วันเสาร์, เมษายน 20, 2567

ความแปลกคือทางที่ใช่ ฟาร์มผักสุดติสต์ "จอน นอน ไร่" จึงบังเกิด

by Smart SME, 24 กรกฎาคม 2561

“..สไตล์การใช้ชีวิต คือเป็นการ Set มาตรฐานของตัวผมเอง เมื่อได้แบบที่ลงตัวผมจะ Keep ไว้ แล้วจะไม่ไปเปลี่ยนมันเพราะผมเลือกแล้ว...”

บทสนทนาเปิดเรื่องของการเริ่มต้นการพูดคุยกับผู้ชายสไตล์ติสต์ๆ ที่อาจจะเรียกได้ว่าเขาคือ ติสต์ตัวพ่ออีกคนหนึ่งของวงการเอเจนซี่โฆษณา ที่คลุกคลีในแวดวงและมีผลงานการผลิตโฆษณาชั้นนำหลายต่อหลายเรื่องมายาวนาน กว่า 30 ปี เรากำลังพูดถึงเจ้าของฟาร์มออร์แกนิค จอน นอน ไร่ ที่นิยามตัวเองว่าเป็นฟาร์มแบบเอเลี่ยนสไตล์  ถ้าไม่แปลก…ผมไม่ปลูก ด้วยไลฟ์สไตล์ที่ใช้ชีวิตท่ามกลางวิถีธรรมชาติแท้ๆ แบบที่น้อยคนนักจะเลือกทางนี้  อีกทั้งยังหันหลังจากจุดสูงสุดในอาชีพ MD บริษัทเอเจนซี่  มาเลือกทำสิ่งที่ใช่ ตรงตามความต้องการตัวเองมากกว่า

เริ่ม……..

ทำไม จอน ต้อง “นอนไร่” “….ย้อนไปไกลเลย เมื่อประมาณ 30 ที่ผ่านมา ผมเรียนด้านดีไซน์ จบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็เริ่มชีวิตทำงานด้านออกแบบ ทำโฆษณา บริษัทใหญ่ๆ ผมอยู่มาเกือบหมด ถ้าให้ยกตัวอย่างก็มี Matchbox, Leo burnett เป็นต้น ผมก็เป็นไปเรื่อยทั้ง กราฟิก ดีไซน์ ครีเอทีฟ อาร์ตไดเร็คเตอร์ ช่างภาพก็ยังเป็นเพราะผมชอบถ่ายภาพ งานศิลปะผมทำได้หมด แต่พอมาถึงจุดๆ หนึ่ง “ผมก็ไม่อยากทำมันซะดื้อๆ” ….จริงๆ มันมีสาเหตุ คือผมอยู่ในวงการโฆษณามา 30 ปี จนวันหนึ่ง เราก็มีหน้าที่ต้องรับงานบริหาร ในระดับ MD (Managing Director)  นี่แหล่ะที่เป็นจุดเปลี่ยน ผมค้นพบว่างานบริหารมันไม่ใช่ผม เพราะมันต้องบริหารจัดการ แต่ผมเป็นครีเอทีฟ แรกๆ ผมคิดว่าคำว่า Creative Design มันแก้ไขทุกอย่างได้หมด แต่นี่คือชีวิตจริง มุมมองของผมมันไม่ได้ เมื่อมันไม่ได้ ผมก็จะเป็นคนที่ชัดเจนมาก คือถ้าไม่ใช่ ก็เลิกเลย อะไรก็ตามบนโลกใบนี้ ถ้าสนุก…ผมทำ ถ้าไม่สนุก…ผมเลิก   จุดเปลี่ยน…… ….พอไม่ทำงาน ปรากฏว่า ผมมีเวลากับชีวิตมากขึ้น ผมมาเปิดบริษัทเล็กๆ ของตัวเอง ที่ไม่ต้องใช้การบริหารจัดการอะไรเยอะแยะ ผมสนุกกับมันจนลืมเวลา เพราะทุกอย่างเราทำมันได้หมดทั้ง Process ตั้งแต่ Advertising, Copywriter, ช่างภาพ ทำแบบง่ายๆ จนมาคิดได้ว่า นี่เราสนุกเกินไปหรือเปล่า คนเราควรมี Chapter ใหม่ๆ จนมาคิดได้ว่า ทุกอย่างมีจุกหักของมัน พอคิดได้ ผมทำเลย ไม่เสียเวลาลำพวย อย่างที่บอกว่าผม Set ไว้แล้ว คือแบบนี้ ผมวางหมุดไว้ 4 หมุด

