วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2567

ยุคแห่งการแปลงของเสียให้เป็นของดี

by พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 19 กันยายน 2562

แนวปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนประสมของความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ผนวกอยู่ นับวันจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับธุรกิจที่แสวงหาความยั่งยืนและการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่รายรอบกิจการ

ในความเป็นจริง ทุกธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดหรือในสาขาใด ต่างก็มีส่วนในการรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ในระดับหนึ่ง มิฉะนั้น กิจการนั้นๆ ก็คงไม่สามารถอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ได้ เพราะสังคมหรือภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลก็คงไม่ปล่อยให้กิจการดำเนินอยู่โดยปราศจากการประณามหรือการลงโทษใดๆ
แต่ประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาอยู่ที่ “ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่ผ่านมานั้นเพียงพอหรือยัง” ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ในวันนี้สังคมเริ่มตั้งคำถามดังขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่ธุรกิจเองก็พยายามสำรวจตัวเองต่อประเด็นคำถามนี้อย่างจริงจังเช่นกัน

การจัดการผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานของธุรกิจ เป็นหนึ่งในหัวเรื่องสำคัญของการทำ CSR แต่ความเป็นจริงอีกนัยหนึ่ง คือ การที่ธุรกิจจะต้องลดผลกระทบเชิงลบให้เหลือศูนย์ หรือไม่ให้มีเลยนั้น เป็นไปไม่ได้

ในวิชาเศรษฐศาสตร์เอง ก็กล่าวไว้ทำนองเดียวกันว่า ในทุกกระบวนการผลิต ก็คือ การทำลายรูปแบบหนึ่ง เป็นการแปรสภาพจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งหากสิ่งที่แปรสภาพใช้การได้ เราก็เรียกว่า ผลิตภัณฑ์ (ซึ่งรวมทั้งสินค้า และบริการ) แต่หากสิ่งที่แปรสภาพมาใช้การไม่ได้ เราก็เรียกว่า ของเสีย และในความเป็นจริง จะไม่มีกระบวนการผลิตใด ที่จะไม่มีของเสียออกมาเลย

ขณะเดียวกัน ในฝั่งของปัจจัยนำเข้า สู่กระบวนการผลิต ธุรกิจก็จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นปัจจัยในการผลิตไม่มากก็น้อย ฉะนั้น ทุกกิจการไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ต่างก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดึงเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีวันหมดไปมาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่เพียงแค่ธุรกิจ แม้กระทั่งเราๆ ท่านๆ ที่นั่งอ่านบทความนี้อยู่ เราก็หายใจเอาอากาศดีจากธรรมชาติเข้าไปในร่างกาย แล้วปล่อยเอาอากาศเสีย คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ภายนอก หนทางแก้ในกรณีนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่การหายใจเข้าให้น้อยๆ เพื่อรักษาอากาศดีให้คงอยู่ไว้มากๆ หรือการหายใจออกให้น้อยๆ เพื่อไม่ไห้มีอากาศเสียมากกว่าที่เป็นอยู่

เป็นความจริงที่ว่า ธุรกิจยังต้องการการพัฒนาสมรรถภาพอีกมาก เราจึงได้มีเครื่องมือในการพัฒนาสมรรถนะทางธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องการบริหารการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดการของเสีย อย่างเช่น Lean Manufacturing และ Six Sigma ซึ่งจัดเป็นเครื่องมือในกลุ่มที่เรียกว่า Total Quality Management หรือ TQM

TQM เปรียบเสมือนเครื่องมือยุคแรกในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตรงที่มุ่งจัดการกับของเสียให้ลดลง ทำให้องค์กรปราศจากไขมันส่วนเกินจากการใช้ทรัพยากรนำเข้าที่ด้อยประสิทธิภาพ อันเป็นบ่อเกิดของการสูญเปล่า 7 ประการ ได้แก่ การผลิตเกิน (Over Production) การขนส่ง (Transportation) การรอคอย (Waiting) สินค้าคงคลัง (Inventory) การชำรุด (Defect) กระบวนการมากเกินไป (Over Processing) และการเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น (Unnecessary Movement) โดยที่การพัฒนาเพื่อลดการสูญเปล่านี้ นำไปสู่การเป็นองค์กรกระชับรูป หรือ Lean Enterprise

เรากำลังก้าวไปอีกขั้นจากการพัฒนาเพื่อลดของเสีย มาสู่การพัฒนาที่ไร้ของเสีย (Zero Waste) ที่ไม่ได้หมายถึงการลดของเสียให้เหลือศูนย์ แต่เป็นการออกแบบระบบการผลิตที่สามารถนำของเสียจากกระบวนการผลิตหนึ่งมาเป็นทรัพยากรนำเข้าของอีกกระบวนการผลิตหนึ่ง เช่น การนำขยะมาผลิตเป็นพลังงาน และเป็นยุคของการพัฒนาระบบการผลิตที่สามารถใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ทดแทนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีวันหมดไป เช่น การผลิตที่อาศัยเชื้อเพลิงจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

ในปัจจุบัน ธุรกิจหลายแห่งจึงมีความริเริ่มบนฐานคิดนี้ เกิดเป็นคำเรียกใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะของการพัฒนาที่ไร้ของเสียและการพัฒนาที่เน้นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน อาทิ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) นั่นเอง

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ หนึ่งในผู้บุกเบิกงานด้าน CSR ในประเทศไทย เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันไทยพัฒน์ องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ทำงานด้านการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ร่วมกับภาคเอกชน ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน | ติดตามความคิด บทสัมภาษณ์ และบทความของผู้เขียน ได้ที่ http://pipat.com

Mostview

คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท

ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ซึ่งมีการพูดถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อน และรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาได้สบายขึ้น

กล้าพอไหม! Airbnb เปิดให้เข้าพักบ้านลอยฟ้า มีลูกโป่งกว่า 8,000 ใบ โยงติดอยู่บนหลังคา

หากอยากจะทำอะไรตื่นเต้นต้องมาทางนี้ เมื่อ Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พักได้เปิดตัวโปรเจคต์ “Icon” เพื่อสร้างประสบการณ์พักผ่อนให้กับลูกค้า เปลี่ยนสิ่งที่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ให้กลายเป็นความจริง

พาชมงาน MONEY EXPO 2024 โซน Franchise SMEs มีธุรกิจอะไรน่าลงทุน

เริ่มไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับงาน MONEY EXPO 2024 ที่อาคารชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยภายงานในงานได้มีสถาบันทางการเงินที่นำบริการสินเชื่อต่าง ๆ มานำเสนอให้กับผู้ที่สนใจมองหาแหล่งทุนสำหรับนำไปใช้ในเรื่องต่าง

ซีพีออลล์ ทำรายได้ไตรมาส 1/2567 รวม 241,307 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 พบว่าบริษัทมีรายได้รวม 241,307 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

SmartSME Line