วันศุกร์, เมษายน 26, 2567

ธพว. ออก 3 สินเชื่อ ดอกเบี้ยพิเศษเติมทุนเสริมสภาพคล่อง SME

by Smart SME, 26 ตุลาคม 2561

ธพว. ออกแพ็กเกจ 3 สินเชื่อ ดอกเบี้ยพิเศษ เติมทุนเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ SME พร้อมรับออเดอร์ลูกค้าช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ชูตอบความต้องการครอบคลุมทุกกลุ่ม บริการฉับไว ยื่นกู้สะดวกผ่านแพลตฟอร์ม SME D Bank รู้ผลอนุมัติใน 7 วัน
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เผยว่า ในช่วงปลายปี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามาจำนวนมาก ดังนั้น ธนาคารได้ออก 3 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ เพื่อเติมทุนช่วยให้ธุรกิจไม่สะดุด สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการของลูกค้า โดยครอบคลุมทุกกลุ่มผู้ประกอบการทั่วประเทศ ได้แก่

1.สินเชื่อเติมทุนหนุนคุณภาพธุรกิจ วงเงินรวม 1,000 ล้านบาท สำหรับลูกค้าเดิมของธนาคารในทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อเสริมสภาพคล่องเป็นเงินทุนหมุนเวียน ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการให้เติบโตยิ่งขึ้น วงเงินกู้สูงสุด 1 ล้านบาทต่อรายสำหรับลูกหนี้ชั้นดีที่ไม่เคยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ (DR) และไม่เคยปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR -0.5 ต่อปี และสำหรับลูกหนี้ที่เคยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ (DR) และ/หรือเคยปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR ต่อปี

2.สินเชื่อโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) สนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับเงินทุนดอกเบี้ยต่ำพิเศษ นำไปเป็นทุนหมุนเวียนฟื้นฟูธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ อันจะนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ให้แข็งแกร่งเจริญเติบโตเทียบเท่ากับภูมิภาคอื่นๆ

โดยขยายวงเงินสินเชื่อ จากเดิมสูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย เพิ่มเป็นสูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินกู้ 5 – 10 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคล ในกลุ่ม 10S-Curves และวงเงินกู้ 10 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับนิติบุคคลในกลุ่ม 10S-Curves และธุรกิจเกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ( อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส , อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี คิดอัตราร้อยละ1.5 ต่อปี ปลอดชำระคืนเงินต้น 12 เดือนแรก

3.โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน วงเงินรวม 1,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เพื่อมีเงินทุนไปใช้หมุนเวียนในกิจการ เสริมสภาพคล่อง และเพิ่มแรงงาน

โดยธุรกิจที่มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คน ให้วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ผู้ประกอบการที่มีการจ้างงานตั้งแต่ 51 คนถึง 200 คน ให้วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย และ ธุรกิจที่มีการจ้างงานเกิน 200 คน ให้วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคาร เช่น กรณีมีหลักประกันตามเกณฑ์ปกติของธนาคาร ปีที่ 1 – 3คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ปีที่ 4 – 7 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR+0.5 ต่อปี และกรณีใช้ บสย.ค้ำประกันเต็ม ปีที่ 1 – 3 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ปีที่ 4 – 7 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR+2.0 ต่อปี เป็นต้น

ทั้ง 3 สินเชื่อ รวมกับสินเชื่อที่ธนาคารมีอยู่แล้ว เช่น สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว สำหรับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ย 3% คงที่ 3 ปีแรก ผ่อนนาน 7 ปี และ สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 จากกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 1% คงที่ตลอดระยะเวลา 7 ปี

เชื่อว่าจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มมีทางเลือกเข้าถึงแหล่งทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง สามารถนำไปเสริมสภาพคล่อง ลงทุนขยายกิจการ หรือเพิ่มการจ้างงานได้ ช่วยให้การผลิตสินค้าทันต่อออเดอร์ของลูกค้าที่จะเข้ามาจำนวนมากช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

นอกจากนี้ ธพว. อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ผ่านบริการแพลตฟอร์ม SME D Bank ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันยื่นกู้ผ่านออนไลน์ทำงานควบคู่กับหน่วยบริการเคลื่อนที่ “รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEs ไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น”

เมื่อผู้ประกอบการยื่นกู้ผ่านออนไลน์ ข้อมูลจะส่งมายังฐานข้อมูลทันที และภายใน 3 วัน เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ เพื่อนัดหมายให้หน่วยรถม้าเติมทุนฯ วิ่งเข้าไปพบ เพื่อดูข้อมูลเชิงประจักษ์การดำเนินธุรกิจจริง สามารถพิจารณาสินเชื่อได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันผู้ประกอบการรู้ผลการอนุมัติได้ใน 7 วันขจัดข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ไปอย่างหมดสิ้น

Tag :

Mostview

หนุ่มอายุ 25 ปี ใช้ AI สร้างรายได้เกือบ 2 ล้านบาท ใช้เวลาแค่ 2 เดือน

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ถูกพูดถึงอย่างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่ามา และคาดการณ์ว่าจะเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจต่อไปในวันข้างหน้า

เปิดธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ หากเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เริ่มใช้งาน

ผลสำรวจบอกผู้มีสิทธิ์ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต จะเลือกใช้จ่ายร้านค้าท้องถิ่น 40% รองลงมาเป็นร้านสะดวกซื้อ เช่น CJ, 7-Eleven 26%

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาแรง คนไทยซื้อผ่านแพลตฟอร์ม 67% คาดมูลค่าปี 2567 แตะ 7 แสนล้านบาท

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาแรงต่อเนื่อง โตแบบฉุดไม่อยู่ ปี 2566 มีมูลค่า 6.34 แสนล้านบาท คาดการณ์ปี 2567 มูลค่าแตะ 7 แสนล้านบาท และปี 2568 มูลค่าทะลุ 7.5 แสนล้านบาท

SmartSME Line