วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 9, 2567

“Yuedpao” แบรนด์เสื้อยืดบนห้างฯ ขายตัวละ 100 บาท สร้างรายได้เดือนละ 10 ล้านบาท

by Anirut.j, 11 กุมภาพันธ์ 2564

จากจุดเริ่มต้นของหนุ่มใจสู้ที่ยอมกล้าเสี่ยงลงทุน “ขายบ๊อกเซอร์” ด้วยเงิน 8,000 บาท ขายอยู่แถวหน้ารามคำแหง ต่อยอดสู่ธุรกิจเสื้อยืดแบรนด์ “ยืดเปล่า” ขายตัวละ 100 บาท สร้างรายได้ถึงเดือนละ 10 ล้านบาท ในระยะเวลา 2 ปี ที่ทุกวันนี้มีสาขาในห้างเยอะมาก

จากวันนั้นมาถึงวันนี้คุณทนงศักดิ์ แซ่เอี๊ยว เจ้าของแบรนด์ Yuedpao ต้องผ่านอุปสรรคอะไรมาบ้าง เรามาอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจนี้กัน

จุดเริ่มต้น เรียนไปด้วย ขายของไปด้วย

คุณทนงศักดิ์ แซ่เอี๊ยว เจ้าของแบรนด์ Yuedpao เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจว่าตอนนั้นตนมีเงินอยู่ 8,000 บาท แบ่งเป็น 5,000 บาท ขอแม่ และอีก 3,000 บาท คือเงินเก็บตนเอง นำเงินส่วนนี้ไปซื้อบ๊อกเซอร์มาขายประมาณเกือบ 1 อาทิตย์ ก็นำเงินไปลงทุนต่อเลย จากที่ขายได้วันละ 200 บาท 300 บาท ก็เพิ่มเป็นวันละ 1,000 บาท และขยับเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

“ผมขายบ๊อกเซอร์ตั้งแต่ปี 54 เป็นตลาดกลางแจ้งบริเวณหน้าราม ช่วงนั้นเรียนไปด้วย ขายของไปด้วย ขายมาสักพักต้องมาเจอกับช่วงหน้าฝน ซึ่งปีนั้นฝนตกหนักมาก จากยอดขาย 100% เหลือแค่ 10% จนต้องมีการปรับเวลาการขายเป็นช่วงเช้าแทน เพื่อหนีฝนที่ชอบตกช่วงค่ำ”

 

 

คุณทนงศักดิ์ เล่าถึงชีวิตในช่วงนั้นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยมาก เพราะต้องตื่นตี 5 เพื่อไปขายของในช่วงเช้า และช่วงเย็นถ้าไม่เจอฝนก็มาขายอีก กว่าจะเก็บร้านเรียบร้อยร้อยเกือบ 4-5 ทุ่ม แต่สุดท้ายก็ทำให้รอดมาได้จากช่วงวิกฤตน้ำท่วมปี 54

จุดเปลี่ยนจาก “บ๊อกเซอร์” สู่ “เสื้อยืด”

จากช่วงแรกของการทำธุรกิจที่ขายตามตลาดนัด พอมีเงินเยอะขึ้นก็มีรุ่นพี่ชักชวนให้ไปขายที่จตุจักร ไปขายตอนแรก คือไปขายแบบหนีเทศกิจ พอขายไปสักพักคุณทนงศักดิ์ เริ่มมองเห็นโอกาสอยากจะมีหน้าร้านเหมือนกับคนอื่น โดยดูจากคนที่ขายของจตุจักรช่วงนั้นสามารถตั้งตัวได้เยอะ

“พอขายบ็อกเซอร์มาเรื่อย ๆ มีหลาย ๆ ล็อค เราเริ่มมองหาสินค้าใหม่ ๆ โดยเริ่มจากการสำรวจตัวเองว่าเป็นคนชอบใส่เสื้อยืด และถ้าเราขายบ๊อกเซอร์ไปเรื่อย ๆ มันจะตัน เพราะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นจึงมีไอเดียที่จะทำเสื้อยืด เพราะใส่ง่าย ใส่ได้ทุกวัน ก็เลยตัดสินใจเปิดร้านเสื้อยืดเพื่อมาขายข้าง ๆ ร้านบ็อกเซอร์”

 


คุณทนงศักดิ์ เล่าถึงที่มาที่ไปของแบรนด์ Yuedpao ว่าก่อนที่จะมาเป็นเสื้อ Yuedpao ตนขายเสื้อยืดมาเป็นระยะเวลา 2 ปีกว่า ช่วงแรกที่ขายเป็นการไปหาผ้าสต็อกที่เหลือจากแบรนด์ใหญ่ ๆ มาขาย ด้วยความหลากหลายของผ้าสต็อกทำให้ตนได้ความรู้ในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก สุดท้ายไปเจอผ้าอยู่ตัวหนึ่งแล้วชอบมาก ก่อนจะเป็นแบรนด์ Yuedpao ตนใส่ผ้าตัวนั้นมาตั้งแต่แรกประมาณ 2 ปีกว่า พบว่าผ้ามีความคงทนมาก สภาพเหมือนเดิมทุกอย่าง

