วันเสาร์, พฤษภาคม 18, 2567

ปรับโหมดธุรกิจ จาก ‘ยิ่งใหญ่’ สู่ ‘ยั่งยืน’

by พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 30 สิงหาคม 2562

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลก ที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง การก่อตัวของสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ ที่ส่งผลกับธุรกิจในวงกว้าง ไม่เพียงแต่มิติการเติบโต แต่ยังส่งผลถึงมิติความยั่งยืนของกิจการ ไม่เว้นแม้แต่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

การใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจ อาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่เหมาะสมหรือสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ต่อการนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จหรือเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ทำให้หลายธุรกิจจำต้องมองหาทางเลือกของกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนของกิจการ เพื่อนำองค์กรให้เข้าสู่วิถีของธุรกิจที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ธุรกิจต้องมีความเข้าใจว่า ปัจจัยแห่งการเติบโต ซึ่งหมายถึง ทรัพยากรที่ใส่เข้ามาเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์มุ่งการเติบโตนั้น มีความแตกต่างจาก ทรัพยากรที่ใช้เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ปัจจัยแห่งความยั่งยืน อาจไม่ใช่ทรัพยากรประเภทเดียวกันกับที่ใช้ในการสร้างกิจการให้เติบโต

กิจการที่เข้าใจบริบทของความยั่งยืน จะสามารถแสดงให้เห็นว่า กลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน เป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อมิติทางธุรกิจ มิใช่เรื่องที่แปลกแยกไปจากการดำเนินธุรกิจ โดยมีเข็มทิศการดำเนินงานในเรื่องธุรกิจกับเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน และมิได้มองว่าเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นภาระหรือค่าใช้จ่ายขององค์กร แต่กลับใช้เป็นปัจจัยหรือโอกาสในการเสริมหนุนขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการได้มาซึ่งกำไรที่มั่นคง

ธุรกิจที่กำลังก้าวเข้าสู่วิถีดังกล่าว จะเริ่มปรับโจทย์ไปยังการตอบสนองความคาดหวังของสังคมที่เพ่งเล็งไปยังจุดซึ่งแกนของธุรกิจ (Core Business) ต้องสามารถสร้างให้เกิดคุณค่าทางสังคมร่วมด้วย นอกเหนือจากการสร้างมูลค่าให้แก่องค์กรเพียงลำพัง

จุดสนใจในปัจจุบัน จึงอยู่ที่การผลักดันให้องค์กรธุรกิจสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value - CSV) ระหว่างองค์กรและสังคมไปพร้อมกัน โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่เป็นแกนของธุรกิจนั้นๆ อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูง ซึ่งต่างจากเรื่อง CSR ที่สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียของกิจการคาดหวังให้องค์กรดำเนินการ โดยไม่คำนึงว่าเรื่องและประเด็นเหล่านั้น องค์กรจะมีสินทรัพย์หรือมีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมอยู่หรือไม่ก็ตาม

ปัจจุบัน มีหลายองค์กรธุรกิจที่ได้นำปัจจัยแห่งความยั่งยืน มาออกแบบและปรับแต่งโมเดลทางธุรกิจ วางกลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน พร้อมกับพัฒนาแนวทางในการสื่อสารเรื่องความยั่งยืน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้รับทราบถึงทิศทางขององค์กร และตอบสนองต่อความจำกัดของกลยุทธ์มุ่งการเติบโตที่ไม่อาจใช้เป็นกลยุทธ์หลักเดียวของธุรกิจได้อีกต่อไป

การกำกับดูแลกิจการที่คณะกรรมการบริษัทคุ้นเคยกับการให้ความเห็นชอบในกลยุทธ์มุ่งการเติบโตของหลายกิจการ ในห้วงเวลาที่ผ่านมา กำลังเปลี่ยนจุดโฟกัสมาสู่การให้ความเห็นชอบในกลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของกิจการและความมั่งคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนสร้างทั้งแรงหนุนและแรงต้านแก่องค์กร