หมุดที่ 1 คือการทำไร่ออร์แกนิค 100%

ช่วงแรกตั้งใจไว้ว่าต้องเป็นออร์แกนิคล้านเปอร์เซ็นต์  

หมุดที่ 2 ไม่แปลก...ไม่ปลูก

อันนี้เป็นหัวใจของไร่ เป็น Concept แต่ข้อแม้คือ ทำไร่ ต้องไม่เครียด ปลูกสิ่งที่คนชอบ เพราะถ้าไม่มีคนชอบก็จะไม่มีคนสั่ง ไม่มีคนสั่งก็จะเครียด ไม่มีออเดอร์ ก็ไม่มีผล ผมจะไม่ปลูกเพื่อแย่งตลาด แต่ชอบจะเขย่าตลาด

หมุดที่ 3 ไม่อร่อย ปาทิ้ง

ผมปลูกผักให้เพื่อนกิน ปลุกแบบใกล้ชิด ฉะนั้นต้องอร่อย มีผลไม้หลายอย่างที่ไม่อร่อย บางอย่างมีรสเปรี้ยวเช่นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่  เคพกูสเบอร์รี่ แต่จะปลูกยังไงให้มันหวาน ผมก็ต้องลองปลูกหาวิธีจนกว่ามันจะอร่อย ถ้ายังไม่อร่อยก็ปาทิ้ง  

 หมุดที่ 4 หวานเป็นลม ขมเป็นยา

ผมอยากทำยาให้อร่อย แปรรูปมันออกมาให้ช่วยรักษาด้วย รสชาติดีด้วย กระเจี๊ยบเขียว แก้โรคกระเพาะ ลำไส้ จิงจูฉ่าย รักษามะเร็ง คือต้องรู้ว่ากินแล้วรักษาอะไรได้ด้วย พออร่อยก็ต้องรู้ว่าอร่อย....แล้วได้อะไร? อย่างที่ผมทำน้ำปั่นเชียงดา / Passion Fruit เชียงดา เน้นปลูกเป็นผักที่ทำอาหารแล้วอร่อย ผมนิยามรูปแบบของผมว่าเป็น Foodcraft  อย่างผมปลูกแครอท ปลูกมัน 5 สี พอเอามาย่างหรือกริลล์ มันจะสวย

4 หมุดนี้ผมตั้งธงแล้ว ไม่คุยแล้ว ไม่เปลี่ยนแล้ว....

วิถีชาวไร่ ต้นไม้ และแปลงผัก….. อาชีพปลูกผัก เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ เพราะจากที่ผมทำบริษัทเล็กๆ มันทำให้เราออกแบบชีวิตได้ เราก็ออกเดินทาง ไปเที่ยว ไปถ่ายรูป เพราะผมมีความสุขเวลาที่ได้ถ่ายรูป ผมเริ่มดีไซน์แผนผังการเดินทางถ่ายรูปของตัวเอง ผมไปเรื่อยๆ เพราะตั้งใจจะไปให้ครบ 76 จังหวัด พอไปได้ถึงจังหวัดที่ 72 นี่แหล่ะที่ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยน ผมได้ตื่นตี 5 มาเห็นความงดงามของธรรมชาติ บางอย่างเราไม่เคยเห็น เป็นวิถี เป็น Citylife อีกแบบหนึ่งเลย ได้เดินตลาดเช้า มันสนุก ผมชอบความสนุก ได้เห็นไร่นาของชาวบ้าน เห็นคนปลูกต้นไม้ เป็นการค้นพบ (Discover) ที่เราไม่รู้ตัวเลย มันทำให้เราเข้าถึง รู้จักตัวเอง

วิถีออร์แกนิค…..

