบ แม้ว่าเราขายในราคาถูก แต่เราก็ใช้สินค้าที่มีคุณภาพดีที่สุด เลือกเมนูเฉพาะเมนูที่ลูกค้ารับประทานได้จริง ๆ รวมถึงบริการภายในร้านที่ไม่จำกัดเวลารับประทานให้กับลูกค้า

สำหรับจุดดึงดูดที่ลูกค้าชอบมากที่สุดในร้านชาบูอินดี้ คือความหลากหลายของเมนู ราคาเข้าถึงได้ มีน้ำซุป/น้ำจิ้มที่เพิ่มขึ้นมาตามความต้องการของลูกค้า

หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าวัตถุดิบที่คัดสรรมานั้นมีคุณภาพ แต่ขายในราคา 199 บาท และ 299 บาท แถมยังรับประทานได้ไม่จำกัดเวลา แบบนี้ดูแล้วสมเหตุสมผลกันหรือไม่ ในเรื่องนี้คุณสุภัทรา อธิบายว่า ทุกวัตถุดิบ ทุกเมนูคัดจากซัพพลายเออร์ที่มีคุณภาพทั้งหมด โดยเลือกส่งให้กับสาขาแฟรนไชส์ทั่วประเทศ ซึ่งสินค้าที่ทางร้านคัดมา คือเมนูที่ลูกค้ารับประทานจริง ๆ ทำให้เราไม่เอาต้นทุนไปจมกับวัตถุดิบที่ลูกค้าไม่ได้ทาน จึงทำให้สามารถบริหารให้มีกำไรได้

ทำอย่างไรให้ลูกค้าประทับใจ

สำหรับเคล็ดลับในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถแต่อย่างใด ด้านคุณสุภัทรา กล่าวว่า อย่างแรกที่นำอาหารมาเสิร์ฟให้กับลูกค้าจะต้องสร้างความประทับใจกับสิ่งที่ทางร้านมอบให้ โดยลูกค้าจะต้องรู้สึกดีตั้งแต่ได้รับการเสิร์ฟอาหารจานแรก ไม่ว่าจะจ่ายราคาบุฟเฟต์ 199 หรือ 299 บาท จากการคัดสรรค์วัตถุดิบที่มีคุณภาพ รับประทานได้ทั้งหมด

“แต่ก่อนเคยเดินเสิร์ฟอาหาร เก็บจานเอง ทิ้งขยะเอง จึงทำให้เรารู้ว่าลูกค้าไม่ชอบรับประทานเมนูอะไรมากที่สุด ดังนั้นจึงปรับเปลี่ยน เอาเมนูนั้นออกไป” คุณสุภัทรา

แนะนำคนที่อยากเปิดร้านชาบู

อันดับแรกต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ามีความถนัดด้านไหน เพราะพื้นฐานของธุรกิจมาจากความถนัดของผู้บริหาร เช่น อยากเปิดร้านชาบูก็ต้องมีความถนัดเรื่องอาหาร โดยให้สำรวจตัวเองในเรื่องนี้ก่อน

อันดับสอง ดูเรื่องความสามารถในการลงทุนว่าเรามีมากน้อยแค่ไหน แล้วไปทำตามไซส์ที่เหมาะสม รวมถึงดูรอบตัวว่าสามารถหาเงินทุนได้จากที่ไหนบ้าง หากใครมีเพื่อน หรือครอบครัวอาจจะลองเสนอโปรเจกต์ดู คุยกันว่าหากทำธุรกิจนี้ สนใจจะเป็นหุ้นส่วนกันไหม

คนที่ทำธุรกิจร้านอาหาร เรื่องที่มาอันดับแรกเลย คือเรื่องคุณภาพ กระบวนการจัดการ หากทำได้ดีลูกค้าก็จะกลับมา เพราะมีความประทับใจ ซึ่งต้องควบคู่ไปกันทั้ง คุณภาพอาหาร และบริการ

“เคล็ดลับไม่ลับที่ร้านชาบูทุกร้านต้องมีคือวัตถุดิบห้ามค้างเกิน 1 คืน เพราะความสดและใหม่ลูกค้าสามารถสัมผัสได้ด้วยปลายลิ้น”คุณสุภัทรา กล่าว

ย้อนจุดเริ่มต้นทำธุรกิจ

คุณสุภัทรา เล่าถึงวันแรกที่เริ่มต้นทำธุรกิจชาบูอินดี้ว่า ใช้เงินลงทุน 450,000 บาท แบ่งจากเงินขายหุ้นจากธุรกิจก่อนหน้านี้ 50,000 บาท รวมกับของแฟน 150,000 บาท เป็น 200,000 บาท และอีกส่วนหนึ่งเป็นจากซองงานแต่ง นำมาทำธุรกิจร้านชาบูอินดี้ โดยไม่มีความกลัวเรื่องการลงทุนว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ขอแค่ให้ได้เริ่มทำแล้วทำให้ดีที่สุด เมื่อคิดว่าทำได้ก็ไม่คิดว่าจะมีทางตัน

“วันแรกขายได้ 500 บาท วันต่อไปขายได้ 600 บาท แบบนี้ก็ถือว่าเติบโตแล้ว หากเราขายได้น้อย วันต่อไปก็ซื้อวัตถุดิบน้อย ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ทดลองว่าลูกค้ามีความชื่นชอบแบบไหน” คุณสุภัทรา กล่าว

