วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2567

ปลดล็อกกับดักไอทีด้วย ไฮบริด คลาวด์

by สุภัค ลายเลิศ, 12 ธันวาคม 2561

องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ ณ เวลานี้ ต่างยอมรับถึงประโยชน์และความจำเป็นที่ต้องมีการใช้งานระบบคลาวด์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานผ่าน “คลาวด์ส่วนตัว (Private Cloud)” และ “คลาวด์สาธารณะ (Public Cloud)” เพื่อให้องค์กรสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านงบประมาณจากการเลือกใช้เทคโนโลยีคลาวด์ได้อย่างเหมาะสมและตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าบำรุงรักษาระบบจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ก็ช่วยสนับสนุนกระบวนการทำงานให้มีความคล่องตัว การเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ช่วยให้องค์กรสามารถแชร์การใช้งานหรือเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ในระบบ เช่น ข้อมูล แอพพลิเคชันธุรกิจต่าง ๆ ได้คุ้มค่าและรวดเร็ว ตลอดจนสามารถปรับแต่ง เพิ่มลด โอนย้ายทรัพยากรไอทีขององค์กรให้เหมาะสมกับปริมาณงาน หรือลักษณะการใช้งานในแต่ช่วงเวลา

โดยที่ผ่านมา องค์กรขนาดใหญ่จะมองว่า “ระบบคลาวด์ส่วนตัว” มีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักสำหรับบริหารจัดการศูนย์ข้อมูล หรือ ดาต้าเซ็นเตอร์ ผ่านการใช้งานคลาวด์ในรูปแบบ On-premises ที่ติดตั้งไว้ภายในองค์กร เป้าหมาย คือ การรองรับ “กระบวนการทำงานที่เป็นหัวใจหลักทางธุรกิจ (Core Business)” ที่เกี่ยวพันกับการใช้งานแอปพลิเคชันในการปฏิบัติงานที่มีปริมาณมากและมีความซับซ้อน หรือการเข้าถึงข้อมูลสำคัญที่ต้องมี “การกำกับดูแลความปลอดภัยที่สูงกว่า” ระบบคลาวด์สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อการดำเนินธุรกิจขององค์กรที่ต้องมีผลผูกพันกับกฎหรือข้อกำหนดที่เคร่งครัดในเรื่องการควบคุมข้อมูล นอกจากนี้ ยังช่วยองค์กรในการ “จัดระเบียบและจัดสรรทรัพยากรไอทีได้ถูกที่ถูกทาง และยืดหยุ่นกับการใช้งานมากขึ้น” ตลอดจนทำให้องค์กรสามารถ “เปลี่ยนผ่านการใช้งานบางส่วนบนสภาพแวดล้อมไอทีแบบเดิม ๆ” ไปสู่การใช้งานผ่านแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ บนคลาวด์ เพื่อให้ระบบงานมีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับการต่อยอดสู่การใช้งานนวัตกรรมไอที เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ หรือเพิ่มเขี้ยวเล็บให้กับการแข่งขันทางธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต อย่างเช่น ไอโอที เป็นต้น

