วันเสาร์, พฤษภาคม 18, 2567

สนามบินมิวนิค เปลี่ยนรถบัสดีเซล เป็นพลัง ‘ก๊าซชีวภาพ’ ลดค่าใช้จ่าย ได้เพื่อนที่ชื่อ “สิ่งแวดล้อม”

by Smart SME, 22 พฤษภาคม 2564

มันอาจจะเป็นการการันตีได้อย่างหนึ่งว่าของเสีย หากมีระบบการจัดการที่ดี มันจะกลายเป็น "พลังงาน" ที่สร้างประโยชน์ได้มากกว่าการเอาไปทิ้ง

ของเสียที่หลากหลายอันเกิดประโยชน์ทางหลักชีวภาพ นั่นคือการหมักหมมขยะเปียก ขยะอินทรีย์ ของเสียจากน้ำเสีย ฯลฯ ในระบบไร้อากาศ หรือระบบปิดทั้งหมด ก่อนจะได้พลังงานที่เรียกว่า Biogas (ไบโอแก๊ส) หรือก๊าซชีวภาพ ซึ่งจากนั้นก็อยู่ที่ว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านใดต่อไป บ้างก็ใช้เป็นแทนก๊าซหุงต้ม ทำความร้อน งานอุตสาหกรรมก็ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจ

เหตุที่เรากำลังพูดถึงก๊าซชีวภาพ เพราะต้องรับรู้กันอย่างชัดเจนไว้ก่อนว่าทุกวันนี้ โลกทั้งใบส่วนใหญ่แล้วเรายังต้องพึ่งพิงพลังงานที่เรียกว่า "ฟอสซิล" อยู่ ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าพลังงานฟอสซิลในปัจจุบัน เป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้เกิดปรากฎการณ์ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเรารู้จักดีว่ามันทำให้โลกร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น ทำลายสิ่งดีๆ ที่เรียกว่ามิตรภาพ ระหว่างมนุษย์ และธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง และช้านานกว่า 100 ปี

ปัจจุบัน การแสวงหาพลังงานเพื่อมาเป็นอีกทางเลือกสำหรับแทนที่พลังงานฟอสซิล และก๊าซชีวภาพ ก็ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ที่เปลี่ยนของเสียที่เคยปล่อยทิ้ง ทำลายโลก พลิกด้านของมันให้กลายเป็นการสร้างประโยชน์ให้มากยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งตัวอย่างที่จับต้องได้ ซึ่งอยากให้เห็นภาพอย่างมากว่าประโยชน์ของก๊าซชีวภาพ มันสามารถทำอะไรได้บ้าง เราพาคุณไปที่ประเทศเยอรมนี เมืองเบียร์แห่งดินแดนยุโรป พวกเขาปรับเปลี่ยนของเสีย ให้กลายสภาพเป็นก๊าซชีวภาพ ก่อนส่งต่อมันไปใช้ยัง "สนามบิน"

ในปี 2018 สนามบินนานาชาติมิวนิค เยอรมนี ได้รับรางวัล Association of German Gas Industry’s Innovation Prize ที่นับเป็นรางวัลใหญ่ของประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อประโยชน์ในการให้บริการผู้โดยสาร

สนามบินนานาชาติมิวนิค ได้ทดสอบการใช้รถบัสขนส่งผู้โดยสารเครื่องบินไปสู่หลุมจอดท่าอากาศยาน ด้วยการใช้ก๊าซชีวภาพ หรือไบโอมีเทน ที่เป็นก๊าซชนิดเหลวแทนที่การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล ซึ่งจากการทดลองได้ผลเป็นอย่างดี และยังช่วยให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสียของรถบัสผู้โดยสาร นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการใช้ก๊าซชีวภาพที่เปลี่ยนสภาพเป็นเชื้อเพลิงไบโอมีเทนกับรถบัสของสนามบินแห่งนี้ทั้งหมดอีกด้วย

โครงการดังกล่าว สนามบินนานาชาติมิวนิคร่วมมือกับทีมวิจัยจากภาคเอกชนที่ชื่อว่า CM Fluids ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของเยอรมนี ที่นำร่องโครงการโดยใช้พื้นที่สนามบินมิวนิค ดัดแปลงรถบัสขนส่งผู้โดยสารด้วยระบบการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และโปรเจ็กนี้ก็ถูกจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย

