วันเสาร์, เมษายน 20, 2567

เริ่มจากขายน้ำมะพร้าวปั่น สู่ธุรกิจ สบู่น้ำมะพร้าว รายได้ 200,000 บาทต่อเดือน

by Smart SME, 8 พฤษภาคม 2561

สร้างสินค้าที่แตกต่างจากท้องตลาด สบู่น้ำมะพร้าว ศึกษารอบด้านก่อนเริ่มธุรกิจ เน้นตลาดส่งออกเป็นหลัก ส่งขายจีน มาเลเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ จับกลุ่มลูกค้าตรงจุด สร้างยอดขายรวมสูงถึง 8,000 ก้อนต่อเดือน

ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคก่อนสร้างธุรกิจ

คุณนันทวัลย์ ฤกษ์ณทรัพย์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ Douceur Coconut เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า ก่อนหน้านี้ขายน้ำมะพร้าวปั่นมาประมาณ 2 ปี มีความคิดที่จะสร้างธุรกิจให้ใหญ่กว่าเดิม แต่ยังต้องการให้เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว สนใจในด้านการส่งออก เพราะรู้ว่าคนต่างชาติมีความนิยมในมะพร้าวของไทย โดยเฉพาะคนจีน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจเดิมคือน้ำมะพร้าวปั่นที่เคยทำอยู่ โดยมองว่าในการส่งออกมะพร้าวโดยตรงนั้นสามารถทำได้ แต่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากเป็นรายเล็กหน้าใหม่และมีคู่แข่งจำนวนมาก จึงมองถึงการแปรรูปว่ามะพร้าวจะนำมาทำอะไรได้บ้างที่นอกเหนือจากการสกัดเป็นน้ำมันที่มีมากมายหลายเจ้าในตลาด สบู่น้ำมะพร้าว เมื่อตัดสินใจจะเริ่มธุรกิจ คุณนันทวัลย์เล่าว่า ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการคิดและศึกษาความชอบของผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับมะพร้าว ตลอดจนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ศึกษาในเรื่องวัตถุดิบพบว่าด้วยสรรพคุณของมะพร้าวที่มีวิตามินสูง ซึ่งดีต่อทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนามาเป็นสินค้า จนมาลงตัวที่สบู่  คุณนันทวัลย์ กล่าวว่า

“จากการศึกษาพบว่าในตลาดส่งออกเกือบทุกประเทศและต่างชื่นชอบสินค้าจากมะพร้าวของไทย เพราะสรรพคุณต่างๆ ที่มีประโยชน์”

สร้างโปรดักต์ที่แตกต่าง สบู่น้ำมะพร้าว

เมื่อคิดค้นและได้สูตรที่ลงตัวในการทำสบู่ คุณนันทวัลย์ได้จ้างโรงงานในการผลิต ซึ่งเป็นโรงงานที่ได้มาตรฐาน และจบในขั้นตอนเดียวจนได้เป็นสินค้าออกมา โดยทุนเริ่มต้นที่ใช้ในการสร้างธุรกิจจนสามารถผลิตผลิตสินค้าล็อตแรกออกมาจำหน่ายได้นั้น คุณนันทวัลย์เปิดเผยว่าเป็นจำนวนเงินประมาณ 100,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายหลักจะเป็นในส่วนของการผลิต จุดเด่นของ Douceur Coconut  Soap คือเป็นสบู่ที่ทำมาจากน้ำมะพร้าวจริงๆ เหมาะสำหรับใช้กับผิวหน้า 1 ก้อนสามารถใช้ได้ประมาณ 3 เดือน แต่หากต้องการจะใช้ฟอกตัวในการอาบน้ำก็ได้เช่นกัน ซึ่งคุณนันทวัลย์กล่าวว่าแม้ปัจจุบันในตลาดของสบู่หรือสินค้าจากธรรมชาติจะมีการแข่งขันสูง มองตลาดในส่วนของการไปเสริมความต้องการ สำหรับสินค้าจากน้ำมะพร้าวที่ยังไม่มีในรูปแบบของสบู่  ซึ่งจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่แตกต่างและมีความน่าสนใจ

เจาะตลาดต่างประเทศ เริ่มจากนักท่องเที่ยว ส่วนด้านแผนธุรกิจนั้น เนื่องจากต้องการเจาะตลาดต่างประเทศ คุณนันทวัลย์อธิบายว่า เริ่มทำการตลาดจากกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวต่างๆ ที่เข้ามาในประเทศไทย ต้องการให้สินค้าเป็นของฝาก เมื่อนำกลับไปใช้แล้วดีให้เกิดการบอกต่อ แล้วต่อยอดเป็นลักษณะของตัวแทนในการกระจายสินค้า ประกอบกับจากเดิมที่เคยขายของในแหล่งนักท่องเที่ยวชาวจีน ได้ทำการแจกสินค้าทดลองใช้ให้กลุ่มนักท่องเที่ยว โดยมองถึงช่วงอายุและความเป็นไปได้อื่นๆ ในการที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจออกไปได้ ซึ่งเมื่อได้ไปแล้วเกิดความชื่นชอบก็จะมาสั่งไปเพื่อขายต่ออีกทอดหนึ่ง สำหรับตลาดในประเทศไทย Douceur Coconut  มีตัวแทนจำหน่ายประมาณ 10 ราย ส่วนตลาดต่างประเทศนั้นคุณนันทวัลย์ทำหน้าที่ดูแลเอง โดยมีดีลเลอร์ในประเทศมาเลเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และรายใหญ่จากประเทศจีนอีก 2 เจ้า Douceur Coconut ดำเนินธุรกิจมาได้ประมาณ 3 เดือน มียอดขายรวมสูงถึง 8,000 ก้อนต่อเดือน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อเดือน  คุณนันทวัลย์ กล่าวว่า