ผมเป็นคนช่างสังเกต ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ …ผมไม่ชอบอะไรก็ตามที่เป็นสารเคมี แต่ผมจะเข้าไปดูฝั่งที่ใช้สารเคมี กับฝั่งที่ไม่ใช้ แล้วเอาผลที่ได้มาเปรียบเทียบกัน เก็บข้อมูล ศึกษามัน ผมคิดว่า ผมเป็นนักทดลอง ไม่ใช่เกษตรกร เพราะผมจะลองทำทุกอย่างให้เหมือนงานทดลอง ถ้าผมได้คำตอบ เมื่อรู้คำตอบผมจะแหกกฎของมัน ผมตั้งคำถามกับทุกๆ สิ่งตามทฤษฎี Who, What,  When, where, why ทำให้เป็นระบบ เป็นกระบวนการ แล้วเอาระบบที่คิดมาทำ ของที่ผมปลูก ต้องแปลก ไม่แปลกผมไม่ทำ อ่อ แต่มีสิ่งที่ผมปลูกซ้ำกับของที่มีในตลาดอยู่แล้วเหมือนกันนะ  คือ กะหล่ำปลี กับมะเขือเทศ เพราะผมจะปลูกสิ่งที่ผมชอบกิน ถ้าเราชอบมันจะมีแรงขับ ไม่สนใจเรื่องอื่นๆ เชื่อไหมว่า ตามท้องตลาดหรือที่ขายในห้างก็ตาม 95% ใช้สารเคมี โดยเฉพาะ กะหล่ำปลี สูงมาก ผมเลยปลูกมันขึ้นมาแบบ “ออร์แกนิค” ประเทศเรา มีจุดอ่อนอย่างหนึ่งที่ผมเชื่อคือ เราไม่สอนให้คนตั้งคำถาม แต่จะเป็นการ ว่าตามกัน ผลเสียคือ เราไม่มีคำถามใหม่ๆ เกิดขึ้น คำว่า ออร์แกนิค แปลว่า วิธีการ นักวิจัยไม่ผิดที่คิดค้นสูตรใดๆ ก็ตามขึ้นมามากมาย แต่จริงๆ มันมีรากฐานมาจากที่เดียวกัน

ขาย อยู่ได้ พอเพียง

การตลาดในแบบของผม คือ ฟาร์มมิ่ง (Farming) + มาร์เก็ตติ้ง (Marketing) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ท่านทรงสอนเราเป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว นั่นคือเศรษฐกิจพอเพียง ผมทำ เท่าที่ผมควบคุมมันได้ ถ้าเราควบคุมไม่ได้ เราจะขยายต่อไม่ได้ ผมมีแปลงผัก 1 ไร่ ที่จังหวัดนครราชสีมา ตอนนี้จาก 1 ไร่ ผมมีเพิ่มเป็น 5 ไร่ แต่ไม่ได้แปลว่าผมต้องปลูกผักครบทั้ง 5 ไร่ “ผมแค่ปลูกผักให้เพื่อนกิน” ผมมีเฟซบุ๊ก ผมจะโพสต์ว่า “ใครจะกินผักอะไร” ผมก็จะปลูกอันนั้น แค่นั้น วิธีคิดของผมคือ ทุกคนคือเพื่อนกัน

