วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2567

ธนาคารกรุงเทพ สนับสนุนศักยภาพเอสเอ็มอีไทยเจาะตลาดเวียดนาม

by Smart SME, 30 มีนาคม 2560

ธนาคารกรุงเทพ เล็งเห็นโอกาสสนับสนุนผู้ประกอบการจัดงานสัมมนา “เวียดนาม ขุมทองของ SME ไทย” นับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามสำหรับงานสัมมนา “เวียดนาม ขุมทองของ SME ไทย” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเรเนซองส์ ถ.ราชประสงค์ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม
ภายในงานดังกล่าวยังได้รับเกียรติจาก คุณวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงานสัมมนาถึงความสำคัญของประเทศเวียดนามต่อผู้ประกอบการไทยสำหรับการเข้าไปลงทุนได้อย่างน่าสนใจอีกด้วยว่า ประเทศเวียดนามนับว่าเป็นตลาดการค้าการลงทุนที่มีศักยภาพและได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการไทยอย่างมาก เนื่องจากปัจจัยของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะจากการประเมินของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้าเวียดนามจะมีอัตราเฉลี่ยการเจริญเติบโตที่ร้อยละ 6.3 รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยังกล่าวอีกว่า เวียดนามในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้าประชากรชนชั้นกลางมีมีมากขึ้นถึง 30 ล้านคน ขณะที่ปัจจุบันเวียดนามมีประชาชนเกือบ 100 ล้านคน ซึ่งอยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาวมากกว่าร้อยละ 60 ส่งผลให้มีความได้เปรียบในแง่การตั้งอุตสาหกรรมการผลิต ผนวกกับข้อตกลงเขตการค้าเสรี และสิทธิพิเศษด้านการค้าการลงทุน ยิ่งทำให้เวียดนามนั้นเต็มไปด้วยโอกาสทองมากมายสำหรับนักธุรกิจ และนักลงทุน จากนั้น คุณปิตินันทน์ สมานวรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ยังกล่าวเสริมในหัวข้อสัมมนาพิเศษ  “เวียดนาม ขุมทองของ SME ไทย” อีกว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้าเวียดนามจะมีอภิมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นถึง 540 คน เป็นอัตราการขยายตัวที่เร็วที่สุดในโลกของบุคคลที่มีรายได้ นอกจากนี้ภาษีจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากความเป็นตลาดเดียว (Single Market) ของประชาคมอาเซียน ขณะที่ คุณกานต์ ชัยวานิชกิจ Assistant Managing Director บริษัท Thai Corp International Vietnam Co.,Ltd. ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจในเวียดนามกว่า 22 ปี แนะนำกลยุทธ์เพิ่มเติมว่า เอสเอ็มอีที่ต้องการเข้าไปลงทุนในเวียดนามจำเป็นต้องเข้าไปสำรวจตลาดทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เนื่องจากความนิยมคนแต่ละภาคนั้นแตกต่าง ซึ่งเทคนิคที่อยากแนะนำคือการให้พนักงานหรือตัวเอสเอ็มอีเองมาอยู่ที่เวียดนาม 1 เดือน โดยเริ่มจากภาคใต้เข้าไปใช้ชีวิต กิน นอน เดิน เที่ยว ทั้งห้างสรรพสินค้า และตลาด จากนั้นย้ายไปอยู่ภาคกลาง และตามด้วยภาคเหนือ ทำแบบนี้สัก 1 เดือน และจะสามารถเข้าใจเวียดนามมากขึ้น “การสำรวจตลาดที่จำเป็นที่สุด เอสเอ็มอีที่บินไปบินมาอยู่วันสองวันจะไม่สามารถมองเห็นและสำรวจตลาดได้เท่ากับการไปอยู่ 1 เดือน” คุณกานต์ ชัยวานิชกิจกล่าว ด้าน คุณอดิศักดิ์ ประเสริฐศรี กรรมการผู้จัดการ Chance and Challenge Co.,Ltd. จากเอสเอ็มอีรายเล็กที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามร่วม 11 ปี โดยการนำเข้าสินค้าไทยเข้าไปกระจายสินค้าในเวียดนาม ทำหน้าที่เป็นเหมือน Exclusive Distributor ได้แนะนำเพิ่มเติมว่า ตัวเลขประชากรเวียดนามตอนนี้มีราว 94 ล้านคน