วันพุธ, พฤษภาคม 8, 2567

Mug & Scissors โมเดลธุรกิจ "รถตัดผมเคลื่อนที่" เมื่อไม่สะดวกมาที่ร้าน เราจะไปหาลูกค้าถึงที่เอง

by Smart SME, 16 กันยายน 2564

โควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าร้านตัดผม กลัวแจ๊คพอร์ต “ติดโควิด” แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับรถตัดผมเคลื่อนที่ ที่จะมาให้บริการลูกค้าถึงหน้าบ้าน หรือเปิดให้บริการตามจุดต่างๆ เพื่อตอบสนองคนต้องการตัดผม

"รถตัดผมเคลื่อนที่ Mug & Scissors" เดิมไอเดียนี้ มาจากธุรกิจของคุณพ่อ ของคุณ "ธีรขจร มีนชัยนันท์" เจ้าของแบรนด์ Mug & Scissors โดยก่อนหน้าได้ร่วมทุนทำกับเพื่อนเมื่อหลายปีก่อน แต่ด้วยลักษณะการบริหารงานเป็นคนละทางการกัน จึงได้แยกออกมาทำเป็นของตัวเองและให้คุณธีรขจร เป็นทั้งคนบริหารและเป็นเจ้าของกิจการ โดยตั้งชื่อร้านว่า "Mug & Scissors" ซึ่งทางร้านได้เริ่มวางแผนการทำรถตัดผมเคลื่อนที่ Mug & Scissors ตั้งแต่ตุลาคม 2563 และเริ่มดำเนินการจริงเมื่อประมาณ มกราคม 2564 ที่ผ่านมา

คุณ ธีรขจร เล่าต่อว่า "อันที่จริง การนำรถมาให้บริการตัดผมไม่ใช่ผมเป็นคนแรก ในเชียงใหม่เท่าที่เห็นก็มีแล้วอย่างน้อย 2 แบรนด์ ส่วนในจังหวัดอื่นก็มีมากอยู่ รวมทั้งร้านตัดผมที่เปิดเป็น open air เราจะเห็นได้ว่าเปิดมากขึ้นในช่วงที่โควิดระบาด เพียงแต่ว่าของผมนั้นลงทุนด้านการตบแต่งรถให้ดูโดดเด่น ทันสมัยและแตกต่าง ตัวรถทำมาในสเปคเดียวกันกับรถที่เขาใช้ทำ Foog Truck เพียงแต่รถของ Mug & Scissors ต่อหลังคาให้สูงขึ้นประมาณ 2 เมตร เพื่อให้ลูกค้าเข้าไปในรถไม่รู้สึกอึดอัด รอบรถก็เปิดโล่ง เพื่อให้ข้างในดูสว่าง ข้างนอกก็เห็นสว่างเช่นเดียวกัน ค่ารถตลอดจนค่าตกแต่งทั้งหมดประมาณ 700,000 บาทต่อคัน"

รถตัดผมเคลื่อนที่ Mug & Scissors จะให้บริการเฉพาะตัด-ซอยเท่านั้น ในรถมีโต๊ะให้บริการ 2 ที่นั่ง แต่เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในระยะของการระบาดโควิด-19 จึงดำเนินการตัดผมครั้งละ 1 ท่าน เหตุนี้ทำให้ รถ 1 คันจึงมีช่างตัดผมเพียง 1 คน โดยจะนำรถไปจอดหน้าร้านที่ขอเช่า และขอใช้บริการต่อไฟฟ้าจากหน้าร้านนั้น ไม่มีบริการสระผมหรือทำสีผม เพราะสภาพของรถไม่อำนวยให้ต้องตั้งถังน้ำ จึงทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยลูกค้าผู้ชายส่วนใหญ่ก็เข้ามาตัดเพียงอย่างเดียว ก็พอใจแล้ว ทางด้านราคาที่ให้บริการตัด-ซอยอยู่ระหว่าง 150-200 บาท

.

.

.

สำหรับประเภทของการให้บริการมีทั้งจอดรถให้บริการในสถานที่ประจำ และบริการเดลิเวอรี่ไปให้บริการตัดถึงบ้าน โดยในช่วงเช้า 8.00-13.00 น.เป็นการให้บริการเดลิเวอรี่ถึงบ้าน ส่วนช่วงบ่ายตั้งแต่ 13.00-20.00 น.ให้บริหารในสถานที่ประจำ รถแต่ละคันจะให้บริการประมาณ 17-18 คนต่อวัน

