วันอังคาร, มีนาคม 19, 2567

ราคาน้ำมัน-อาหารสดดัน อัตราเงินเฟ้อ ขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน

by Smart SME, 16 พฤษภาคม 2561

อัตราเงินเฟ้อ ทั่วไปเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นไปที่ 1.07%YOY จาก 0.79%YOY ในเดือนมีนาคม ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปี 2018 อยู่ที่ 0.75%YOY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับขึ้นเล็กน้อยไปที่ 0.64%YOY จาก 0.63%YOY ในเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.62%YOY

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือนเป็นผลจากราคาน้ำมันและราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยเดือนเมษายนอยู่ที่ 71.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 35.0%YOY ส่งผลให้ดัชนีราคาพลังงานขยายตัว 4.7%YOY นอกจากนี้ ราคาอาหารสดกลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือนที่ 0.49%YOY นำโดยราคาผักสดเพิ่มขึ้น 6.8%YOY ราคาข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น 1.4%YOY อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารค่อนข้างทรงตัว เช่น ราคาหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าขยายตัวเพียง 0.11%YOY หมวดค่าเช่าที่พักอาศัยขยายตัวที่ 0.63%YOY หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลที่ 0.49%YOY เป็นต้น อีไอซียังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2018 อยู่ที่ 1.1%YOY โดยเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงที่เหลือของปีที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสำหรับบุหรี่และสุรายังคงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และยังต้องจับตาผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อต้นทุนการผลิตซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป นอกจากนี้ ต้องจับตาอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดที่อาจปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 หลังราคาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากฐานต่ำในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ผลของฐานต่ำของราคาน้ำมันและอาหารสดจะเริ่มหายไปในช่วงครึ่งหลังของปีและมีแนวโน้มทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากไตรมาส 2 อีไอซีมองว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยมีแนวโน้มทรงตัวที่ 0.6%YOY ในปี 2018 โดยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปอาจปรับขึ้นได้ยาก เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเห็นได้จากดัชนีการบริโภคสินค้าไม่คงทนขยายตัวต่ำเพียง 0.5%YOY ในช่วง 3 เดือนแรกของปี จากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้ภาคเกษตรยังลดลงจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนโดยเฉพาะราคายางพาราและราคาอ้อย อีไอซีมองว่าความอ่อนแอของกำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นแรงกดดันสำคัญต่อแนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐาน เนื่องจากตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยสะท้อนรูปแบบการใช้จ่ายของผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อยเป็นหลัก ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 1-4% แล้ว แต่ปัจจัยกดดันที่ยังมีอยู่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับมาหลุดกรอบได้ เช่น กำลังซื้อครัวเรือนที่ยังอ่อนแอ ผลผลิตทางการเกษตรที่อาจมีปริมาณออกสู่ตลาดจำนวนมากตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย เป็นต้น ทำให้อีไอซีมองว่าในกรณีฐานอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงที่ตลอดปี 2018 ที่ 1.5% อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการนโยบายการเงินมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงท้ายของปีนี้ได้เช่นกัน *** YOY : Year of Yeae การเทียบช่วงเดียวกันของปีนี้กับปีก่อนหน้า อ้างอิงจาก : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง 


Mostview

เพราะอะไรคนรวยถึงไม่พึ่งหวย นี่คือ 3 ข้อแตกต่างของเศรษฐีที่ทำไม่เหมือนคนทั่วไป

ในโลกนี้ ผู้คนล้วนมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต การทำงาน ตลอดจนการใช้เงินที่ไม่เหมือนกัน แต่เราเคยสงสัยพร้อมกับตั้งคำถามว่า บุคคลที่ร่ำรวย ประสบความสำเร็จ พวกเขามีวิธีการใช้จ่ายอย่างไรในแต่ละวัน

ประหยัดกันสุดๆ! ชาวอเมริกันหันมาทำสวน-ล่าสัตว์-หาส่วนลด สู้กับราคาข้าวของแพง

ชาวอเมริกันต้องใช้มาตรการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างความแน่ใจยังคงรับประทานอาหารได้ต่อไป ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ และราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

JASPAL ธุรกิจขายผ้าย่านพาหุรัดสู่แบรนด์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ รายได้กว่าพันล้าน

JASPAL อีกหนึ่งแบรนด์ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จในการทำกิจการ สร้างอาณาจักรเป็นผู้นำสินค้าแฟชั่นที่ทำรายได้กว่าหลายพันล้านบาท มีสาขาทั้งใน และนอกประเทศ

SmartSME Line