ส่วน GDP นับว่าโตเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาค ซึ่งโดยส่วนตัวได้ให้ความสนใจไปถึงอนาคตการค้าในเวียดนามเลยว่าอีก 10 ปีทิศทางผู้บริโภคในเวียดนามจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร คุณอดิศักดิ์ อธิบายต่อว่า การวิเคราะห์ความต้องการที่ผ่านมาจึงวิเคราะห์ไปที่กลุ่มประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปและพบว่าในอนาคตอีก 10 ปีนี้จะขยายตัวกลายมาเป็นผู้นำการตลาด อีกทั้งประชากรเวียดนามยังอยู่ในช่วงมีความต้องการบริโภคสูง เนื่องจากชนชั้นกลาง คนรวย และระดับอภิมหาเศรษฐีกำลังขยายตัวอย่างก้าวกระโดด จึงทำให้เป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับนักธุรกิจไทย นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังสนับสนุนนักธุรกิจในประเทศและต่างชาติอย่างมาก จึงเกิดความตื่นตัวกลายเป็นกำลังซื้อมหาศาล แต่อย่างไรก็ตามด้านสิ่งที่ต้องพึงระวัง คุณอดิศักดิ์ ยังแนะนำอีกว่า ในแง่รายได้ของประชากรยังต้องให้ความสำคัญอยู่  เนื่องจากประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 5 พันดอลลาร์สหรัฐ/ปี ยังอยู่ที่ 33% นั่นเท่ากับว่ากำลังซื้อคนเวียดนามยังไม่เท่าคนไทย เพราะฉะนั้นสินค้าที่จะเข้าไปเวียดนามอาจจะต้องดูเรื่องบรรจุภัณฑ์และทำขนาดสินค้าเล็กลงเพื่อปรับราคาให้คนเวียดนามสามารถเข้าถึงได้ “ผมเชื่อว่าส่วนสำคัญที่สุดของการทำตลาดเวียดนามคือการไม่ทิ้งเรื่องของการทำ Consumer Survey ให้ละเอียดก่อนที่จะลงตลาดว่าผู้บริโภคเป็นอย่างไร” คุณอดิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย ในส่วนของ คุณธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ SVP ผู้จัดการทั่วไป ธนาคารกรุงเทพ ประเทศเวียดนาม กล่าวเสริมอีกว่า การเข้าตลาดเวียดนามหากจะเข้าในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้นับว่าตลาดเวียดนามเป็นตลาดที่เข้ายากตลาดหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จะอาศัยตัวแทนกระจายสินค้า (Distributor) ท้องถิ่นเพื่อจะมากระจายสินค้าให้อย่างเดียว ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคืออย่างที่คุณกานต์ ชัยวานิชกิจ แนะนำไป ต้องเข้ามาสำรวจตลาดด้วยตนเองในระยะเวลา 1 เดือน ที่สำคัญในฐานะของสถานบันการเงินจากประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพยังเป็นดั่งเสาหลักของนักลงทุนในประเทศเวียดนาม “ท่านสังเกตไหมครับว่าทำไมคนที่ทำธุรกิจในเวียดนามต้องอยู่เกิน 10 ปีทุกคน คุณกานต์ 22 ปี คุณอดิศักดิ์ 13 ปี และตัวผม 12 ปี เพราะการทำธุรกิจในเวียดนามต้องอาศัยการสะสมความรู้ Local Knowledge กับ Local Connection ซึ่งเป็นสองสิ่งที่ต้องใช้เวลามาก ท่านต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเป็นเวลา พอผ่านเข้าปีที่ 4 ท่านไม่ต้องจ่ายแล้วท่านจะเรียนรู้ว่าจะเอาตังคืนได้อย่างไร” คุณธาราบดีกล่าว ที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพมีโอกาสให้บริการนักธุรกิจไทยในเวียดนามอย่างเต็มที่เพราะมีถึง 2 สาขา คือที่นครโฮจิมินห์ และฮานอย เพราะฉะนั้นนักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนามให้นึกถึง ‘ธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์’ และ ‘ธนาคากรุงเทพ’ ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการอาจจะไม่ค่อยได้ทำธุรกรรมกับธนาคารกรุงเทพ ทางธนาคารก็ยินดีให้ข้อมูลสามารถโทรติดต่อเข้ามานัดคุยและขอข้อมูลได้ คุณธาราบดี แนะนำเพิ่มเติมเรื่องการเงินอีกว่า ในเวียดนามเรื่องการชำระเงินไม่มีเรื่องการทำเช็คเคลียริ่ง