วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2567

หวั่นภาษีที่ดินทำป่วน เอสเอ็มอีและเกษตรกรกระทบหนัก แต่ยังไม่เข้าใจ

by Smart SME, 13 กุมภาพันธ์ 2561

ภาษีที่ดิน ทำป่วน เอสเอ็มอีและเกษตรกรกระทบหนัก แต่ยังไม่เข้าใจ

นายอธิป พีชานนท์ กรรมการบริหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยในงานเสวนาวิชาการรวมประเด็นสำคัญร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีการถ่ายทอดสดไปหอการค้าทั่วประเทศว่า หอการค้าเป็นห่วงผลกระทบที่จะเกิดจากการใช้กฎหมายภาษีที่ดินฯ เพราะจากผลการสำรวจความเข้าใจกฎหมายนี้ที่จะบังคับใช้ในปี 62 ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและไม่พร้อมกับภาระภาษีที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอัตราภาษีที่ยังมีความซับซ้อนในการจัดเก็บ มีการกำหนดเพดาน อัตราจัดเก็บจริง ทำให้ทั้งเอกชน ประชาชน เกษตร ไม่เข้าใจ จึงมองว่า อัตราการจัดเก็บควรเป็นอัตราเดียว ไม่ใช่ขั้นบันได แต่เป็นอัตราที่ยอมรับได้และไม่เป็นภาระกับทุกฝ่าย นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะต้องรับภาระอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันต้องรับภาระจากต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น ซึ่งบางรายอาจจะรับภาระไม่ไหว  ตลอดจนความไม่โปร่งใส่ในการประเมินในการใช้ประโยชน์ของที่ดิน ที่ยังต้องใช้ดุลยพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. เข้ามาพิจารณา โดยเฉพาะที่ดินการเกษตรและที่ดินรกร้าง ที่ยังไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน ทำให้เป็นช่องว่างให้เกิดการใช้ดุลยพินิจ และทุจริตได้ รวมถึงปัญหาสิ่งปลูกสร้างสำหรับการเช่า อพาร์ทเม้นท์ หอพัก เพราะหากจะจดทะเบียนกับกรมที่ดิน จะต้องมีการเช่าอย่างน้อย 3 ปี ขัดกับความจริงที่ทำสัญญาปีต่อปี ซึ่งถูกตีความว่าเป็นการให้เช่าเพื่อการพาณิชย์ และทำให้ต้องเสียภาษีสูงขึ้น และจะต้องผลักภาระไปยังผู้เช่าแทน ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า ยืนยันการใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่จะไม่ทำให้ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบเยอะ เพราะมีการปรับลดเพดานลงมาแล้ว 40% และมีการยกเว้นการเก็บให้คนที่มีบ้านหลังแรกราคาต่ำกว่า 20 ล้านบาท เกษตรกรก็เว้นภาษีที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาท  ทำให้คนมีบ้านหลังต่อไปเสียล้านละ 200 บาท ที่ดินเกษตรที่เกิน 50 ล้านบาท เสียเพิ่มล้านละ 100 บาท โดยขั้นตอนหลังจากนี้ กรรมาธิการจะมีการนำผลจากการเปิดรับฟังความคิดเห็น ไปรวบรวมและปรับปรุงก่อนนำร่างกฎหมาย เสนอเข้าสู่การพิจารณาในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)วาระสอง และสามได้ในเดือนมี.ค.นี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันตามเป้าหมายในปี 62