ขณะที่องค์กรเอสเอ็มอี หรือสตาร์ทอัพ อาจถูกใจกับ “คลาวด์สาธารณะ” ซึ่งเป็นการใช้บริการทางด้านไอที “แบบจ่ายเท่าที่ใช้” (Pay as You Go) โดยไม่จำเป็นต้องสร้าระบบขึ้นมาเองก่อน จะเห็นว่า ผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะในปัจจุบัน เช่น อเมซอน เว็บเซอร์วิส (Amazon AWS) แพลตฟอร์มคลาวด์โดยกูเกิล (Google GCP) หรือ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์ (Microsoft Azure) ต่างพัฒนาบริการคลาวด์เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานได้รอบด้าน อาทิ บริการด้านซอฟต์แวร์ (Software as a Service - SaaS) บริการด้านอินฟราสตรัคเจอร์ (Infrastructure as a Service – IaaS) บริการด้านแพลตฟอร์ม (Platform as a Service – PaaS) ทำให้องค์กรเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีงบประมาณ หรือบุคลากรด้านไอทีมากนัก สามารถเริ่มต้นต่อยอดธุรกิจ หรือขยายขีดความสามารถในการทำงานด้วยเทคโนโลยีไอทีได้ง่าย และรวดเร็ว ด้วยบริการและการกำกับดูแลด้านไอทีบนคลาวด์ที่ใกล้เคียงกับองค์กรขนาดใหญ่ และยังได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยอยู่เสมอ โดยไม่ต้องยุ่งยากอัพเกรดด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครคาดเดาความเปลี่ยนแปลงธุรกิจในอนาคตได้ เมื่อองค์กรขนาดใหญ่ อาจต้องคลาวด์สาธารณะไว้สำหรับการทดสอบแอพพลิเคชันหรือบริการใหม่ ๆ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ แทนที่ต้องลงทุนอุปกรณ์เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ขณะที่เอสเอ็มอีอาจต้องการคลาวด์ส่วนตัวไว้ใช้ในองค์กรเมื่อธุรกิจเริ่มเติบโต หรือเมื่อความปลอดภัยของระบบเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจมากขึ้น ทำให้บางครั้งจึงเป็นการสุ่มเสี่ยงเกินไปหากองค์กรจะตัดสินใจเลือกเดินในเส้นทางใดทางหนึ่งไปเลย เนื่องจากทั้งสองระบบต่างมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ขณะเดียวกัน ถ้าองค์กรเลือกจะเก็บการใช้งานทั้งสองแบบไว้ ก็จะไม่ต่างจากการมีไอทีถึงสองระบบในองค์กร การบริหารจัดการก็จะยุ่งยาก เพราะทั้งคลาวด์ส่วนตัว และคลาวด์สาธารณะมีองค์ประกอบที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นการปรับแต่งหรือตั้งค่าชุดคำสั่งในการทำงาน การวางรูปแบบความปลอดภัย ชุดเครื่องมือในการใช้งาน ซึ่งมีความซับซ้อนแตกต่างกัน และอาจส่งผลให้ขาดความราบรื่นหรือความต่อเนื่อง เมื่อต้องสลับการทำงานไปมาระหว่างกัน และยังเพิ่มภาระให้กับผู้ดูแลระบบและผู้ใช้งานในองค์กรที่ต้องเรียนรู้การทำงานของทั้งสองแบบ ซึ่งสิ้นเปลืองทั้งเวลาและงบประมาณในการบำรุงรักษา

เป็นเรื่องดีที่เราได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาความยุ่งยากใจขององค์กร โดยการบูรณาการข้อดีของระบบบริการแบบคลาวด์ และรูปแบบโครงสร้างพื้นฐานแบบที่ติดตั้งในองค์กร ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า “ไฮบริด คลาวด์ (Hybrid Cloud) หรือ คลาวด์ลูกผสม” ที่ช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น สามารถอุดรอยรั่ว หรือลดความไม่มีประสิทธิภาพที่เกิดจากการทำงานของคลาวด์ส่วนตัวและคลาวด์สาธารณะ และตอบสนองฟังก์ชันการทำงานที่ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัว และครบถ้วนมากขึ้น

ปัจจุบัน บริษัทผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์หลายแห่งต่างหันมาร่วมมือกันในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ในลักษณะ พับลิค คลาวด์ แมชชีน (Public Cloud Machine) สำหรับการทำงานกับชุดซอฟต์แวร์คลาวด์แบบโอเพ่น สแตค (OpenStack) เพื่อให้การจัดการทรัพยากรในระบบไอทีมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับคลาวด์สาธารณะ แต่ยังคงคุณสมบัติการจัดการคลาวด์ส่วนตัวแบบ On-Premise ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ปลอดภัยภายในศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ขององค์กรเอง ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการติดตามและเฝ้าระวังโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดได้จากจุดเดียว ทำให้องค์กรได้ประโยชน์สูงสุดจากความยืดหยุ่นในการใช้งานระบบคลาวด์ได้ดีกว่าที่ผ่านมา รวมถึงสามารถปรับขยายขีดความสามารถของคลาวด์ให้ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานที่หลากหลายในแต่ละองค์กร ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือระหว่างฮิวเลตต์-แพคการ์ด กับไมโครซอฟท์ ในการสร้างแพลตฟอร์มที่เรียกว่า เอชพีอี โปรไลแอนท์ ฟอร์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์ สแตค (HPE ProLiant for Microsoft Azure Stack) เพื่อให้องค์กรสามารถส่งผ่านการใช้งานคลาวด์สาธารณะบนไมโครซอฟท์ อาซัวร์ ไปเป็นการใช้งานแบบไฮบริด คลาวด์ได้จริงและมีประสิทธิภาพสูง หรือ โซลูชันอย่าง วีม (veeam) ที่ออกแบบมาสำหรับความปลอดภัยบนคลาวด์ โดยเฉพาะในเรื่องการเชื่อมโยงและแบ็คอัพข้อมูล ตลอดจนการขนส่งข้อมูลผ่านคลาวด์ได้มากขึ้นโดยใช้แบนด์วิธน้อยลง ซึ่งประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย เป็นต้น