ผู้ประกอบการไม่สามารถสั่งจ่ายเป็นเช็คเงินได้ ในปัจจุบันชาวเวียดนามยังใช้การโอนเงินระหว่างธนาคารอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 – 3 ปีที่ผ่านรัฐบาลเวียดนามมีการตั้งเป้าให้หากธุรกรรมทีมีการซื้อขายสินค้าเกิน 20 ล้านดงเวียดนาม (VND) ห้ามจ่ายเป็นเงินสดเด็ดขาด ต้องใช้การโอนเงินระหว่างบัญชี ระหว่างธนาคาร หรือธนาคารเดียวกันเท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบการไม่ต้องกังวลเพราะระบบเป็นออนไลน์ทั้งหมดสามารถโอนได้ในทันที นอกจากนี้ คนเวียดนามใช้อินเทอร์เน็ตถึง 50 ล้านคน ในนั้นมีถึง 35 ล้านคนใช้อีคอมเมิร์ซ ปัจจัยดังกล่าวกลายเป็นเครื่องบ่งชี้ที่สำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเริ่มใช้อีคอมเมิร์ซในเวียดนาม และยังตั้งเป้าให้ปี 2020 มีการ Shopping Online ต่อการใช้จ่ายต่อหัวประชากรถึง 250 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ และปัจจุบันชาวเวียดนามมีบัตรเอทีเอ็ม 110 ล้านใบ เกิน 85% ใช้เพื่อการถอนเงิน โดย 14% ใช้เพื่อการโอนเงินผ่านเอทีเอ็ม 1% เป็นการใช้จ่ายผ่านบัตรเอทีเอ็ม อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไม่สามารถเอาเงินออกนอกประเทศเวียดนามได้ ซึ่งมีกฎระเบียบห้ามเอาเงินออกนอกประเทศเวียดนามเกิน 5 พันเหรียญดอลลาร์สหรัฐ การทำธุรกิจในเวียดนามจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดกระเป๋าหิ้วของไปขายแล้วนำเงินกลับ “ท่านอาจนำเงินที่ได้มา แล้วมาที่ธนาคารแล้วต้องตรวจสอบว่าสินค้านั้นผ่านการเข้ามาทำการขายไปอย่างถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายของเวียดนามหรือไม่ สำหรับชาวต่างชาตินั้นถูกกำหนดไว้หมดแล้วทุกประตู ทุกระบบ ทุกวิธี เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องภาษี และเป็นเป้าหมายสูงสุดของเวียดนาม” คุณธาราบดีกล่าวทิ้งท้าย
ธนาคารกรุงเทพ ใส่ใจให้บริการนักลงทุนในย่านอาเซียนด้วยบริการเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน เรามีสาขาของธนาคารอยู่ในย่านอาเซียน 9 สาขาใน 10 ประเทศเพื่อให้บริการท่าน สนใจติดต่อได้ที่ศูนย์ AEC Connect ชั้น 2 สำนักธุรกิจ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ อีเมล: [email protected] สายด่วน 1333
 

Mostview

คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท

ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ซึ่งมีการพูดถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อน และรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาได้สบายขึ้น

กล้าพอไหม! Airbnb เปิดให้เข้าพักบ้านลอยฟ้า มีลูกโป่งกว่า 8,000 ใบ โยงติดอยู่บนหลังคา

หากอยากจะทำอะไรตื่นเต้นต้องมาทางนี้ เมื่อ Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พักได้เปิดตัวโปรเจคต์ “Icon” เพื่อสร้างประสบการณ์พักผ่อนให้กับลูกค้า เปลี่ยนสิ่งที่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ให้กลายเป็นความจริง

พาชมงาน MONEY EXPO 2024 โซน Franchise SMEs มีธุรกิจอะไรน่าลงทุน

เริ่มไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับงาน MONEY EXPO 2024 ที่อาคารชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยภายงานในงานได้มีสถาบันทางการเงินที่นำบริการสินเชื่อต่าง ๆ มานำเสนอให้กับผู้ที่สนใจมองหาแหล่งทุนสำหรับนำไปใช้ในเรื่องต่าง

ซีพีออลล์ ทำรายได้ไตรมาส 1/2567 รวม 241,307 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 พบว่าบริษัทมีรายได้รวม 241,307 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

SmartSME Line