วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2567

ซีพี ออลล์ หนุนเกษตรกรน่านปลูกกาแฟ ตัดระบบพ่อค้าคนกลาง ให้ราคาสูงกว่าตลาด 10%

by Phawanthaksa, 27 พฤศจิกายน 2561

หากพูดถึงความนิยมดื่มกาแฟในบ้านเรา ย้อนไปเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา คนไทย 1 คน มีอัตราการดื่มกาแฟเฉลี่ยเพียง 20 แก้วต่อปีเท่านั้น แต่ด้วยรสนิยมความชอบส่วนบุคคล บวกกับกระแสนิยม จึงทำให้การบริโภคกาแฟของคนไทยสูงขึ้นเป็นปีละ 200 แก้วต่อคน ในปี 2559 และเพิ่มขึ้นปีละ 220 แก้วต่อคนในปี 2560 ซึ่งค่าเฉลี่ยนี้ยังนับว่าน้อย หากเทียบกับสหรัฐฯ ที่มีอัตราเฉลี่ยสูงถึง 1,000 แก้วต่อคนต่อปี

ความต้องการบริโภคกาแฟที่มากขึ้นนี้ สะท้อนถึงช่องว่างของโอกาส เพราะเราผลิตกาแฟคุณภาพดี ในราคาจับต้องได้ ซึ่งซีพี ออลล์ ก็พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการสร้างป่าสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์, รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด กล่าว

ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล

ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล

ดร.นริศ กล่าวต่อว่า ซีพี ออลล์ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟมานานแล้ว โดยในปี 2556 ได้รับเชิญจากหน่วยงานรัฐหลาย ให้มามอบความรู้และสนับสนุนการปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจทดแทนพืชตระกูลข้าวโพด ในพื้นที่หมู่บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่ฐานะยากจน ซึ่งกาแฟเป็นพืชยืนต้น ใช้เวลาปลูก 3 ปีก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นและอากาศปลอดโปร่งปราศจากหมอกควัน

แต่ปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่คือ เมื่อเริ่มต้นผลิตแล้ว จะมาจบตรงที่ ‘จะขายใคร’ ทำให้เกษตรกรไปต่อไม่ได้ และป่าก็ขยายต่อไม่ได้ ฉะนั้น เราต้องการสนับสนุนให้คนในชุมชนมีรายได้และหวงแหนป่าไม้ เกิดความยั่งยืนในผืนป่า จากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐฯและซีพี ออลล์ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้ก็ทำให้เกิดไม้กาแฟยืนต้นหลายพันไร่ในจังหวัดน่าน

ซีพี ออลล์ ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ ยกระดับชีวิตคนในชุมชน

  • ในการดำเนินงาน กรมป่าไม้ จะเป็นผู้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกให้ ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่เป็นการรุกล้ำป่า
  • จากนั้น สำนักงานพัฒนาที่ดิน จะเข้ามาช่วยปรับปรุงดินที่เสื่อมโทรมจากการปลูกข้าวโพด ให้พร้อมต่อการเพาะปลูกต้นกาแฟ
  • กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาช่วยจัดหาสายพันธ์กาแฟที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก โดยเป็นกาแฟพันธ์เชียงใหม่ 80 ซึ่งเป็นสายพันธ์อาราบิก้าที่เหมาะต่อการเพาะปลูกในพื้นที่ภูเขา และเป็นพันธุ์กาแฟที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เพราะมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์
  • โดย กรมส่งเสริมการเกษตร จะเข้ามาให้คำแนะนำด้านการเพาะปลูก พร้อมได้ให้ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รับหน้าที่เป็นผู้คอยติดตามดูแล และให้ความรู้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
  • กระบวนการสุดท้ายคือ ซีพี ออลล์ จะทำหน้าที่เป็นผู้รับซื้อ ซึ่ง ซีพี ออลล์ มองเห็นแล้วว่าเป็นโครงการที่ดี จึงได้สนับสนุนด้านการตลาด การให้คำปรึกษาแนะนำ ถึงคุณภาพและมาตรฐานของเมล็ดกาแฟที่ตลาดต้องการ พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ และเทคโนโลยี Honey Process กระบวนการแปรสภาพจากผลเชอรี่ ออกมาเป็นเมล็ดกาแฟพร้อมคั่ว โดยนำผลกาแฟสุกมาปอกเปลือกด้วยเครื่องสี กำจัดเมือกด้วยการตากให้แห้ง ในโรงตากที่มีพลาสติกคลุมเพื่อรักษาความสะอาด ทำให้ได้ราคาเพิ่มขึ้นกว่าการขายเมล็ดกาแฟสุก หรือที่เรียกกันว่าผลเชอรี่