“ผ้านี่ยังไม่มีใครเห็น เราเลยพัฒนาเอาผ้าตัวนี้ไปให้โรงงานทำ พอขายมาสักพัก เริ่มมีทุน มีเงินเก็บเลยตัดสินใจสร้างแบรนด์ Yuedpao ขึ้นมา”

ทำไมต้องเป็นแบรนด์ Yuedpao

คุณทนงศักดิ์ อธิบายถึงเรื่องนี้ว่าตอนแรกที่ไปขายจตุจักร กลุ่มเป้าหมายของเรา คือวัยรุ่น นักศึกษา เราเลยต้องการสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจง่าย สุดท้ายมาได้ชื่อว่าแบรนด์ว่า “ยืดเปล่า” ต้องย้อนกลับไปก่อนว่าตอนแรกที่ขายบ๊อกเซอร์ก็ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “บ๊อกป่ะ” เพราะลูกค้าเดินผ่านหน้าร้าน และมักถามเป็นประโยคคำถามว่า “เธอ ๆ เอาบ๊อกป่ะ” ตนเอาคำพูดของลูกค้ามาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ เช่นเดียวกันเสื้อยืดที่เพื่อนมักถามกันว่า “เฮ้ย! มึงเอาเสื้อยืดเปล่า”

“ก่อนจะทำยืดเปล่า ผมทำเสื้อยืดมา ผมรู้ว่าเสื้อยืดนี้มันไม่ย้วยเลย มีความคงทนมาก เลยเอาความโดดเด่นในเรื่องนี้มาใช้เป็นสโลแกน คือยังไงก็ไม่ย้วย และมีการลากเสียงเพิ่มเติมให้น่าสนใจเป็น ยังง๊ายย ก็ไม่ย้วย”

 

 

คุณทนงศักดิ์ เล่าเพิ่มเติมว่าพอรีแบรนด์ยืดเปล่า พบว่าขายดีกว่าเดิมจากก่อนหน้านี้ขายตัวละ 60 บาท ปรับมาเป็น 100 บาท เพราะเรารู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร รู้จุดแข็งของเราคืออะไร พร้อมกับเปลี่ยนภาพลักษณ์ร้านที่จตุจักรใหม่

ถึงเวลาขยับขยายสาขา

แน่นอนว่าจุดประสงค์ของการทำธุรกิจย่อมอยากเห็นแบรนด์ที่ทำมากับมือเติบโต ขยับขยายสาขาออกไป หนึ่งในนั้นคือแบรนด์ยืดเปล่าที่การขายที่จตุจักรอาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

คุณทนงศักดิ์ เล่าถึงช่วงเวลานี้ว่า ตอนแรกที่ขายที่จตุจักรตนรู้ว่าชื่อแบรนด์เราจำง่าย สินค้ามีคุณภาพ ลูกค้าซื้อซ้ำตลอด เลยเริ่มมองว่าหากยังอยู่ที่จตุจักรมันจะเริ่มตัน เลยมองโอกาสขยายตลาดไปยูเนี่ยนมอลล์เป็นล็อคเล็ก ๆ แต่ขายดีมาก เลยทำให้รู้ว่าไม่ต้องขายแค่จตุจักร ก็ขายดีเหมือนกัน

“พอขายที่ยูเนี่ยนมอลล์ เรามีความคิดอยากจะลองเข้าห้างฯ ดู เลยไปนำเสนอโปร์ไฟล์กับเซ็นทรัล พอมาขายที่นี่ก็เจอกับความท้าทาย เพราะลูกค้าไม่รู้จักแบรนด์ เหมือนเขาไม่สนใจของราคาถูก”

 

 

จุดนี้คุณทนงศักดิ์ เลยแก้ปัญหาโดยจ้างแน็ก ชาลี มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เลยทำใหแบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยที่สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวเริ่มจ้างเพจไปโปรโมทแบรนด์ เลยทำให้สินค้าขายได้

ความสำเร็จของแบรนด์ยืดเปล่า

คุณทนงศักดิ์ เล่าถึงการเริ่มขายเสื้อแบรนด์ยืดเปล่า ว่าตนเริ่มขายเดือนธันวาคม 2561 ขายได้ประมาณเดือนละ 100,000 กว่าบาท หากเอาเดือนธันวาคมปีที่แล้วขายได้ 10 ล้านบาท หากถามว่าทำได้ยังไงต้องตอบเลยว่า สินค้าต้องดี มีการนำเสนอที่แตกต่าง รวมถึงใส่ใจให้บริการกับลูกค้า

“พอเรามีสาขานี้ เราขยายไปอีกสาขาหนึ่ง สิ่งที่เราทำมาลูกค้าเขาก็รอ กลายเป็นว่าเราไปขยายสาขา 2 ก็ขายดีขึ้น เพราะลูกค้าก็มั่นใจแล้ว บางคนเคยซื้อทางออนไลน์มา คุณภาพดี เราบริการลูกค้าเต็มที่ มีปัญหาเรารับเปลี่ยนหมดทุกอย่าง”