“คิดว่าทำอย่างไรจึงจะมีลู่ทางในการกระจายสินค้าออกไปให้มากที่สุด อีกช่องทางหนึ่งคือติดต่อผ่านทางบริษัททัวร์และไกด์ทัวร์ในการเป็นตัวแทน เพราะจำนวนทัวร์ที่มาเที่ยวเมืองไทยมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนต่างที่เป็นกำไรให้เมื่อขายได้ หรือทางบริษัทและไกด์จะเป็นตัวแทนเพื่อจำหน่ายเองก็ได้เช่นกัน”

ต้องรอบคอบด้านการขนส่ง หากเน้นส่งออกสินค้า

เนื่องจากเน้นตลาดส่งออก คุณนันทวัลย์กล่าวว่าทำให้ต้องเจอกับปัญหาในเรื่องการขนส่ง เพราะต้องรับผิดชอบในการส่งสินค้าไปออกเอง โดยก่อนเริ่มธุรกิจได้ทำการศึกษาในขั้นตอนการขนส่งต่างๆ อีกทั้งมีเพื่อนและคนรู้จักที่ทำธุรกิจในส่วนนี้ ซึ่งแม้จะมีความพร้อมในระดับหนึ่งแต่ก็ต้องปัญหาในส่วนของการส่งสินค้าไม่ตรงเวลา ลูกค้าเกิดความไม่พอใจจนบางครั้งถึงกับปฏิเสธสินค้า ซึ่งต้องแก้ปัญหาด้วยการหาทางออกให้กับทุกฝ่าย ต่อรองกับลูกค้าให้เข้าใจว่าไม่มีนโยบายการคืนของหากไม่ได้เกิดความชำรุดเสียหาย อาจเป็นการส่งสินไปเพิ่มหรือจ่ายเงินชดเชยบางส่วนสำหรับเป็นค่าเสียเวลา โดยคุณนันทวัลย์ กล่าวว่า

“หากต้องการเน้นตลาดส่งออกการขนส่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ก่อนเริ่มธุรกิจต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ให้ดี และเมื่อจะส่งสินค้าต้องศึกษาบริษัทขนส่ง เลือกบริษัทที่มั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยในการดูแลสินค้า ส่งตรงตามระยะเวลาที่ตกลงกัน”

จะเริ่มธุรกิจต้องศึกษาให้รอบด้าน วัตถุดิบ กระบวนการผลิต และกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

เนื่องจากเป็นเอสเอ็มอีหน้าใหม่ คุณนันทวัลย์คิดว่าธุรกิจของตนเองนั้นยังต้องมีการพัฒนาไปอีกมาก มองว่าตัวแทนหลักในแต่ละประเทศที่มีอยู่อาจยังไม่เพียงพอ กำลังทำการศึกษาถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในเมืองต่างๆ แยกย่อยไปในแต่ละประเทศเพื่อในอนาคตจะได้มีการกระจายสินค้าออกไปให้ได้มากที่สุด ส่วนด้านผลิตภัณฑ์ ล่าสุดได้เพิ่มโปรดักต์ใหม่มาอีกหนึ่งชนิดคือครีมบำรุงผิวมะพร้าว และในอนาคตเตรียมพัฒนาไปในส่วนของเซรั่มและอาหารเสริม ต้องการเพิ่มความหลากหลายให้กับลูกค้า ด้วยสรรพคุณของมะพร้าวซึ่งเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อทั้งภายนอกและภายในร่างกาย สุดท้าย เจ้าของแบรนด์สาวได้ฝากคำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจไว้ด้วยว่า

“ในการจะเริ่มธุรกิจต้องศึกษาให้รอบด้าน เริ่มจากตัววัตถุดิบ กระบวนการผลิต กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ตลาดที่จะนำสินค้าเข้าจำหน่าย และถ้าหากเป็นในส่วนของการส่งออกก็จำเป็นจะต้องศึกษาเรื่องระบบโลจิสติกส์ ซึ่งทั้งหมดเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เมื่อถึงเวลาทำงานจริงจะได้ไม่เกิดปัญหา หรือเกิดน้อยที่สุดและมีแนวทางในการรับมือแก้ไข”

 

Tag :

Mostview

นวัตกรรมชีวเคมี นำแบคทีเรียสร้างเซลลูโลส ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

นักวิจัยจากจุฬาฯ สร้างนวัตกรรม ‘เซลลูโลส’ จากแบคทีเรีย ทดแทนการนำเข้านับหมื่นล้านบาท ช่วย เศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็น zero waste ภายใต้สิทธิบัตร ‘เซลโลกัม’

SOURCE Global บริษัทผู้ใช้แผงโซลาร์เซลล์เปลี่ยนอากาศให้กลายเป็นน้ำดื่ม แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ

ท่ามกลางอากาศที่แห้งแล้งในทะเลทรายของลาสเวกัส ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากกับการแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์รอบบริเวณที่มีอยู่ โดยทางตอนใต้ของเนวาดากำลังเผชิญภัยแล้งที่เลวร้ายที่ครั้งในประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกไว้ จนนำไปสู่การขาดแคลนน้ำ และข้อจำกัดในการใช้

Asahi เพิ่มการผลิตเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ ชูเป็นสินค้าหลัก หลังคนญี่ปุ่นดื่มเบียร์น้อยลง

Asahi แบรนด์ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมดันการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มากขึ้นกว่าเดิม หวังสร้างยอดขายในสัดส่วน 50% ภายในปี 2040

SmartSME Line