ตัดระบบพ่อค้าคนกลาง ดันขยายสาขา รองรับผลผลิต

ช่วงแรกเริ่ม ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ปี 2558 มีผลผลิตเพียง 700 กิโลกรัมเท่านั้น เนื่องจากคนในท้องถิ่นยังไม่มั่นใจมากนัก ต่อมาปี 2559 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,300 กิโลกรัม เพราะคนในชุมชนมองเห็นแล้วว่ามีการซื้อขายกันอย่างรวดเร็วและได้ราคาดี จนล่าสุดปี 2560 ผลผลิตได้พุ่งสูงถึง 15,000 กิโลกรัมบนพื้นที่เพาะปลูกกว่า 1,700 ไร่ และคาดว่ายอดผลผลิตรวมทั้งปี 2561 จะเพิ่มขึ้นกว่า 30,000 – 40,000 กิโลกรัม

ซีพี ออลล์ ยืนยันว่าจะให้ราคาดีกว่าท้องตลาดถึง 10% และสามารถซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรได้เพิ่มสูงขึ้นตามผลผลิต เนื่องจากซีพี ออลล์ มีร้านกาแฟมวลชนและแบรนด์กาแฟสด all cafe' ในเซเว่นฯ ซึ่งหากตัดระบบพ่อค้าคนกลางออกไป เป็นการซื้อโดยตรงจากเกษตรกร ก็จะทำให้ช่วยลดต้นทุนในระบบของพ่อค้าคนกลางไปได้ถึง 15% ส่วนอีก 5% ที่เหลือนั้น ซีพี ออลล์ จะนำไปเป็นทุนสนับสนุนเกษตรกร รวมถึงนำไปเป็นค่าบริหารจัดการด้านต่างๆ ที่สำคัญทางซีพี ออลล์ ไม่ได้ผูกขาดการค้าแต่อย่างใด เพราะหากเกษตรกรต้องการขายกาแฟให้พ่อค้ารายอื่นก็สามารถทำได้ พร้อมกันนั้น ซีพี ออลล์ ยังมีแผนขยายร้านกาแฟเพิ่ม เพื่อรองรับผลผลิตที่ออกมาไม่ให้ล้นตลาด

นายธนวัฒน์ จามะรัตน์

นายธนวัฒน์ จามะรัตน์

เกษตรกรปลื้ม เพาะปลูกง่าย รายได้เข้าชุมชน เติมเต็มคุณภาพชีวิต

นายธนวัฒน์ จามะรัตน์ ผู้นำชุมชน และเกษตรกรคนแรกที่เข้าร่วมโครงการปลูกกาแฟ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ก็ได้แค่เก็บไว้กินเอง เพราะปลูกบนภูเขา ไม่เหมือนกับปลูกบนที่ราบ แต่หลังจากมีโครงการนี้เข้ามาก็ทำให้มีพืชเศรษฐกิจทางเลือกมากขึ้น ทั้งยังดูแลง่ายกว่าพืชชนิดอื่น เพราะไม่ต้องใช้สารเคมีในการเร่งผลผลิต และช่วยให้ป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ ปีแรกมีเกษตรกรเข้าร่วมไม่ถึง 10 ราย ปัจจุบันมีเกษตรกรในชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 50 ราย สิ่งที่พอใจที่สุดคือ เราปลูกครั้งเดียวแล้วรอเก็บผลผลิตได้ต่ออีกหลายปี ทำให้คนในชุมชนมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ซีพี ออลล์ ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มุ่งสร้างสรรค์สังคมน่าอยู่

