วันพุธ, พฤษภาคม 15, 2567

EGA ทางออกของการบริหารการจัดการข้อมูลสารสนเทศรัฐกิจในยุค Digital

by Smart SME, 18 เมษายน 2557

ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากยุค Analog สู่ Digital ของการบริหารรัฐกิจในลักษณะต่างคนต่างทำ หรือตัวใครตัวมันในหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่นอกจากจะสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาลต่อปี ไม่นับรวมถึงความยุ่งยากในการบริหารรัฐกิจ และการรักษาความปลอดภัยในสารสนเทศของภาครัฐ ที่มีความเสี่ยงจะถูกเปลี่ยนแปลง ทำลาย หรือโจรกรรมจากผู้ไม่ประสงค์ดีได้โดยง่าย

                กอปรกับเมื่อเทคโนโลยีได้ก้าวข้ามข้อจำกัด ทั้งในด้านสถานที่ เวลา และอุปกรณ์ (Devices) ส่งผลให้ความต้องการใช้ข้อมูลและสารสนเทศ (Information) ของผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยเฉพาะความต้องการสารสนเทศที่มีความหลากหลาย เร็ว และลึก กว่าอดีตที่ผ่านมา เพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายหรือการดำเนินงานใดๆ ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

                การบริหารและจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) ของหน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐ จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา ปรับปรุง และยกระดับการดำเนินงาน ให้สามารถบูรณาการหรือ Integration การดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน แม้จะอยู่ต่างกรม ต่างกระทรวง

                จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ e-Government Agency (EGA) ที่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของภาครัฐที่ควรทราบ แต่ยังหมายรวมถึงประชาชน และภาคธุรกิจ ที่ควรศึกษาถึงบทบาทและหน้าที่ของ EGA ไปพร้อมกันด้วย

 

วิเคราะห์ปัญหา : เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ของภาครัฐ

                หากเคยมีโอกาสติดต่อส่วนราชการต่างๆ ไม่ว่าจะระดับอำเภอ จังหวัด หรือหน่วยงานระดับกรม และกระทรวง จะพบหรือได้เห็นความแตกต่างด้าน IT ของแต่ละหน่วยงาน ตั้งแต่ชุดอุปกรณ์ Computer ชุด Software ในการดำเนินงาน การเข้าถึงและความเร็วของเครือข่าย Internet และที่สำคัญ คือ ความรู้ ความเข้าใจของบุคลากรในการดำเนินงานด้าน IT ต่างๆ

                จึงมักพบว่าการดำเนินงานของภาครัฐในหลายวาระ จะประสบปัญหาการดำเนินงาน ในกรณีที่จำเป็นต้องประสานการดำเนินงานระหว่างหน่วยงาน แม้จะเป็นหน่วยงานภายในกรม หรือกระทรวงเดียวกัน จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่อยู่ต่างกระทรวง ที่ย่อมมีความลักลั่นในด้านสารสนเทศระหว่างกันอยู่เสมอ

                ปัญหาด้าน IT ของหน่วยงานภาครัฐดังกล่าว คือ การขาดความเป็นมาตรฐานที่ทุกหน่วยงาน ทุกกรม ทุกกระทรวง ควรมีและใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเมื่อขาดความเป็นมาตรฐานจึงทำให้แต่ละหน่วยงานต่างกำหนดแนวทางการบริหารและจัดการด้าน IT ของหน่วยงานตามกรอบวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกัน ในลักษณะต่างคนต่างทำ หรือตัวใครตัวมัน จึงนอกจากจะไม่สามารถเชื่อมประสานการดำเนินงานระหว่างกันได้อย่างสมบูรณ์ ยังมีผลต่อการสิ้นเปลืองงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐ เพื่อการจัดการด้าน IT เป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี

                ปัญหาดังกล่าวนี้ เป็นที่ทราบและพบได้ ในกว่า 2 ทศวรรษ กระทั่ง มีการจัดตั้งสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (Government Information Technology Services : GITS) เมื่อปี พ.ศ. 2540 ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลมีนโยบาย ICT 2020 ซึ่งเป็นกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยในระยะยาว ที่ต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารรัฐกิจไปสู่การบริหารและจัดการที่ทันสมัย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น และสร้างความเท่าเทียมแก่ประชาชนในการได้รับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ โดยใช้ IT เป็นเครื่องมือสำคัญ จึงได้จัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ Electronic Government Agency (EGA) เพื่อเป็นหน่วยงานด้านการบริหารและจัดการโครงสร้างสารสนเทศ รวมถึง ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่บุคลากรและหน่วยงานภาครัฐในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT) ในการดำเนินงาน ควบคู่กับการเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยจากบริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐต่อไป

 

รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government)

