วันอังคาร, พฤษภาคม 7, 2567

ตีกรอบ “แฟรนไชส์” กำหนดพฤติกรรม ป้องกันต้นตำรับเอาเปรียบผู้ซื้อ

by Anirut.j, 27 สิงหาคม 2562

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เตรียมออกไกด์ไลน์ธุรกิจแฟรนไชส์ กำหนดสิ่งที่เจ้าของต้องทำ และพฤติกรรมต้องห้าม ป้องกันผู้ซื้อแฟรนไชส์โดนเอารัดเอาเปรียบ เผยหากฝ่าฝืน มีโทษปรับปกครองไม่เกิน 10% ของยอดขาย คาดบังคับใช้เร็วๆ นี้

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ โฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า ได้ยกร่างประกาศ กขค. เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ พ.ศ. ... หรือไกด์ไลน์ธุรกิจแฟรนไชส์เสร็จแล้ว เพื่อให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และไม่มีพฤติกรรมที่ขัดกับ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560

โดยได้เปิดรับฟังความเห็นจากแฟรนไชส์ซอร์ (เจ้าของแฟรนไชส์ ที่ให้สิทธิประกอบธุรกิจแฟรนไชส์กับผู้อื่น) ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา และในวันที่ 6 ก.ย.2562 จะรับฟังความเห็นจากแฟรนไชส์ซี (ผู้ซื้อแฟรนไชส์) และจะฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องผ่านเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการฯ จนถึงวันที่ 20 ก.ย.2562 จากนั้น คณะอนุกรรมการพิจารณาไกด์ไลน์แฟรนไชส์ จะทบทวนเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเสนอให้ กขค. ให้ความเห็นชอบ และออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ต่อไป คาดน่าจะบังคับใช้ได้ในเร็วๆ นี้

สำหรับไกด์ไลน์แฟรนไชส์ดังกล่าว กำหนดให้แฟรนไชส์ซอร์ ต้องเปิดเผยข้อมูลการประกอบธุรกิจให้แก่แฟรนไชส์ซี ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายก่อนดำเนินการ และระหว่างดำเนินการ เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าสิทธิ ค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ในการประกอบธุรกิจ รายละเอียดเกี่ยวกับการเงินและเงื่อนไขในการคืนเงิน และต้องเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการดำเนินธุรกิจ

เช่น การให้ความช่วยเหลือในการบริหารจัดการ จำนวนและสถานที่ตั้งของแฟรนไชส์ในพื้นที่ใกล้เคียงในปัจจุบัน และอนาคต รายละเอียดการส่งเสริมการขาย รวมถึงสาระเกี่ยวกับสิทธิในเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้อง ช่วงเวลาที่มีผลบังคับใช้ ขอบเขตการอนุญาตและเงื่อนไขข้อจำกัด, การต่อสัญญา แก้ไข ยกเลิก เพิกถอนสัญญา เป็นต้น

ทังนี้ ยังได้กำหนดพฤติกรรมต้องห้ามของแฟรนไชส์ซอร์ ที่อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่แฟรนไชส์ซี ตามมาตรา 57 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าพ.ศ.2560 ได้แก่ กำหนดเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิของแฟรนไชส์ซี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น กำหนดให้ซื้อสินค้า หรือบริการอื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์ หรือซื้อจากซัปพลายเออร์ (ผู้ผลิตสินค้า) ที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนดเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมที่เจ้าของแฟรนไชส์ห้ามปฏิบัติต่อผู้ชื้อ คือ

• ห้ามกำหนดโควตาให้แฟรนไชส์ซีต้องซื้อสินค้า หรือวัตถุดิบในปริมาณมากกว่าความต้องการ

• ห้ามคืนสินค้าหรือวัตถุดิบส่วนเกิน หรือกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้แฟรนไชส์ซีต้องปฏิบัติตามหลังลงนามสัญญา

• ห้ามแฟรนไชส์ซีซื้อสินค้าหรือบริการกับซัปพลายเออร์รายอื่น แต่ต้องซื้อจากแฟรนไชส์ซอร์ หรือซัปพลายเออร์ที่กำหนดโดยไม่มีเหตุผลอันควร

• ห้ามแฟรนไชส์ซีขายลดราคาสินค้าที่เน่าเสียง่าย หรือใกล้หมดอายุโดยไม่มีเหตุผลอันควร ห้ามกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างกันระหว่างแฟรนไชส์ซีโดยไม่มีเหตุผลอันควร และนำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

“หากไกด์ไลน์แฟรนไชส์มีผลบังคับใช้ แฟรนไชส์ซอร์มีพฤติกรรมต้องห้ามดังกล่าว จะมีความผิดตามมาตรา 57 โดยจะมีทางปกครอง ต้องชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด” นายสันติชัยกล่าว


Mostview

ผลกระทบขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจทำให้สินค้าขยับราคาขึ้น 15%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชน ทั้งในภาคส่วนการผลิต การค้า และบริการ การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

KFC มาเลเซียปิดกว่า 100 สาขา เพราะถูกชาวมุสลิมคว่ำบาตรธุรกิจสัญชาติสหรัฐฯ

KFC แฟรนไชส์สัญชาติอเมริกันกำลังตกเป็นเป้าหมายการรณรงค์คว่ำบาตรธุรกิจของประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับอิสราเอลที่ทำสงครามกับชาวปาเลสไตน์จนมีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

Wang Ning เจ้าของ Pop Mart ผู้กลายมาเป็นเศรษฐีจากการขายตุ๊กตา Molly ราคา 300 กว่าบาท ทั่วจีน

Pop Mart ร้านขายของเล่น Art Toys ชื่อดัง ที่ชั่วโมงนี้ไม่มีนักสะสมคนไหนไม่รู้จัก พร้อมที่จะมุ่งไปทันทีหากมีการเปิดขายคอลเล็กชันตัวละครใหม่ จนต้องมีการลงทะเบียนเพื่อรับคิวในการเข้าซื้อกันเลยทีเดียว

SmartSME Line