นอกจากนี้ ซีพี ออลล์ ยังมีแนวคิดจะทำให้ธุรกิจขายกาแฟเป็นประโยชน์กับสังคมและชุมชน จึงได้จัด ‘โครงการอบรมกาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน’ เมื่อปี 2553 เพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษา และเปิดอบรมให้กับผู้สนใจธุรกิจกาแฟเดือนละครั้ง โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เน้นความรู้ด้านการวางรากฐานธุรกิจที่มั่นคง ครอบคลุมทุกเนื้อหาการทำธุรกิจร้านกาแฟ ปัจจุบันมีผู้เข้ารับการอบรมไปแล้วจำนวน 79 รุ่น กว่า 8,500 คน

'โครงการ 1 บาท ต่อ 1 แก้ว' ถือเป็นโครงการซีเอสอาร์ต่อเนื่องจากโครงการอบรมกาแฟสร้างอาชีพ ที่นอกจากต้องการสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับคนไทยแล้ว ยังต้องการส่งต่อคุณค่า โดยจะหักรายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มกาแฟมวลชนทุกแก้วทุกเมนู 1 บาท ต่อ 1 แก้ว บริจาคเป็นสาธารณประโยชน์แก่วัดพระบาทน้ำพุ, วัดสวนแก้ว, และมูลนิธิสุทธาสิณีน้อยอินทร์เพื่อเด็กและเยาวชน ต่อไป

นอกจากน่านแล้ว ยังมีอีกหลายจังหวัดที่ซีพี ออลล์ ให้การสนับสนุนเกษตรกร เช่น สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง เชียงใหม่ และเชียงราย แต่จังหวัดน่านถือเป็นโมเดลต้นแบบ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐฯหลายหน่วยงาน สำหรับจังหวัดอื่นๆที่สนใจ ซีพี ออลล์ ก็ยินดีสนับสนุนและให้ความรู้ในการปลูกกาแฟคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งโครงการเพื่อสังคมต่างๆเหล่านี้ ซีพี ออลล์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย โดยเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ไปพร้อมๆกัน ขณะเดียวกันก็จะได้ร่วมกันพัฒนาทุกกระบวนการผลิตกาแฟเพื่อเพิ่มคุณภาพและศักยภาพ อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จไปด้วยกัน


Mostview

เปิดธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ หากเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เริ่มใช้งาน

ผลสำรวจบอกผู้มีสิทธิ์ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต จะเลือกใช้จ่ายร้านค้าท้องถิ่น 40% รองลงมาเป็นร้านสะดวกซื้อ เช่น CJ, 7-Eleven 26%

สิงคโปร์ แจกเงินละ 8,000 บาท ให้ 1.1 ล้านครัวเรือนไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า-ประปา ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากสถานการณ์โลกร้อนทำให้หลายประเทศกลับมาตระหนักถึงเรื่องนี้กันมากยิ่งขึ้น ทำอย่างไรที่จะออกนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอันดับต้น ๆ

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาแรง คนไทยซื้อผ่านแพลตฟอร์ม 67% คาดมูลค่าปี 2567 แตะ 7 แสนล้านบาท

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาแรงต่อเนื่อง โตแบบฉุดไม่อยู่ ปี 2566 มีมูลค่า 6.34 แสนล้านบาท คาดการณ์ปี 2567 มูลค่าแตะ 7 แสนล้านบาท และปี 2568 มูลค่าทะลุ 7.5 แสนล้านบาท

จับตาราคา “เนย” เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดโลกใกล้แตะระดับสูงสุดเท่าทีเคยมีมา

ไม่ใช่ “โกโก้” เท่านั้นที่ราคาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์จากปัจจัยเรื่องของสภาพอากาศที่เลวร้าย และโรคที่มากับพืชจนส่งผลกระทบต่อแหล่งเพาะปลูก ทำให้ได้ผลผลิตน้อย นำมาสู่การปรับราคาของสินค้าที่มี “โกโก้” เป็นส่วนผสม ซึ่งคาดการณ์ว่าราคาจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

SmartSME Line