วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 9, 2567

แผนเศรษฐกิจหลังโควิด-19 รัฐบาลเล็งฟื้น FTA ไทย-อียู ขยายส่งออกสินค้าไทย

by Pagon.p, 28 กันยายน 2563

มองไกลหลังโควิด-19! รัฐบาลใช้การต่างประเทศ เพิ่มโอกาสการค้าการลงทุน ขยายวงไกลกว่าเอเซีย เล็งฟื้น FTA ไทย-อียู ส่งเสริมเศรษฐกิจในระยะยาว

วันที่ 27 ก.ย.63 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือระหว่างภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่องการค้าการลงทุนเพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

สำหรับในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย (ยังไม่ร่วมลงนาม) โดยในปีที่แล้วประเทศสมาชิกมีมูลค่าจีดีพีกว่า 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 32.7% ของจีดีพีโลก

ทั้งนี้ การลงนาม RCEP จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจและส่งเสริมระบบกฎเกณฑ์การค้าแบบพหุภาคี และมั่นใจว่าจะทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลก และภูมิภาคเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ

ในส่วนของประเทศอินเดียแม้ยังไม่ได้ร่วมลงนาม RCEP แต่ประเทศสมาชิกยังเปิดโอกาสให้อินเดียเมื่อพร้อมเสมอ อีกทั้งอาเซียนได้มีความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน–อินเดีย (AITIGA) ตั้งแต่ 2553 ซึ่งจะมีการทบทวนความตกลงให้ทันสมัย และเอื้อต่อการค้าและการลงทุน รวมถึงจะมีการพิจารณาเรื่องการเปิดตลาด การลดอุปสรรคในมาตรการที่มิใช่ภาษี การลดความล่าช้า และยุ่งยากในพิธีการศุลกากร และอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งจะช่วยผลักดันการค้าระหว่างอาเซียนกับอินเดียให้บรรลุเป้าหมายที่ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2565

มากไปกว่านั้น อาเซียนยังได้มีการขยายความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา แคนนาดา สหภาพยุโรป และสหภาพยูเรเซีย (เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์เมเนีย และรัสเซีย) ถึงจะยังไม่ถึงขั้นเข้าสู่ข้อตกลงการค้าเสรี แต่ก็เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นที่ดี ที่ได้มีการลงนามเห็นชอบร่วมกันในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เรื่องแผนงานส่งเสริมการค้าการลงทุน และการหารือเรื่องแนวปฏิบัติที่ดีในการออกกฎระเบียบ เท่ากับว่าอาเซียนได้ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกว้างไกลกว่าภูมิภาคเอเซียแล้ว

และยังรวมถึงการฟื้นการเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) 27 ประเทศ ที่รัฐบาลให้ความสสำคัญเพราะจะช่วยเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เป็นการขยายโอกาสการส่งออกสินค้าไทย ในปี 2562 อียูเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ การค้าระหว่างไทย-อียู มีมูลค่ากว่า 4.45 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการค้า 9.2% ของการค้าไทยกับโลก

โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 2.35 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ กระทรวงพาณิชย์ในฐานะเจ้าภาพหลัก ได้ทำการศึกษาและระดมความคิดเห็นต่อความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู ที่ครอบคลุมเรื่อง การค้า สินค้า บริการ และการลงทุน ซึ่งหากมีการลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการทั้งของไทยและอียูในระยะยาวจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้ถึง 1.28% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 2.05 แสนล้านบาท สินค้าส่งออกของไทยมีโอกาสขยายตัว เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกคลี่คลาย การบริโภคและความต้องการสินค้าระหว่างประเทศจะเพิ่มมากขึ้น การค้าเสรีจะทำให้สินค้าส่งออกไทยไม่ต้องต้องแบกรับอัตราภาษี อย่างไรก็ตาม การค้าเสรีจะเกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อภาคเอกชนไทยมีศักยภาพทางการแข่งขันในเรื่องคุณภาพและการผลิตได้ตามความต้องการของตลาด

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีการจัดทัพให้ทูตพาณิชย์เป็นเซลแมนประเทศ หาตลาดและจับคู่ธุรกิจการค้า ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยงานรัฐต่าง ๆ มีโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องแหล่งเงินกู้ การอบรมการใช้เทคโนโลยีการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร การส่งเสริมมาตรฐานสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก เป็นต้น

“รัฐบาลพร้อมดูแล และเยียวยาอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ ส่วนการค้าเสรีที่อยู่ในขั้นพิจารณาว่าจะไปเจรจาหรือไม่ เช่น ไทย-อียู จะไม่มีการเร่งรีบแต่ศึกษาอย่างรอบคอบ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดท่าทีเจรจา และการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” รองโฆษกฯ กล่าว


Mostview

ผลกระทบขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจทำให้สินค้าขยับราคาขึ้น 15%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชน ทั้งในภาคส่วนการผลิต การค้า และบริการ การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

KFC มาเลเซียปิดกว่า 100 สาขา เพราะถูกชาวมุสลิมคว่ำบาตรธุรกิจสัญชาติสหรัฐฯ

KFC แฟรนไชส์สัญชาติอเมริกันกำลังตกเป็นเป้าหมายการรณรงค์คว่ำบาตรธุรกิจของประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับอิสราเอลที่ทำสงครามกับชาวปาเลสไตน์จนมีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

นี่คือเหตุผล เพราะอะไรการทำงานหนักไม่การันตีว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป

ทุกคนมักคิด และถูกปลูกฝังมาตลอดว่าให้ทำงานหนักเข้าไว้ แล้วผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่นี่อันเป็นความเชื่อที่ผิดก็ได้ หากเราตั้งข้อสงสัยว่า “ความหมายการทำงานหนักที่แท้จริงคืออะไร?” ทำไมผู้คนต่างทำตาม และดิ้นรนให้เกิดขึ้นจริง

เศรษฐกิจไม่ดี! KFC-Pizza Hut ในจีน ดึงกลยุทธ์สุดฤทธิ์เรียกลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

Yum China Holdings เจ้าของ KFC และ Pizza Hut เชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในจีน วางแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มในพื้นที่ที่ยังไม่เคยเปิด โดยใช้กลยุทธ์ขายเมนูในราคาต่ำเพื่อดึงลูกค้าเข้ามาในจำนวนมาก

SmartSME Line