วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2567

เดินหน้าศาสตร์พระราชาขับเคลื่อนโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร

by Smart SME, 30 พฤษภาคม 2562

โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริไว้ เมื่อปี 2535 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งและปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน

สืบสาน รักษา และต่อยอด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายในการสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ มีพระราชกระแสให้ภาครัฐสานต่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ยังคั่งค้าง บำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ประชาชนและพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า

นายบรรจง ศรีคำมูล ผู้ใหญ่บ้าน บ้านตองโขบ

นายบรรจง ศรีคำมูล ผู้ใหญ่บ้าน บ้านตองโขบ

นายบรรจง ศรีคำมูล ผู้ใหญ่บ้าน บ้านตองโขบ หมู่ที่ 8 ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เล่าความรู้สึกภายหลังจากที่ทราบถึงโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริว่า “เมื่อปี 2560 น้ำท่วม เกิดน้ำท่วม 3 ครั้ง ชาวบ้านเดือดร้อน ข้าวก็ตาย เวลาแล้งก็แล้งหมดแทบไม่มีน้ำเลย แต่ตอนนี้เรามีโอกาสแล้ว เพราะมีโครงการพระราชดำริเข้ามาช่วยเหลือ ผมขอขอบคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่มีพระมหากรุณาธิคุณ ช่วยเหลือประชาชนทุก ๆ คน ผมขอบคุณมากครับ”

ปราการสำคัญป้องกันน้ำท่วม

โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562-2566 รวมระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างทั้งโครงการ 5 ปี เมื่อแล้วเสร็จ ช่วยป้องกันน้ำท่วมหนองหาร และมีระบบส่งน้ำไปถึงพื้นที่การเกษตรกว่า 78,000 ไร่ราษฎรจะมีน้ำใช้จากบริเวณพื้นที่โครงการมาใช้สำหรับภาคการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “หนองหารเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง เนื่องจากเมื่อมีฝนตกมาโดยตลอดน้ำที่มาจากเขาภูพาน จะไหลมาตามลำน้ำพุงจนมาถึงที่หนองหาร ซึ่งเป็นไปตามลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2560 มีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมประชุมในการแก้ไขปัญหา เราใช้เวลา 1 ปี ในการทำแผนงานโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนเสร็จเมื่อปี 2561และปี 2562 นี้ ได้เริ่มดำเนินการโครงการดังกล่าวแล้ว”

การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ

จากการตรวจสอบของกรมชลประทาน พบว่า ที่ดินของโครงการที่ได้รับผลกระทบมีทั้งหมด 1,985 ไร่ ทั้งพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ และพื้นที่ของ ส.ป.ก.รวมแล้วมีพื้นที่จำนวน 880 แปลง หลังจากนั้นจะดำเนินการแบ่งเขตและแบ่งแยกแปลงเพื่อไปทำการจ่ายค่าชดเชยที่ดิน ซึ่งกรมชลประทานได้ใช้วิธีการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ประชาชนรับทราบมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งประชาชนทุกคนมีความเห็นพ้องต้องกันพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ กล่าวต่อว่า “ได้มอบหมายให้กรมชลประทานรับไปดำเนินการ ทั้งเรื่องการชดเชย และการหาที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งจะทำให้ดีที่สุดโดยเราได้ทำประชาคมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ผลกระทบดังกล่าว ซึ่งทุกคนล้วนมีความยินดีและพร้อมที่จะร่วมมือเป็นอย่างยิ่ง”

ประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบ

โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริประกอบด้วยประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบ ลักษณะบานโค้งจำนวน 7 ช่อง นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างคลองผันน้ำและอาคารประกอบ 4 สาย ได้แก่ คลองผันน้ำร่องช้างเผือก-ห้วยยาง ความยาว 16.23 กิโลเมตรคลองผันน้ำหนองแซง-ห้วยซัน-ห้วยยาง ความยาว 21.23 กิโลเมตร คลองผันน้ำห้วยยาง-ลำน้ำก่ำ ความยาว 4.93 กิโลเมตร และคลองผันน้ำห้วยทามไฮ-ห้วยสองตอน ความยาว 8.80 กิโลเมตร

