วันศุกร์, เมษายน 19, 2567

ไทยพาณิชย์ ร่วมกับ MyCloudFulfillment จัดเต็มพาเหล่าเจ้าของธุรกิจแฟชั่นชั้นนำเปิดประสบการณ์ขายออนไลน์

by Smart SME, 7 สิงหาคม 2561

ธนาคารไทยพาณิชย์พลิกวงการแบงค์ และการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SME โดยคราวนี้ได้ร่วมมือกับ MyCloudFulfillment จัดงาน “ธุรกิจเหนือเมฆสายแฟ(ชั่น)” สร้างคอมมูนิตี้สำหรับคนทำธุรกิจออนไลน์ ไม่เพียงเท่านั้นยังเชิญเหล่าเซเลบริตี้เจ้าของธุรกิจแฟชั่นชั้นนำของประเทศไทย มานั่งเล่าประสบการณ์ พร้อมเผยกลยุทธ์การทำธุรกิจให้เติบโตทั้งแบบมีหน้าร้าน และแบบออนไลน์ให้กับผู้เข้าร่วมฟัง คุณอรุณี บุญเกิด ผู้อำนวยการ SME Value Partner สาย SME Ecosystem and Business Solution ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวเริ่มงานว่า โปรเจคต์นี้เราได้คุยกับ MyCloudFulfillment มาสักพัก โดยมีความประสงค์อยากให้ความรู้กับลูกค้าที่ทำธุรกิจ และอยากต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตยิ่งขึ้น โดย SCB SME ตระหนักดีว่าการเพิ่มยอดขาย และลดต้นทุนจะทำให้ลูกค้าสามารถต่อยอดธุรกิจได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อีกทั้งพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็น มีการหาข้อมูลผ่าน Google, ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต จึงทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีการพัฒนา SCB Easy app ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ SME ต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน “SCB ไม่อยากเป็นแค่ธนาคารเงินฝาก และปล่อยสินเชื่ออย่างเดียว แต่อยากจะพัฒนา SME ให้เพิ่มยอดขาย มีการบริหารจัดการในเรื่องต้นทุนการทำธุรกิจ ซึ่งเรามีพาร์ทเนอร์สำหรับให้ลูกค้าสามารถทำธุรกิจออนไลน์ได้อย่างสบายใจ ไม่ว่าจะเป็น MyCloudFulfillment, Readyplanet, Fastwork, AccRevo ที่ตอบโจทย์แบบครบวงจร” คุณอรุณี กล่าวทิ้งท้าย ธนาคารไทยพาณิชย์ยังมีแพลตฟอร์มที่สนับสนุนลูกค้า ได้แก่ ศูนย์ Business center, การทำแอปพลิเคชันไกด์ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่อยากเข้าสู่ออนไลน์ เช่น จตุจักรไกด์ รัตนโกสินทร์ไกด์ ที่จะเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ และล่าสุดมีการทำโค-พาร์ทเนอร์กับกูเกิล ไทยแลนด์ ที่พึ่งเปิดตัวไป โดยมีบริการปักหมุดให้กับร้านค้าแบบเรียลไทม์ ด้านคุณนิธิ สัจจทิพวรรณ กรรมการผู้จัดการ MyCloudFulfillment กล่าวว่า จากข้อมูลของ ETDA มูลค่าอีคอมเมิร์ซของไทยอยู่ที่ 2.8 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตประมาณ 8% ทุกๆ ปี ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน โดยประเทศไทยมีศักยภาพสำหรับการขายของออนไลน์ได้อีกดูได้จากการซื้อของผ่านอีคอมเมิร์ซ คิดเป็น 4% ส่วนอีก 96% ยังเป็นการซื้อแบบออฟไลน์ ฉะนั้นอัตราที่ขยายขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีตลาดกว้างขึ้นเรื่อยๆ แม้ตลาดอีคอมเมิร์ซจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่เชื่อหรือไม่ว่าไม่ได้เป็นของคุณทุกคน แต่เป็นของยักษ์ใหญ่อย่าง  Alibaba, Amazon, Tencent และ JD.com ต่างหาก “อีคอมเมิร์ซเติบโตก็จริง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ โดยเราเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ในตลาดเท่านั้น ซึ่งเราคนเดียวไม่สามารถต่อกรกับบริษัทยิ่งใหญ่เหล่านี้ เราสู้ไม่ได้แน่ ๆ ไม่เพียงเท่านั้นเทรนด์อนาคตอีก 5 ปีข้างหน้ามือถือจะหายไป คน Gen C จะครองโลกเพราะพวกเขามีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี และอนาคตการซื้อขายจะไม่ใช่คนอีกต่อไป แต่จะเป็นเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ฉะนั้นผู้ประกอบการควรจะรู้ว่า AI คืออะไร, Voice Shopping คืออะไร, Big Data คืออะไร ทุก ๆ อย่างเหล่านี้แม้ฟังอาจจะดูไกลตัวเรา แต่ SME ก็ควรจะตามให้ทัน” คุณนิธิ กล่าวต่อว่า มาถึงตรงนี้เราควรมานั่งคิดว่า จะทำอย่างไรให้อยู่รอดในโลกธุรกิจแบบนี้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดเราต้องรู้วันแรกที่ตั้งต้น ต้องรู้ว่าวางเป้าหมายไว้อย่างไร รวมถึงสำคัญที่การสร้างตัวตน และการวางรากฐาน ถ้า SME มีการคุยกัน ศึกษากัน แชร์ประสบการณ์ระหว่างกัน สร้างตลาดด้วยกัน เชื่อเลยว่าทุกคนสามารถอยู่ได้ ซึ่งยักษ์ใหญ่ในตลาดอีคอมเมิร์ซที่กล่าวมานั้น จะช่วยอุ้มชูพาเราไปอยู่ในจุดที่มุ่งหวังไว้ได้ หลังจากนั้นเป็นการพูดคุยกับ 3 เจ้าของแบรนด์ธุรกิจแฟชั่นชั้นนำของประเทศไทย