Concept ไม่แปลก…ไม่ปลูก

ผมปลูกผักกาดขาวญี่ปุ่น ผมชอบอาหารญี่ปุ่น เป็นสายพันธุ์ที่อร่อย พออร่อย Value (มูลค่า) ผมไม่ต้องการให้มันมีจนล้น …แปลงผักผมต้องสวย เพราะผมเป็นดีไซเนอร์ ไร่จอน นอน ไร่ ต้องวาไรตี้ ต้องสีสวยงาม ที่สำคัญคือไร่ของผมช่วยให้คนไม่ต้องกินสารเคมี มีร้านอาหารฝรั่งมาติดต่อขอซื้อผัก ผมบอกเค้าว่า “คุณต้องไม่ถามว่า ผมมีผักอะไร แต่คุณต้องบอกผมมาว่าคุณจะเอาผักอะไร” แล้วผมจะปลูกให้ ปัจจุบัน คนสนใจมาดูแปลกผักที่ไร่ของผม ผมไม่เชื่อว่าเค้ามาดูแปลงผักธรรมดา เค้ามาดูของแปลก อย่างมะเขือเทศเชอรี่ญี่ปุ่น ของแปลกๆ ผักแปลกๆ ในไร่ มาด้วยความตื่นเต้น  ตอนนี้ Main Business คือ กะหล่ำปลี กับ มะเขือเทศ แล้วเราก็เริ่มเอามาแปรรูปเป็นแบรนด์จอน นอน ไร่ เราทำน้ำพริกกระป๋อง ทำกิมจิจากผัดกาด หัวไชเท้าที่เราปลูกเอง “เอาไอเดียมาไดร์ฟธุรกิจ”

Food  Maker

ผมไม่ใช่เชฟ แต่เป็น Food  Maker หรือ ผู้สร้างอาหาร ปลูกผักอย่าสักแต่ว่าทำ แต่ต้องดูปัจจัยความเป็นไปได้ ต้องมีความรู้ในสิ่งที่ตัวเองทำ อย่าตกเป็นทาสของระบบ ทำผักให้เป็นเมนูอร่อย อย่าง ผัก จิงจูฉ่าย ผมเรียกมันว่า คิงส์ จู ฉ่าย แล้วใส่ดีไซน์ให้มันกลายเป็น 5 เมนู เช่น ต้มเลือดหมู, ผัดน้ำมันมะกอก, กินสดคู่กับลาบ, เด็ดแต่ใบทอดกับไข่ เอามาปั่น นี่เป็นตัวอย่างของการครีเอทอาหารจากผัก 1 ชนิด ทิ้งท้าย….

ผมใช้วิถีที่เคยทำงานโฆษณา มาอยู่ในวิถีที่เป็นออร์แกนิค อะไรที่โลกชอบแล้วเราชอบ มันจะสนุก เพราะถ้าไม่สนุก ผมเลิก......

Special Thanks : คุณเสกสรรค์ อุ่นจิตติ Food Maker, เจ้าของไร่ FB :  จอน นอน ไร่


Mostview

นวัตกรรมชีวเคมี นำแบคทีเรียสร้างเซลลูโลส ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

นักวิจัยจากจุฬาฯ สร้างนวัตกรรม ‘เซลลูโลส’ จากแบคทีเรีย ทดแทนการนำเข้านับหมื่นล้านบาท ช่วย เศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็น zero waste ภายใต้สิทธิบัตร ‘เซลโลกัม’

SOURCE Global บริษัทผู้ใช้แผงโซลาร์เซลล์เปลี่ยนอากาศให้กลายเป็นน้ำดื่ม แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ

ท่ามกลางอากาศที่แห้งแล้งในทะเลทรายของลาสเวกัส ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากกับการแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์รอบบริเวณที่มีอยู่ โดยทางตอนใต้ของเนวาดากำลังเผชิญภัยแล้งที่เลวร้ายที่ครั้งในประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกไว้ จนนำไปสู่การขาดแคลนน้ำ และข้อจำกัดในการใช้

Asahi เพิ่มการผลิตเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ ชูเป็นสินค้าหลัก หลังคนญี่ปุ่นดื่มเบียร์น้อยลง

Asahi แบรนด์ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมดันการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มากขึ้นกว่าเดิม หวังสร้างยอดขายในสัดส่วน 50% ภายในปี 2040

SmartSME Line