ทำไมยืดเปล่าถึงขายได้ตัวละ 100 บาท

คุณทนงศักดิ์ ตอบคำถามเรื่องนี้ โดยแบ่งประเด็นเป็น 1.การบริหารจัดการต้นทุน เราสั่งจากโรงงานผ้าผลิตเอง ทำให้ประหยัดต้นทุนได้ดี 2.กลยุทธ์การทำการตลาด ยืดเปล่าเน้นขายในปริมาณมาก ต่อให้ค่าเช่าที่ห้างแพง แต่ลูกค้าเข้ามาซื้อเยอะ และมีการซื้อช้ำ มันก็ทำให้เราอยู่ได้

 

 

มองคู่แข่งในตลาดอย่างไร

การทำธุรกิจย่อมมีคู่แข่งเป็นธรรมดา คุณทนงศักดิ์ เผยว่าถ้าเป็นขายตามห้างยังมีคู่แข่งไม่ค่อยเยอะ แต่ถ้าเป็นออนไลน์จะเยอะมาก พอเห็นเราขายดี ทำคอนเทนต์ดีเกิดการก็อปปี้ขึ้น เอาผ้าไปหาโรงงานผลิตเอง

“จริง ๆ ผมมองว่ามันก็ดีนะ มีคู่แข่งเยอะ ๆ แล้วมีคนเลียนแบบ มันทำให้เราต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

แนวคิดการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

คุณทนงศักดิ์ ทิ้งท้ายตอบคำถามนี้ว่า เวลาเราเจอวิกฤต หรืออะไรก็ตาม ถ้าเราสู้ ไม่ยอมแพ้ก็จะพบกับหนทางแก้ไขปัญหา อย่างตนเจอวิกฤตน้ำท่วมในปี 2564 ผลิตสินค้ามาแล้วเจ๊ง เราก็ต้องหาหนทาง ลุยไปเรื่อย ๆ สักวันหนึ่งเรารู้ว่ามันทำได้ เราก็ลุยต่อ เหมือนกับล่าสุดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แบรนด์ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์จากการทำสาขา มาทำออนไลน์เยอะขึ้น ซึ่งทำให้ยอดขายเติบโตขึ้นมาก จากเมื่อก่อนแบรนด์ทำออนไลน์แค่ 20% ของยอดขาย

“ถ้าโควิดไม่บังคับเรา มันไม่ทำให้เราไปออนไลน์จริงจังขนาดนั้น จนปัจจุบันยอดขายออนไลน์ 6 ช่องทาง ก็ประมาณ 50% แล้ว ซึ่งมันทำให้เราเรียนรู้จากวิกฤต แล้วเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ”

 

 

ทั้งนี้ เสื้อยืดแบรนด์ “ยืดเปล่า” ไม่เพียงแต่ขายเสื้อยืดอีกต่อไป แต่ยังมีการต่อยอดสู่สินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กางเกง, ถุงเท้า, Underwear ซึ่งยังไม่หยุดแค่นี้แน่นอน


Mostview

KFC มาเลเซียปิดกว่า 100 สาขา เพราะถูกชาวมุสลิมคว่ำบาตรธุรกิจสัญชาติสหรัฐฯ

KFC แฟรนไชส์สัญชาติอเมริกันกำลังตกเป็นเป้าหมายการรณรงค์คว่ำบาตรธุรกิจของประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับอิสราเอลที่ทำสงครามกับชาวปาเลสไตน์จนมีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

นี่คือเหตุผล เพราะอะไรการทำงานหนักไม่การันตีว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป

ทุกคนมักคิด และถูกปลูกฝังมาตลอดว่าให้ทำงานหนักเข้าไว้ แล้วผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่นี่อันเป็นความเชื่อที่ผิดก็ได้ หากเราตั้งข้อสงสัยว่า “ความหมายการทำงานหนักที่แท้จริงคืออะไร?” ทำไมผู้คนต่างทำตาม และดิ้นรนให้เกิดขึ้นจริง

เศรษฐกิจไม่ดี! KFC-Pizza Hut ในจีน ดึงกลยุทธ์สุดฤทธิ์เรียกลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

Yum China Holdings เจ้าของ KFC และ Pizza Hut เชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในจีน วางแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มในพื้นที่ที่ยังไม่เคยเปิด โดยใช้กลยุทธ์ขายเมนูในราคาต่ำเพื่อดึงลูกค้าเข้ามาในจำนวนมาก

CARS24 ธุรกิจจำหน่ายรถยนต์มือสองยุติดำเนินกิจการในไทยอย่างเป็นทางการ

CARS24 ธุรกิจซื้อ-ขาย-เทิร์น รถยนต์มือสอง ได้ยุติกิจการในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย โดยในแถลงการณ์ของบริษัทระบุว่า

SmartSME Line