โดยปัญหาของการทำธุรกิจอยู่ในช่วงของปีแรก โดยทำกัน 2 คน ไม่มีที่ปรึกษา ด้วยความที่ธุรกิจเติบโตเร็วจนทำให้ลืมการบริหารจัดการหลังบ้าน ซึ่งในช่วงนั้นธุรกิจใช้เงินสดดำเนินการทั้งหมด รายได้หลักมาจากการที่มีสาขาเป็นของตัวเอง และการขายแฟรนไชส์ ราคา 150,000 บาท แต่ไม่ได้มีการพัฒนาต่อยอด จึงทำให้ประสบปัญหาทางด้านการเงิน ไม่มีเงินไปจ่ายเจ้าหนี้ รวมสต็อกสินค้าไม่พอ และไม่สามารถตามเก็บเงินจากลูกหนี้ได้ เพราะไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากที่เป็นคนคิดลบ จนเกิดอาการท้อ เปลี่ยนเป็นไปศึกษาดูชีวิตคนที่ประสบความสำเร็จในช่วงเวลาเริ่มต้นเขาลำบากเหมือนเราหรือไม่ พร้อมทั้งเอาเคล็ดลับมาประยุกต์ใช้กับตัวเอง มองว่าอะไรคือจุดอ่อน แล้วค่อยหาวิธีแก้ปัญหาไป

จากลูกชาวนาสู่นักธุรกิจพันล้าน

ก่อนที่มาทำชาบูอินดี้ เคยทำธุรกิจอื่นมาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยความเป็นลูกชาวนาที่ไม่มีความรู้ในเรื่องการทำธุรกิจ แต่ก็ไม่ทำให้เธอต้องย่อท้อแต่อย่างใด

ปัญหาที่มาทำชาบูอินดี้เริ่มแรก คือเรื่องเงินทุน โดยทำที่สามารถทำได้ก่อน ใส่ใจเรื่องคุณภาพของอาหาร เพื่อให้ลูกค้าเกิดการบอกต่อ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้มาจากความพยายามที่จะให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ได้นั่งรับประทานอาหารในร้านที่มีความสวยนำสิ่งดี ๆ ไปอยู่ตามต่างจังหวัด จึงเลือกเปิดสาขาตามต่างจังหวัดก่อน แล้วถึงเข้ามาในกรุงเทพฯ

“ความที่เราอยู่ลำบากมาก่อนมันทำให้มีความท้าทาย พอเมื่อเจอปัญหาก็ต้องมีทางแก้ เมื่อก่อนเจอปัญหาอะไรก็ผ่านมาได้ ปัญหาจากการทำธุรกิจไม่ได้ทำให้เราหยุดชีวิตไว้แค่นั้น ทุกปัญหา มันมีทางออก ทางแก้”

ความสำเร็จในวันนี้ของชาบูอินดี้เป็นคำตอบได้ดีในเรื่องของความไม่ย่อท้อต่อการต่อสู้ในเชิงการทำธุรกิจที่ต้องการให้ลูกค้าได้รับสิ่งที่ดีจากการมาใช้บริการ แม้จะระหว่างทางจะเจออุปสรรคต่าง ๆ มากมาย แต่ถ้าหากมีจุดมุ่งหมายทุกอย่างก็สามารถเป็นไปได้ทั้งนั้น

Did you know?

ที่มาของชื่อ “ชาบูอินดี้” มาจากนิสัยส่วนตัวของเจ้าของร้านที่ไม่ชอบอะไรที่มีเงื่อนไขเยอะ ดังนั้น คำว่า “อินดี้” สามารถสื่อความหมายในเรื่องความเป็นตัวเอง อิสระ ดูไม่ต้องพึ่งพิงใคร พอมาเปิดร้านก็ต้องคิดกลยุทธ์ที่ไม่เหมือนใคร เช่น ไม่จำกัดเวลารับประทานของลูกค้า

 

 

Source : YouTube Smart SME

 


Mostview

ปิดแล้ว! ร้าน Lawson ฉากหลังภูเขาฟูจิ หลังนักท่องเที่ยวไม่ทำตามกฏ ทิ้งขยะเกลื่อน

อีกหนึ่งจุดถ่ายภาพเวลานักท่องเที่ยวไปภูเขาฟูจิที่ประเทศญี่ปุ่น นั่นคือพื้นที่ร้านสะดวกซื้อ Lawson ที่มีฉากหลังเป็นภูเขาฟูจิ ที่เรียกว่าเป็นแลนด์มาร์คที่ใครมาต้องมาถ่ายรูปให้ได้ แต่ตอนนี้กำลังจะเหลือเพียงความทรงจำ กลายเป็นอดีต

ผลกระทบขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจทำให้สินค้าขยับราคาขึ้น 15%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชน ทั้งในภาคส่วนการผลิต การค้า และบริการ การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

Noumami บริษัทนอร์เวย์ ผลิตน้ำปลาจากแซลมอน แบรนด์แรกของโลก

“น้ำปลา” จัดเป็นสินค้าสัตว์น้ำพื้นเมืองของประเทศไทย โดยปลาที่นิยมนำมาเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ ปลากะตัก ปลาสร้อย ปลาซิวแก้ว แต่ตอนนี้ไม่ใช่แค่ปลาดังกล่าวที่พูดมาสามารถนำมาทำเป็นน้ำปลาได้ เพราะปลาแซลมอนก็สามารถนำมาผลิตได้เช่นกัน

Wang Ning เจ้าของ Pop Mart ผู้กลายมาเป็นเศรษฐีจากการขายตุ๊กตา Molly ราคา 300 กว่าบาท ทั่วจีน

Pop Mart ร้านขายของเล่น Art Toys ชื่อดัง ที่ชั่วโมงนี้ไม่มีนักสะสมคนไหนไม่รู้จัก พร้อมที่จะมุ่งไปทันทีหากมีการเปิดขายคอลเล็กชันตัวละครใหม่ จนต้องมีการลงทะเบียนเพื่อรับคิวในการเข้าซื้อกันเลยทีเดียว

SmartSME Line