ข้อเท็จจริง พ.ร.บ.ภาษีใหม่ปี 2562 อัตราการเก็บภาษีต่อปี

  • ไม่ว่าจะประกาศใช้ในเดือนใดก็ตามของปีนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยืนยันว่า การเก็บจริงจะต้องเป็นวันที่ 1 มกราคม 2562
  • โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปรับลดเพดานภาษีลง 40% ในอีก 4 ประเภท ได้แก่ ภาษีที่ดินเกษตรกรรม 0.2% ปรับเหลือ 0.15% ภาษีที่ดินที่อยู่อาศัย 0.5% เหลือ 0.3% ภาษีที่ดินพาณิชยกรรม 2% เหลือ 1.2% และที่ดินเปล่าจาก 5% เหลือ 3%
  • ภาษีที่ดินประเภทเกษตรกรรม จาก 0.2% อัตราการจัดเก็บจะมีอยู่ 3 ขั้นคิดตามมูลค่าที่ดิน เริ่มจากไม่เกิน 50 ล้านบาทจะได้รับยกเว้นภาษี, มูลค่า 50-100 ล้านบาท จัดเก็บ 0.05% หรือล้านละ 500 บาท และที่ดินที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท จะจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 0.10% หรือล้านละ 1,000 บาท
  • สนช.เสนอให้มีการย่อยอัตราภาษี 5-6 ขั้นบันได แยกเป็นที่ดินเกษตรกรรมรายย่อย มี 6 ขั้น ได้รับยกเว้นภาษีสำหรับมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จากนั้นมูลค่า 50-75 ล้านบาท เริ่มเก็บภาษี 0.01% หรือล้านละ 100 บาทจนถึงมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท มีภาระภาษีล้านละ 1,000 บาท
  • ที่ดินเกษตรรายใหญ่หรือนิติบุคคล มี 5 ขั้น โดยไม่มีการยกเว้นภาษี โดยมูลค่า 0-75 ล้านบาท เริ่มเก็บภาษีล้านละ 100 บาทจนถึงมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทเสียภาษีล้านละ 1,000 บาท
  • ทางด้านที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย นอกจากลดเพดานจัดเก็บจาก 0.5% เหลือ 0.3% แล้ว ทรัพย์สินบ้านหลังหลัก ยังมีการถ่างอัตราจัดเก็บจาก 3 ขั้นบันได เป็น 5 ขั้นบันได และลดมูลค่ายกเว้นภาษีจากเดิม 50 ล้านบาท เหลือบ้านไม่เกิน 20 ล้านบาท
  • ส่วนบ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไปเริ่มจัดเก็บตามมูลค่าทรัพย์สินตั้งแต่ล้านละ 200-1,000 บาท
  • ประเภทพาณิชยกรรม อัตราจัดเก็บลดจาก 6 ขั้นบันได เหลือ 5 ขั้นบันได ซึ่งเดิมจะเก็บไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือล้านละ 5,000 บาท ปรับลงเหลือล้านละ 3,000 บาท
  • ทรัพย์มูลค่าสูง ระดับ 1,000-3,000 ล้านบาท จากเดิมเก็บล้านละ 9,000-12,000 บาท ปรับใหม่เหลือล้านละ 6,000 บาท
  • มูลค่าทรัพย์เกิน 5,000 ล้านบาท จัดเก็บล้านละ 7,000 บาท
  • ประเภทที่ดินเปล่า เพดานลดจาก 5% เหลือ 3% ข้อเสนอเดิมไม่มีการแบ่งมูลค่า ในขณะที่ข้อเสนอ สนช.แบ่งจัดเก็บ 5 ขั้นบันได โดยใช้อัตราจัดเก็บแบบเดียวกับประเภทพาณิชยกรรม แต่มีข้อแตกต่างอยู่ที่มีการปรับเพิ่มภาษีทุก 3 ปี (หากไม่มีการนำมาทำประโยชน์) ในอัตรา 0.3%

Mostview

หนุ่มอายุ 25 ปี ใช้ AI สร้างรายได้เกือบ 2 ล้านบาท ใช้เวลาแค่ 2 เดือน

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ถูกพูดถึงอย่างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่ามา และคาดการณ์ว่าจะเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจต่อไปในวันข้างหน้า

Asahi เพิ่มการผลิตเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ ชูเป็นสินค้าหลัก หลังคนญี่ปุ่นดื่มเบียร์น้อยลง

Asahi แบรนด์ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมดันการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มากขึ้นกว่าเดิม หวังสร้างยอดขายในสัดส่วน 50% ภายในปี 2040

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาแรง คนไทยซื้อผ่านแพลตฟอร์ม 67% คาดมูลค่าปี 2567 แตะ 7 แสนล้านบาท

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาแรงต่อเนื่อง โตแบบฉุดไม่อยู่ ปี 2566 มีมูลค่า 6.34 แสนล้านบาท คาดการณ์ปี 2567 มูลค่าแตะ 7 แสนล้านบาท และปี 2568 มูลค่าทะลุ 7.5 แสนล้านบาท

SmartSME Line