วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 16, 2567

รัฐกระตุ้นส่งออกอาหารไทยปี 2559 คาดขยายตัว 5.8%

by Smart SME, 18 มีนาคม 2559

 
     สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม (http://fic.nfi.or.th/) ได้เปิดเผยผลสำรวจสินค้าอาหารส่งออกไทยปี 2558 จากจำนวนสินค้าหลัก 8 รายการ ประกอบด้วย ข้าว น้ำตาลทราย ไก่ กุ้ง ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง และเครื่องปรุงรส พบว่า 
 
   - สินค้าส่งออกที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมี 3 กลุ่ม คือ น้ำตาลทราย ไก่ และเครื่องปรุงรส 
   - สินค้าส่งออกที่มีปริมาณขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่มูลค่าลดลง คือ กุ้ง สาเหตุเพราะราคากุ้งตกต่ำ 
   - สินค้าที่มีปริมาณส่งออกลดลงแต่มูลค่าเพิ่มขึ้น คือ สับปะรดกระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง 
   - สินค้าส่งออกที่มีปริมาณและมูลค่าหดตัวลดลง คือ ข้าว และปลาทูน่ากระป๋อง
 
     ขณะเดียวกัน ตลาดส่งออกสินค้าอาหารของไทยปี 2558 นั้น ระบุว่า ตลาดอาหารของไทยร้อยละ 59.8 อยู่ในเอเชีย รองลงมาได้แก่ กลุ่มประเทศในอเมริกาเหนือ 13.2 % ยุโรป 11.7% และแอฟริกา 10.7 % ส่วนตลาดในโอเชียเนีย และอเมริกาใต้มีสัดส่วนส่งออกค่อนข้างน้อย โดยตลาดในเอเชียที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น 14.0 % ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในปัจจุบัน รองลงมา ได้แก่ กลุ่มประเทศ CLMV 13.7 % อาเซียนเดิม 11.6% จีน 8.6% ตะวันออกกลาง 4.0% ขณะที่ตลาดอาหารในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือส่วนใหญ่ คือ สหรัฐฯ 11.3% และแคนาดา 1.9%
 
     จากผลสำรวจดังกล่าว สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยถึงแนวโน้มส่งออกอาหารไทยปี 2559 โดยคาดว่าจะมีมูลค่า 950,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 โดยมีหลายปัจจัยสนับสนุนจากแผนงานและโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ เงินบาทอ่อนค่าเทียบกับเงินสกุลหลัก ต้นทุนการผลิตและการขนส่งลดลงตามราคาน้ำมันและวัตถุดิบนำเข้า เศรษฐกิจที่ขยายตัวจากการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ส่งผลทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น
 
     ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่มีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมัน รวมทั้งสินค้าเกษตร ภัยแล้งทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบของอุตสาหกรรมแปรรูป รายได้เกษตรลดลงจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำรวมทั้งภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาแรงงานและการทำประมงผิดกฎหมาย
 
     ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2559 ในกลุ่มสินค้าหลักที่คาดว่าการส่งออกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 
 