สิ่งที่คณะกรรมการบริษัทจะต้องปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย การรับรู้ในเรื่องความยั่งยืนของกิจการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ความจำเป็นในทางธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน ประเด็นความยั่งยืนที่มีสาระสำคัญต่อกิจการ การผนวกความยั่งยืนในกลยุทธ์และตัวแบบทางธุรกิจ และแผนดำเนินงานแรกเริ่มด้านความยั่งยืน เป็นต้น

ทั้งนี้ การประเมินว่าคณะกรรมการบริษัทสามารถตอบสนองต่อเรื่องดังกล่าวได้ดีมากน้อยเพียงใด พิจารณาได้จากระดับความเข้าใจร่วมโดยตระหนักว่าความยั่งยืนมีสาระสำคัญต่อกลยุทธ์และการดำเนินงานของบริษัท ความรู้และความตระหนักของคณะกรรมการบริษัทที่มีเพิ่มขึ้นต่อประเด็นความยั่งยืนที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท และความคาดหวังที่ถูกกำหนดและความประสงค์ที่จะบูรณาการความยั่งยืนสู่กลยุทธ์และนวัตกรรมตัวแบบทางธุรกิจ เป็นต้น

นอกจากนี้ ขอบเขตของการกำกับดูแลที่สะท้อนถึงการบูรณาการความยั่งยืนสู่กิจการ ยังครอบคลุมถึงภาวะผู้นำของคณะกรรมการในการคำนึงถึงโอกาสและความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับความยั่งยืน การกำหนดจุดยืนทางกลยุทธ์ รวมถึงแนวนโยบาย โครงสร้าง ทักษะ และเครื่องมือในการกำกับดูแล ตลอดจนแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในการผนวกความยั่งยืนเข้ากับบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

ธุรกิจที่สามารถผันตัวเองเข้าสู่โหมดธุรกิจยั่งยืน จะเปลี่ยนจุดโฟกัสมาเน้นใช้กลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน เพื่อรักษาเสถียรภาพของกิจการ ด้วยการพิจารณาดำเนินงานในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ผสมผสานกลมกลืนเข้ากับการดำเนินธุรกิจ ปรับทิศทางจากเส้นทางการเติบโตเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ (Great) สู่วิถีของธุรกิจที่ยั่งยืน (Last) ได้ในที่สุด

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ หนึ่งในผู้บุกเบิกงานด้าน CSR ในประเทศไทย เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันไทยพัฒน์ องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ทำงานด้านการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ร่วมกับภาคเอกชน ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน | ติดตามความคิด บทสัมภาษณ์ และบทความของผู้เขียน ได้ที่ http://pipat.com
Tag : SmartCSR

Mostview

คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท

ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ซึ่งมีการพูดถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อน และรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาได้สบายขึ้น

กล้าพอไหม! Airbnb เปิดให้เข้าพักบ้านลอยฟ้า มีลูกโป่งกว่า 8,000 ใบ โยงติดอยู่บนหลังคา

หากอยากจะทำอะไรตื่นเต้นต้องมาทางนี้ เมื่อ Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พักได้เปิดตัวโปรเจคต์ “Icon” เพื่อสร้างประสบการณ์พักผ่อนให้กับลูกค้า เปลี่ยนสิ่งที่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ให้กลายเป็นความจริง

ซีพีออลล์ ทำรายได้ไตรมาส 1/2567 รวม 241,307 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 พบว่าบริษัทมีรายได้รวม 241,307 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

พาชมงาน MONEY EXPO 2024 โซน Franchise SMEs มีธุรกิจอะไรน่าลงทุน

เริ่มไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับงาน MONEY EXPO 2024 ที่อาคารชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยภายงานในงานได้มีสถาบันทางการเงินที่นำบริการสินเชื่อต่าง ๆ มานำเสนอให้กับผู้ที่สนใจมองหาแหล่งทุนสำหรับนำไปใช้ในเรื่องต่าง

SmartSME Line