นอกจากนี้ ไฮบริดคลาวด์ยังช่วยปลดล็อคข้อติดขัดในเรื่องความคล่องตัวในการใช้งาน โดยองค์กรสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งาน หรือโยกย้ายถ่ายโอนปริมาณงาน ตลอดจนทรัพยากรในศูนย์ข้อมูล หรือดาต้าเซ็นเตอร์ไปอยู่บนระบบนิเวศแบบคลาวด์สาธารณะ หรือจะเปลี่ยนกลับมาสร้างบริการการใช้งานแบบคลาวด์ส่วนตัวในองค์กรเมื่อไหร่ก็ได้ สามารถลดภาระและเวลาในการพัฒนาแอพพลิเคชัน เนื่องจากปัญหาเดิมในเรื่องความแตกต่างด้านโครงสร้างพื้นฐาน การวางรูปแบบความปลอดภัย หรือชุดคำสั่งได้ถูกปรับแต่งเสียใหม่ให้มีหน้าตาการใช้งานที่เหมือนกัน ซึ่งทำให้ผู้ที่พัฒนาแอพพลิเคชันสามารถเขียนโค้ดโปรแกรมเพื่อต่อยอดการใช้งานได้ทั้งบนคลาวด์สาธารณะ และคลาวด์ส่วนตัวได้ในคราวเดียวกัน ทั้งยังช่วยให้องค์กรก้าวข้ามความเสี่ยงจากการลงทุนพัฒนาระบบไอที โดยไม่ต้องยึดติดอยู่กับเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งเท่านั้น

ในอนาคตอันใกล้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่มีความยืดหยุ่น จะเป็นข้อได้เปรียบอย่างมีนัยสำคัญสำหรับทุกองค์กร แพลตฟอร์มแบบไฮบริด คลาวด์ ที่สามารถเชื่อมโยงจุดแข็ง และกำจัดจุดอ่อนของการใช้งานคลาวด์ทั้งสองระบบทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น จึงนับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเติมเต็มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่องค์กรสามารถหยิบจับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับธุรกิจได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที รวมถึงเปิดโอกาสให้องค์กรสามารถพัฒนากระบวนการทำงาน หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านบริการใหม่ ๆ ที่เท่าทันกับความต้องการของลูกค้า และสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างไร้ขีดจำกัดนั่นเอง

สุภัค ลายเลิศ
สุภัค ลายเลิศ กรรมการอำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

Mostview

4 สิ่งของคนเลี้ยงลูกประสบความสำเร็จไม่เคยสอนตอนเมื่อลูกยังเล็ก

ครอบครัวถือเป็นสถาบันหลักสำคัญในการสั่งสอนลูกว่าจะเป็นคนอย่างไร โดยช่วงเวลาที่ผ่านมาเราได้ยินว่าควรทำอย่างไรกับลูกของเรา และเรื่องไหนที่ไม่ควรทำกับลูกของเรา

คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท

ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ซึ่งมีการพูดถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อน และรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาได้สบายขึ้น

กล้าพอไหม! Airbnb เปิดให้เข้าพักบ้านลอยฟ้า มีลูกโป่งกว่า 8,000 ใบ โยงติดอยู่บนหลังคา

หากอยากจะทำอะไรตื่นเต้นต้องมาทางนี้ เมื่อ Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พักได้เปิดตัวโปรเจคต์ “Icon” เพื่อสร้างประสบการณ์พักผ่อนให้กับลูกค้า เปลี่ยนสิ่งที่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ให้กลายเป็นความจริง

ซีพีออลล์ ทำรายได้ไตรมาส 1/2567 รวม 241,307 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 พบว่าบริษัทมีรายได้รวม 241,307 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

SmartSME Line