"ตอนเริ่มทำใหม่ๆ ลูกค้าไม่กล้าเข้ามาตัด เพราะเห็นว่ารถสวย คงราคาแพง ช่วง 1-2 เดือนแรกมีแต่มาถ่ายรูปเซลฟี่กับรถ แต่ต่อมาเราแก้ปัญหาด้วยการทำป้ายประกาศราคาการให้บริการ ทำให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น" คุณ ธีรขจร กล่าวและเล่าต่อไปว่า

ตั้งแต่ทำรถให้บริการมาประมาณเกือบ 9 เดือนแล้ว ตอนช่วงรอยต่อระหว่างโควิดระยะ 2 ต่อ ระยะ 3 ลูกค้าให้ความสนใจมาก รายได้ต่อคันต่อเดือนตกประมาณราว 30,000-40,000 บาท แต่พอการระบาดในระลอกที่ 3-4 มีล็อกดาวน์ จำนวนผู้ติดเชื้อมาก ส่งผลให้ยอดการให้บริการลดลงมาเกือบ 60%

.

.

.

ร้านรถตัดผมเคลื่อนที่ Mug & Scissors ลงทุนซื้อรถครั้งเดียว 5 คัน ไม่ได้ลงทุนซื้อแบบทยอยทีละคัน มีรถให้บริการอยู่ที่เชียงใหม่ 4 คัน กรุงเทพฯ 1 คัน

"การให้บริการที่เชียงใหม่เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วยังคงมีกำไรอยู่ ในขณะที่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยคุ้มที่จะให้บริการในลักษณะนี้ เพราะต้นทุนค่าเดินทางไปให้บริการแพงกว่าอยู่เชียงใหม่ ส่วนการจอดให้บริการประจำที่ค่าเช่าก็แพง ขณะนี้มีความคิดที่จะนำรถที่ให้บริการที่กรุงเทพฯกลับขึ้นมาที่เชียงใหม่ และถ้าหากจะขยาย ขอขยายในต่างจังหวัดก่อน ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ไปมาได้ทั่วถึงกว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางคุ้มทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ นอกจากนี้ขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะขยายเป็นแฟรนไชส์ เพราะเพิ่งเริ่มดำเนินการ Model ธุรกิจยังไม่นิ่ง มีปัจจัยต่างๆ ที่ต้องแก้ไขก่อน สิ่งที่พอจะทำได้ หากมีคนสนใจคือมายืมรถไปทดลองทำสัก 6-7 เดือนก่อน หากไปได้ค่อยมาคุยกัน" คุณ ธีรขจรกล่าวสรุปทิ้งท้ายในที่สุด

จุดเด่นของการให้บริการ Mug & Scissors รถตัดผมเคลื่อนที่

1. ลักษณะรถโดดเด่น แตกต่างจากร้านตัดผมโดยทั่วไป
2. ตอบโจทย์ในยุคโควิด-19
3. ถูกใจผู้บริโภคยุคใหม่ ต้องการบริการตรงถึงบ้าน
4. ราคาไม่แพง ผู้บริโภคเอื้อมถึง
5. รายได้ในช่วงไม่ล็อกดาวน์อยู่รอดได้

.


Mostview

ผลกระทบขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจทำให้สินค้าขยับราคาขึ้น 15%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชน ทั้งในภาคส่วนการผลิต การค้า และบริการ การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

KFC มาเลเซียปิดกว่า 100 สาขา เพราะถูกชาวมุสลิมคว่ำบาตรธุรกิจสัญชาติสหรัฐฯ

KFC แฟรนไชส์สัญชาติอเมริกันกำลังตกเป็นเป้าหมายการรณรงค์คว่ำบาตรธุรกิจของประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับอิสราเอลที่ทำสงครามกับชาวปาเลสไตน์จนมีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

นี่คือเหตุผล เพราะอะไรการทำงานหนักไม่การันตีว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป

ทุกคนมักคิด และถูกปลูกฝังมาตลอดว่าให้ทำงานหนักเข้าไว้ แล้วผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่นี่อันเป็นความเชื่อที่ผิดก็ได้ หากเราตั้งข้อสงสัยว่า “ความหมายการทำงานหนักที่แท้จริงคืออะไร?” ทำไมผู้คนต่างทำตาม และดิ้นรนให้เกิดขึ้นจริง

เศรษฐกิจไม่ดี! KFC-Pizza Hut ในจีน ดึงกลยุทธ์สุดฤทธิ์เรียกลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

Yum China Holdings เจ้าของ KFC และ Pizza Hut เชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในจีน วางแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มในพื้นที่ที่ยังไม่เคยเปิด โดยใช้กลยุทธ์ขายเมนูในราคาต่ำเพื่อดึงลูกค้าเข้ามาในจำนวนมาก

SmartSME Line