                บทบาทในภาพรวมของ EGA จะให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในเชิงปฏิบัติการด้านการบริหารและจัดการระบบ ICT แก่หน่วยงานภาครัฐ นับตั้งแต่การลดความซ้ำซ้อนในการใช้งานระบบเครือข่าย (Network) ของหน่วยงานต่างๆ มาสู่การใช้บริการเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ที่สามารถรองรับการรับ-ส่ง และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย หรือบริการระบบ Cloud ของภาครัฐ (Government Cloud Service) ซึ่งเป็นรูปแบบการการดำเนินงานในลักษณะของการแบ่งปันทรัพยากรด้าน ICT ร่วมกัน เช่น ส่วนประมวลผล พื้นที่จัดเก็บข้อมูล หรือระบบเครือข่าย และการบริการอื่นๆ ที่ EGA จัดเตรียมเพื่อให้บริการได้อย่างรวดเร็ว และลดภาระการบริหารจัดการของผู้ดูแลระบบในหน่วยงานต่างๆ ให้น้อยที่สุด รวมถึง การจัดทำมาตรฐานการพัฒนาระบบ IT และ Website ของหน่วยงานภาครัฐ ให้มีความเป็นมาตรฐานและเอกภาพ เป็นต้น

                โดยปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐจำนวนมากได้เข้าร่วมปรับปรุงแนวทางการบริหารและจัดการระบบงาน ICT ของหน่วยงานให้สอดคล้องกับแผนงานและเป้าหมายสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Government ดังจะพิจารณาได้จากการที่กระทรวงยุติธรรมจะผลักดันให้ทุกหน่วยงานในสังกัด มาใช้เครือข่าย GIN และระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Saraban) ของ EGA เพื่อลดปัญหาด้านความลักลั่นเกี่ยวกับงานสารบรรณของกระทรวงยุติธรรมให้เกิดเป็นมาตรฐานเดียวกัน และใช้งานเอกสารร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ โดยไม่จำเป็นต้องจัดทำเอกสารซ้ำซ้อนเช่นในอดีต

 

รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ

                หากหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงาน สามารถปรับตัวเองสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ได้ดังเป้าหมายหรือตามกรอบนโยบาย ICT 2020 ย่อมส่งผลดีและสร้างประโยชน์แก่ประชาชนได้ในที่สุด เพราะรัฐบาล หรือส่วนงานราชการต่างๆ จะสามารถกำหนดนโยบายการบริหารรัฐกิจให้มีคุณภาพและเหมาะสมได้มากขึ้น ในขณะที่เม็ดเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่เคยสูญเสียไปกับกิจกรรมที่มีความซ้ำซ้อนในหลายๆ หน่วยงาน จะสามารถนำไปพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ได้

                และประโยชน์ที่ไม่สามารถมองข้ามได้จากการมีรัฐบาลอเล็กทรอนิกส์ คือ การเพิ่มโอกาสและความเท่าเทียมกันของประชาชนในการใช้บริการต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ในกรณีของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงยุติธรรม ได้นำระบบ VDO Conference ของ EGA มาประยุกต์ใช้ในบริการระบบเยี่ยมญาติ ระหว่างผู้ปกครองของเด็กหรือเยาวชนที่ได้รับการคุ้มครอง ให้สามารถติดต่อถึงกันได้อย่าง Real Time โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ส่งผลทั้งในด้านความสะดวก และลดปัญหาการจัดการด้านอื่นๆ ของกรมพินิจฯ ได้ เป็นต้น

 


Mostview

4 สิ่งของคนเลี้ยงลูกประสบความสำเร็จไม่เคยสอนตอนเมื่อลูกยังเล็ก

ครอบครัวถือเป็นสถาบันหลักสำคัญในการสั่งสอนลูกว่าจะเป็นคนอย่างไร โดยช่วงเวลาที่ผ่านมาเราได้ยินว่าควรทำอย่างไรกับลูกของเรา และเรื่องไหนที่ไม่ควรทำกับลูกของเรา

แม็คโคร-โลตัส ไตรมาสแรกปี 2567 ทำรายได้รวม 127,020 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,481 ล้านบาท

บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT เผยผลประกอบการในช่วงไตรมาส 1/67 พบว่ามียอดรายได้รวม 127,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน มีกำไรสุทธิ 2,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน

เกษตรกรเวียดนามไม่ทนหันปลูกทุเรียนส่งออกจีนแทนปลูกกาแฟที่ขาดแคลน แถมราคาถูกกว่า

ราคากาแฟโรบัสต้าทั่วโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยเวียดนามซึ่งเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟรายใหญ่ที่สุด กำลังต่อสู้กับภัยแล้ง รวมถึงเกษตรกรได้เปลี่ยนมาปลูกทุเรียนแทน

คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท

ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ซึ่งมีการพูดถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อน และรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาได้สบายขึ้น

SmartSME Line