ที่มาเปิดเผยกลยุทธ์การทำธุรกิจให้กับผู้ร่วมงานได้รับฟังกัน คุณสุภัทรา เวโรจน์เสนีวงศ์ และ คุณฉายนันท์ มโนมัยสันติภาพ เจ้าของแบรนด์ Mave Shoes กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจว่า เกิดจากความชอบของเราทั้งสองคน ที่ชอบใส่รองเท้าแบบเรียบๆ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่เจอรองเท้าแบบที่ถูกใจ เลยตัดสินใจทำธุรกิจรองเท้า หลังจากนั้นค่อยเติบโต มีการเรียนรู้ พัฒนาผลิตภัณฑ์เรื่อยมา โดยแนวคิดหลักของแบรนด์ คืออยากทำรองเท้าที่ดี มีคุณภาพให้กับลูกค้า เหล่านี้คือความสุขของเราที่ทำสินค้าดีๆ ให้กับลูกค้า และเราก็เชื่อว่าลูกค้าก็จะมีความสุขจากสิ่งที่ได้รับไปเช่นกัน “การดีไซน์ที่จะทำให้คนมาสนใจสินค้า อย่างแรกต้องสวย ใส่แล้วสบาย ซึ่งได้ใช้เวลานานพอสมควรในการทดลอง ทั้งสวมใส่เอง หรือให้ลูกค้าทดลองว่าเป็นอย่างไร” เจ้าของแบรนด์ Mave Shoes ยังกล่าวต่อว่า การทำการตลาดของแบรนด์จะเน้นไปที่อินสตาแกรมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการทำ IG Story ที่ดึงดูดให้คนมาสนใจสินค้าได้ ส่วนเฟซบุ๊กนั้นจะให้ความสำคัญรองลงมา ด้วยการนำเสนอคลิปวิดีโอที่ไม่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าขายของมากจนเกินไป นอกจากนี้การขายสินค้าแฟชั่นจำเป็นต้องใช้ช่องทางทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมในเรื่องการขายระหว่างกัน ต่อมา คุณพิมพิศา จิราธิวัฒน์ เจ้าของแบรนด์ Girlsnation กล่าวว่าส่วนตัวเป็นคนชอบขายของ และมีความชอบในการออกกำลังกาย ซึ่งเรามองว่าตรงนี้เป็นช่องว่างของตลาดที่จะทำธุรกิจให้เติบโตขึ้นได้ เพราะขณะนั้นแบรนด์ไทยยังมีคนทำไม่เยอะ สำหรับหลักการทำธุรกิจนั้น ส่วนตัวเป็นคนคิดแบรนด์ดิ้งอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่อง Mood &Tone ,วัสดุที่นำมาผลิต และทุกอย่างต้องคิดมาให้จบตั้งแต่แรก ภายใต้แนวคิดที่วางเอาไว้ เหล่านี้จะทำให้แบรนด์เราชัดขึ้น “ส่วนการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์จะมีพื้นฐานมาจากความชอบส่วนตัว เพราะเป็นคนชอบเล่นกีฬา ดังนั้นจึงรู้ว่าผู้หญิงมีความต้องการอะไรเวลาไปออกกำลังกาย เช่น ใส่แล้วหุ่นต้องดี และคนไทยชอบใส่เอวสูง รวมถึงคนออกกำลังกายแต่ละประเภทก็จะมีความชอบต่างกัน เช่น คนเล่นโยคะก็จะไม่ชอบเสื้อที่มีลักษณะคว้านลึก เพราะต้องก้มเวลาเล่น อีกทั้งในเวลาขายของตนจะเป็นคนคุยกับลูกค้าผ่าน Line@ ซึ่งจะเป็นอีกเคล็ดลับที่จะทำให้รู้ว่าลูกค้าต้องการแบบไหน” เจ้าของแบรนด์ Girlsnation ยังกล่าวต่อว่าในเรื่องการทำการตลาดตนให้ความสำคัญกับการทำโปรโมชั่นผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่าออฟไลน์ ซึ่งแต่ละช่องทางจะมีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป โดยเฟซบุ๊กจะเป็นกลุ่มคนมีอายุ ส่วนอินสตาแกรมจะเป็นเด็ก และเพิ่มความน่าสนใจด้วยการทำคอนเทนต์ มาร์เก็ตติ้ง เกี่ยวกับการออกกำลังกาย ปิดท้ายด้วยคุณวนิดา ประภารัตน์ เจ้าของแบรนด์ Hamburger Studio กล่าวว่า ตนได้เปิดร้านขายส่งเสื้อผ้าครั้งแรกเมื่อ 8 ปีที่แล้ว แต่พอทำมาได้ 4 ปี มีความรู้สึกว่าไม่สนุกกับการทำงาน โดยเฉพาะในเรื่องค่าเช่าพื้นที่ที่มีราคาค่อนข้างสูง เหมือนทำงานหาค่าเช่า ขณะเดียวกันช่องทางออนไลน์กำลังเข้ามามีบทบาท จึงมีความคิดอยากทำแบรนด์ผ่านตลาดออนไลน์ เลยตัดสินใจปิดร้านบางส่วนมาทำแบรนด์ Hamburger อย่างจริงจัง “ตั้งแต่วันแรกที่ทำ เรามองตัวตนของแบรนด์อย่างชัดเจน ว่าแบรนด์เราคือใคร และเมื่อทุกอย่างชัดเจน ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้เรื่อย โดยธุรกิจแฟชั่นเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ ทุกอย่างต้องออกมาสวย มีความทันสมัย” เจ้าของแบรนด์ Hamburger Studio เล่าถึงการทำการตลาดว่าจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับงบประมาณ คือเมื่อมีงบประมาณเท่านี้ สิ่งที่ได้รับกลับมาจะมีอะไรบ้าง เช่นเดียวกับช่องทางการจำหน่ายสินค้าจำเป็นต้องมีช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์ควบคู่กันไป เพราะลูกค้ายังมีความต้องการที่อยากจะลองสินค้าก่อนการตัดสินใจซื้อ สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์สายอื่นๆ ที่กำลังใจจดใจจ่อกับการเข้าร่วมงาน “ธุรกิจเหนือเมฆ” สามารถติดตามข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับงานได้ที่ @SCB Thailand, @SCB SME Community  และ @MyCloudFulfillment  อีกทั้ง ผู้ประกอบการ SME สามารถสอบถามรายละเอียดของข้อเสนอสุดพิเศษจากทุกพาร์ทเนอร์ของ SCB SME ที่เตรียมมามอบให้ได้ที่ SCB Business Center ทุกสาขาอีกด้วย