   - ไก่ เนื่องจากราคาวัตถุดิบอ่อนตัวตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิต รวมถึงประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะญี่ปุ่นมีความต้องการไก่จากไทยต่อเนื่อง เพราะยังไม่มั่นใจไก่จากจีน
   - ปลาทูน่ากระป๋อง การส่งออกอาจเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในตลาดรองแถบแอฟริกาเหนือ ส่วนตลาดหลักในสหรัฐฯ และยุโรป การบริโภคยังชะลอตัว ขณะที่ปริมาณวัตถุดิบปลาที่จับก็ขยายตัวไม่มาก เนื่องจากราคายังไม่จูงใจ รวมทั้งหลายชาติเริ่มออกมาตรการเข้มงวดในการทำประมง 
   - กุ้ง ผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงประเทศคู่แข่งหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินเดีย กำลังประสบปัญหาโรคระบาด จึงเป็นโอกาสของไทยในการดึงส่วนแบ่งตลาดที่เสียไปกลับคืนมา แต่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณวัตถุดิบกุ้งว่าจะสามารถเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยในเบื้องต้นคาดว่า ผลผลิตกุ้งไทยจะอยู่ที่ 3 แสนตัน คิดเป็นปริมาณเพียงครึ่งเดียวของระดับผลผลิตกุ้งที่ไทยเคยผลิตได้ 
   - เครื่องปรุงรส สินค้าคุณภาพดีและมีเอกลักษณ์ รวมทั้งเป็นสินค้าที่มีภูมิคุ้มกันที่ดี เพราะมีตลาดกระจายอยู่ทั่วโลกโดยไม่ได้พึ่งพิงตลาดหนึ่งตลาดใดในสัดส่วนที่มากเกินไป 
   - สับปะรดกระป๋อง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจด้านราคา โดยในปี 2558 สับปะรดโรงงานมีราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 10.30 บาทต่อกิโลกรัม สูงเป็นประวัติการณ์จากราคาเฉลี่ยในช่วง 20 ปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 3-4 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้การส่งออกขยายตัว 
 
     อย่างไรก็ตาม จากกลุ่มสินค้าที่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5 ประเภทนั้น ก็มีอีก 3 ประเภทที่การส่งออกมีแนวโน้มลดลง เช่นกัน ประกอบด้วย  
 
   - ข้าว เนื่องจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังของไทยลดลง ทำให้ผู้ส่งออกขาดแคลนข้าวใหม่ในการส่งออก ขณะที่ฝั่งผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาในแถบแอฟริกาก็ยังประสบภาวะเศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อชะลอตัว ประกอบกับตลาดข้าวอันดับ 1 ของไทยคือ ไนจีเรีย ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าข้าวสูงถึงร้อยละ 60 รวมทั้งมีมาตรการเข้มงวดในการนำเงินดอลลาร์ออกนอกประเทศ ทำให้ผู้ซื้อขาดแคลนเงินดอลลาร์ในการชำระค่าข้าว ตลาดข้าวในแอฟริกาโดยเฉพาะไนจีเรียจึงชะลอตัว 
   - น้ำตาลทราย ผลกระทบจากภัยแล้งทำให้พื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยลดลง รวมทั้งภัยแล้งยังทำให้ระดับความหวานของอ้อยมีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพน้ำตาลที่จะผลิตได้ 
   - แป้งมันสำปะหลัง ประสบปัญหาวัตถุดิบมีไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงาน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านมาแปรรูปมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศกัมพูชา 
 
 

Mostview

4 สิ่งของคนเลี้ยงลูกประสบความสำเร็จไม่เคยสอนตอนเมื่อลูกยังเล็ก

ครอบครัวถือเป็นสถาบันหลักสำคัญในการสั่งสอนลูกว่าจะเป็นคนอย่างไร โดยช่วงเวลาที่ผ่านมาเราได้ยินว่าควรทำอย่างไรกับลูกของเรา และเรื่องไหนที่ไม่ควรทำกับลูกของเรา

แม็คโคร-โลตัส ไตรมาสแรกปี 2567 ทำรายได้รวม 127,020 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,481 ล้านบาท

บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT เผยผลประกอบการในช่วงไตรมาส 1/67 พบว่ามียอดรายได้รวม 127,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน มีกำไรสุทธิ 2,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน

เกษตรกรเวียดนามไม่ทนหันปลูกทุเรียนส่งออกจีนแทนปลูกกาแฟที่ขาดแคลน แถมราคาถูกกว่า

ราคากาแฟโรบัสต้าทั่วโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยเวียดนามซึ่งเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟรายใหญ่ที่สุด กำลังต่อสู้กับภัยแล้ง รวมถึงเกษตรกรได้เปลี่ยนมาปลูกทุเรียนแทน

คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท

ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ซึ่งมีการพูดถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อน และรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาได้สบายขึ้น

SmartSME Line