รูปแบบการทำงานของการใช้ก๊าซชีวภาพ ที่ผลิตเป็นไบโอมีเทนเหลว เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพจะเป็นรูปแบบการใช้งานในระบบหมุนเวียน ที่ผลิตขึ้นมาใหม่ได้ผ่านระบบแหล่งกำเนิดไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่ติดตั้งในรถบัส พร้อมกันนี้แบตเตอรี่ยังช่วยกักเก็บพลังงานเอาไว้ในขณะที่มันก็ใช้กระแสไฟฟ้าผลิตขึ้นซ้ำ ทำให้ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากก๊าซชีวภาพที่สามารถหมุนเวียนในระบบของตัวเองได้ด้วย ซึ่งเมื่อระบบได้ก๊าซชีวภาพเข้ามาแล้ว จะเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อจ่ายกระแสไฟไปยังเพลาขับเคลื่อนของรถบัส

ดร.แฟรงก์ เบห์เรนต์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมกระบวนการพลังงานและเทคโนโลยีการแปลงพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเบอร์ลิน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยโครงการนี้ เคยฉายภาพอย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า การเปลี่ยนน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลเป็นก๊าซชีวภาพเหลว หรือไบโอมีเทน เป็นการนำเสนอวิธีแก้ปัญหามลพิษจากน้ำมันเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่ลดค่าใช้จ่ายสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล รวมไปถึงได้การปล่อยไอเสียที่เกือบเป็นศูนย์ด้วย

"ในแง่หนึ่งการเปลี่ยนยานพาหนะที่มีอยู่นั้น จะประหยัดการซื้อพลังงานเชื้อเพลิงใหม่ที่มีราคาแพง และในทางกลับกัน ไบโอมีเทนที่ผลิตในภูมิภาคจากพื้นที่โดยรอบของเรา จะถูกใช้โดยตรงที่สนามบิน ซึ่งก็เป็นการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นประโยชน์ต่อคน และสิ่งแวดล้อม" ดร.แฟรงก์ เบห์เรนต์ ให้นิยามนวัตกรรมที่เปลี่ยนการใช้พลังงานไปหมดสิ้น

ตัวอย่างเดียวก็น่าจะเพียงพอที่ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อมันสมองของมนุษย์ บวกกับแรงบีบคั้นจากภาวการณ์สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งบังคับให้ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาโลกใบนี้เอาไว้ และการเหลียวหันมามองของเสีย ก่อนจะเปลี่ยนมันเป็นพลังงานมันจึงเกิดขึ้น และถึงแม้จะเป็นก้าวเล็กๆ ในสนามบินของมิวนิค แต่เชื่อว่ามันจะเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ และน่าเลียนแบบสำหรับอีกหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงเมืองไทยของเราเองด้วย

อ้างอิง

https://www.bioenergy-news.com/news/munich-airports-passenger-bus-biogas-trial-recognised-in-awards/

https://airportindustry-news.com/munich-receives-innovation-award-for-sustainable-mobility/

 

กันติพิชญ์  ใจบุญ
กันติพิชญ์ ใจบุญ ผู้สื่อข่าวสายพลังงาน วัยรุ่น (ตอนปลาย) ที่สนใจพลังงานทดแทน - สิ่งแวดล้อม

Mostview

คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท

ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ซึ่งมีการพูดถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อน และรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาได้สบายขึ้น

กล้าพอไหม! Airbnb เปิดให้เข้าพักบ้านลอยฟ้า มีลูกโป่งกว่า 8,000 ใบ โยงติดอยู่บนหลังคา

หากอยากจะทำอะไรตื่นเต้นต้องมาทางนี้ เมื่อ Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พักได้เปิดตัวโปรเจคต์ “Icon” เพื่อสร้างประสบการณ์พักผ่อนให้กับลูกค้า เปลี่ยนสิ่งที่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ให้กลายเป็นความจริง

ซีพีออลล์ ทำรายได้ไตรมาส 1/2567 รวม 241,307 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 พบว่าบริษัทมีรายได้รวม 241,307 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

6 วิธีสร้างแนวคิดอย่างยั่งยืนให้ธุรกิจของคุณ แถมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์

การยึดมั่นในเรื่องของความยั่งยืนไม่ได้เป็นประโยชน์กับสภาพแวดล้อม และเศรษฐกิจท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลเชิงบวกให้กับแบรนด์อีกด้วย ดังนั้น เรามาดูกลยุทธ์ทางธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่คนเป็นผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจได้ ผ่านวิธีการเหล่านี้

SmartSME Line