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า “คลองทั้งหมดเป็นคลองที่มีอยู่เดิม แต่เรามาทำการขุดลอกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รับน้ำได้มากกว่าเดิม 3-4 เท่า ยกตัวอย่าง คลองผันน้ำล่องช้างเผือก-ห้วยยาง จากเดิมระบายน้ำได้ประมาณ 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่เมื่อแล้วเสร็จจะระบายน้ำได้ถึง 42 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยในส่วนของจังหวัดสกลนครซึ่งมีพื้นที่การเกษตรถึง 3.4 ล้านไร่จากพื้นที่จังหวัดประมาณ 6 ล้านไร่โดยมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 12เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเกษตร หรือประมาณ 4 แสนไร่ มีค่าเฉลี่ยมีน้ำท่าอยู่ประมาณ 6,700 ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งเราสามารถเก็บกักไว้ได้เพียง 1,143 ล้านลูกบาศก์เมตรจากเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน และเขื่อนน้ำพุง และแหล่งน้ำตามธรรมชาติขนาดใหญ่ คือ หนองหารนอกจากนี้ยังมีเขื่อนขนาดกลางอีก 35 แห่ง และเขื่อนขนาดเล็กอีก 77 แห่ง”

แผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำพุง-น้ำก่ำ

ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งมีบทบาทการควบคุมแผนหลักการพัฒนาหนองหาร รวมถึงปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำและทางระบายน้ำในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกัน เป็นการแก้ไขปัญหาทั้งระบบในพื้นที่ภาคอีสาน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า “เราได้ร่วมกับทางจังหวัดเพื่อพัฒนาแผนหลักของหนองหาร ซึ่งออกมาเป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อจะแก้ไขตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยได้มีการพัฒนาเรื่องของความจุของหนองหาร ปัจจุบันมีประมาณ 266 ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งอาจจะเพิ่มความจุอีกประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ในอนาคตจะสามารถลดความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งได้ นอกจากนี้เราได้รับมอบหมายให้มีการบูรณาการจัดทำแผนงานทุกอย่างให้เป็นระบบ ผ่านการรับรู้จากประชาคม ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ ซึ่งหนองหารที่ออกมาจะมีเรื่องการรักษาคุณภาพน้ำบริเวณโดยรอบ เนื่องจากประชาชนเองมีจำนวนมากจึงต้องทำเรื่องการบำบัดน้ำเสียเพื่อรักษาคุณภาพน้ำ อีกทั้งยังมีการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อเอาน้ำมาเติมให้เต็ม และมีการปรับปรุงประตูระบายน้ำสุรัสวดีซึ่งต้องทำความเข้าใจร่วมกัน”

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อมีการดำเนินการโครงการเหล่านี้ขึ้นมาแล้ว เราก็จะมีโครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำทั้งหมด ปรับให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน จังหวัดสกลนครเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายที่ต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบ หรือ 1 ใน 16 พื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมกันระหว่างลุ่มน้ำ และมีการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำร่วมกัน ทุกฝ่ายมีความเห็นชอบ เชื่อมั่นว่าไปได้แน่”

ท้ายนี้ประโยชน์เมื่อแล้วเสร็จโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำพุง-น้ำก่ำ และเป็นแหล่งทดน้ำ เพื่อการระบายน้ำและส่งน้ำชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำพุง-น้ำก่ำ รวมถึงช่วยส่งน้สำหรับการชลประทานและการรักษาระบบนิเวศให้กับพื้นที่ 4 ตำบล 53 หมู่บ้าน10,857 ครัวเรือน แต่ทั้งหมดจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และเมื่อทุกอย่างเดินหน้าต่อไปและต่อเนื่องอย่างที่เราคาดหวังไว้พี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ก็จะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด


Mostview

คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท

ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ซึ่งมีการพูดถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อน และรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาได้สบายขึ้น

กล้าพอไหม! Airbnb เปิดให้เข้าพักบ้านลอยฟ้า มีลูกโป่งกว่า 8,000 ใบ โยงติดอยู่บนหลังคา

หากอยากจะทำอะไรตื่นเต้นต้องมาทางนี้ เมื่อ Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พักได้เปิดตัวโปรเจคต์ “Icon” เพื่อสร้างประสบการณ์พักผ่อนให้กับลูกค้า เปลี่ยนสิ่งที่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ให้กลายเป็นความจริง

ซีพีออลล์ ทำรายได้ไตรมาส 1/2567 รวม 241,307 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 พบว่าบริษัทมีรายได้รวม 241,307 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

6 วิธีสร้างแนวคิดอย่างยั่งยืนให้ธุรกิจของคุณ แถมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์

การยึดมั่นในเรื่องของความยั่งยืนไม่ได้เป็นประโยชน์กับสภาพแวดล้อม และเศรษฐกิจท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลเชิงบวกให้กับแบรนด์อีกด้วย ดังนั้น เรามาดูกลยุทธ์ทางธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่คนเป็นผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจได้ ผ่านวิธีการเหล่านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

SmartSME Line