วันพุธ, พฤษภาคม 8, 2567

รู้จัก P2P Lending ช่องทางกู้เงินทำธุรกิจ รูปแบบใหม่

by คอลัมน์นิสต์ : จิ้งจอกการเงิน, 14 พฤศจิกายน 2561

หลายคนอาจยังไม่คุ้นหูมากนัก หากพูดถึง P2P Lending (Peer to Peer Lending) แต่ถ้าบอกว่า เป็นการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลผ่านแพลตฟอร์มบนออนไลน์ คงถึงบางอ้อกันบ้าง

P2P Lending ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในหลายชาติ ค่อนข้างนิยมอย่างแพร่หลาย กรณีผู้ที่ต้องการเงินทุน ถูกสถาบันการเงินปฏิเสธคำขออนุมัติสินเชื่อ จึงต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ ซึ่ง P2P Lending เป็นทางเลือกใหม่ และตอบโจทย์ผู้ประกอบการเริ่มต้นอย่างสตาร์ทอัพ หรือธุรกิจเอสเอ็มอีได้ดี

สำหรับ P2P Lending ในไทย ทางกระทรวงการคลัง ได้ควงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่างหลักเกณฑ์และจะออกประกาศเร็วๆนี้ เพื่อให้ผู้ที่อยากทำแพลตฟอร์ม P2P Lending เข้ามาดำเนินธุรกิจนี้ได้อย่างถูกต้อง และเป็นแหล่งเงินใหม่ของประเทศ นอกเหนือจากสถาบันการเงิน

'การที่ธปท.เข้ามาดูแลในแพลตฟอร์ม เป็นสิ่งที่จะช่วยการันตีไถึงความน่าเชื่อถือ มากกว่าเดิมที่อยู่แบบลอยๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือบุคคลที่ต้องการขอกู้เพื่อทำธุรกิจ ได้มีเงินทุน'

หลักการคือ เพียงผู้ขอกู้ยื่นความต้องการขอสินเชื่อกับแพลตฟอร์ม P2P Lending จากนั้นแพลตฟอร์มจะคำนวณความเสี่ยง และตัวโครงการที่ขอสินเชื่อ เพื่อทำการแมทชิ่ง ค้นหาผู้ให้กู้ที่เหมาะสม ซึ่งผู้ให้กู้อาจมีหลายแห่งก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น ผู้กู้ต้องเป็นบุคคลธรรมดา ยื่นโครงการทำธุรกิจไปที่แพลตฟอร์ม P2P Lending จากนั้นแพลตฟอร์มจะพิจารณาความเสี่ยง พร้อมแสดงข้อมูลที่จำเป็นให้ผู้ที่จะปล่อยกู้ หากใครสนใจ ก็สามารถให้กู้ยืมผ่านแพลตฟอร์มได้ โดยจะมีตัวแทนรับฝากเงินเอสโครว์ เอเย่นต์เป็นผู้ดูแลเงิน

แพลตฟอร์ม P2P Lending จะเป็นผู้คำนวณความเสี่ยงให้ทั้งหมด โดยสถาบันการเงินไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยว ทั้งคำนวณคะแนนเครดิต (เครดิต สกอริ่ง) ตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ รวมถึงข้อมูลจำเป็นอื่น เช่น ประวัติการทำงาน รายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับผู้ขอกู้รายนั้น

ทั้งอัตราดอกเบี้ย ยังต่ำกว่าสถาบันการเงินบางแห่ง เนื่องจากกระทรวงการคลังและ ธปท.มองว่าควรให้อยู่ที่ระดับไม่เกิน 15% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าการกู้หนี้นอกระบบ ที่ต้องเสียดอกเบี้ยถึง 5-20% ต่อเดือน

สำหรับคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะดำเนินธุรกิจใน P2P Lending Platform จะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในไทย มีทุนขั้นต่ำ 5 ล้านบาทตลอดระยะเวลาการประกอบธุรกิจ และมีคนไทยถือหุ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 75%

ส่วนผู้กู้ ที่เป็นบุคคลธรรมดาจะต้องไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ และไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ P2P Lending โดยผู้ให้กู้ที่เป็นรายย่อย สามารถร่วมปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปีในทุกแพลตฟอร์ม คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี ซึ่งผู้ขอกู้สามารถกู้ได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อโครงการ

แต่สิ่งที่ไม่อาจมองข้าม คือความท้าทายของการกู้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะระหว่างผู้ให้กู้ กับผู้ขอกู้ จะไม่ได้เจอหน้ากันเลย และ P2P Lending ในไทย ยังเป็นเรื่องใหม่ ทำให้ผู้ต้องการเงิน อาจยังกลัวและไม่กล้าเสี่ยงที่จะใช้บริการ ไม่เหมือนกับก้าวเข้าสถาบันการเงิน แต่อย่างที่บอกไว้... P2P Lending เป็นเพียงอีกทางเลือก เมื่อต้องการเงินทุนทำธุรกิจ



Mostview

ผลกระทบขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจทำให้สินค้าขยับราคาขึ้น 15%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชน ทั้งในภาคส่วนการผลิต การค้า และบริการ การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

KFC มาเลเซียปิดกว่า 100 สาขา เพราะถูกชาวมุสลิมคว่ำบาตรธุรกิจสัญชาติสหรัฐฯ

KFC แฟรนไชส์สัญชาติอเมริกันกำลังตกเป็นเป้าหมายการรณรงค์คว่ำบาตรธุรกิจของประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับอิสราเอลที่ทำสงครามกับชาวปาเลสไตน์จนมีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

Wang Ning เจ้าของ Pop Mart ผู้กลายมาเป็นเศรษฐีจากการขายตุ๊กตา Molly ราคา 300 กว่าบาท ทั่วจีน

Pop Mart ร้านขายของเล่น Art Toys ชื่อดัง ที่ชั่วโมงนี้ไม่มีนักสะสมคนไหนไม่รู้จัก พร้อมที่จะมุ่งไปทันทีหากมีการเปิดขายคอลเล็กชันตัวละครใหม่ จนต้องมีการลงทะเบียนเพื่อรับคิวในการเข้าซื้อกันเลยทีเดียว

นี่คือเหตุผล เพราะอะไรการทำงานหนักไม่การันตีว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป

ทุกคนมักคิด และถูกปลูกฝังมาตลอดว่าให้ทำงานหนักเข้าไว้ แล้วผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่นี่อันเป็นความเชื่อที่ผิดก็ได้ หากเราตั้งข้อสงสัยว่า “ความหมายการทำงานหนักที่แท้จริงคืออะไร?” ทำไมผู้คนต่างทำตาม และดิ้นรนให้เกิดขึ้นจริง

SmartSME Line