Mostview

นวัตกรรมชีวเคมี นำแบคทีเรียสร้างเซลลูโลส ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

นักวิจัยจากจุฬาฯ สร้างนวัตกรรม ‘เซลลูโลส’ จากแบคทีเรีย ทดแทนการนำเข้านับหมื่นล้านบาท ช่วย เศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็น zero waste ภายใต้สิทธิบัตร ‘เซลโลกัม’

สรุปเงื่อนไขเงินดิจิทัล 10,000 บาท นโยบายเรือธงกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินต่อ

อีกหนึ่งนโยบายเรือธงของรัฐบาลที่กลายเป็นที่จดจำของประชาชนในช่วงเลือกตั้งหาเสียงคงหนีไม่พ้นเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่าสุดท้ายแล้วจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

SOURCE Global บริษัทผู้ใช้แผงโซลาร์เซลล์เปลี่ยนอากาศให้กลายเป็นน้ำดื่ม แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ

ท่ามกลางอากาศที่แห้งแล้งในทะเลทรายของลาสเวกัส ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากกับการแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์รอบบริเวณที่มีอยู่ โดยทางตอนใต้ของเนวาดากำลังเผชิญภัยแล้งที่เลวร้ายที่ครั้งในประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกไว้ จนนำไปสู่การขาดแคลนน้ำ และข้อจำกัดในการใช้

Asahi เพิ่มการผลิตเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ ชูเป็นสินค้าหลัก หลังคนญี่ปุ่นดื่มเบียร์น้อยลง

Asahi แบรนด์ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมดันการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มากขึ้นกว่าเดิม หวังสร้างยอดขายในสัดส่วน 50% ภายในปี 2040

SmartSME Line