วันอังคาร, พฤษภาคม 7, 2567

กรณีศึกษา Nokia จากแบรนด์มือถือยอดนิยม สู่วันที่ต้องยกเครื่องธุรกิจใหม่

by Anirut.j, 24 ตุลาคม 2566

หากย้อนไปมากกว่า 10 ปีที่แล้ว Nokia ถือเป็นมือถือยอดนิยม ครองใจอันดับ 1 ของคนในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ ด้วยดีไซน์การออกแบบที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ถูกอกถูกใจจนต้องซื้อมาเป็นเจ้าของ

มือถือของ Nokia ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คงหนีไม่พ้น รุ่น 3310 ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่ความแข็งแรง ทนทาน ตกลงพื้นไม่เป็นอะไร รวมถึงมีเกมงูที่หลายคนติดงอมแงม หรือจะเป็น Nokia N-Gage ที่เป็นโทรศัพท์มือถือสุดแปลก ออกแบบมาคล้ายกับ Game Advance นอกจากนี้ยังมีอีกหลายรุ่นที่อยู่ในความทรงจำของผู้ใช้

แต่มาวันนี้ดูเหมือนว่า Nokia จะกลายเป็นสมาร์ทโฟนที่เลือนหายไปตามกาลเวลา แม้ว่าจะคงดำเนินธุรกิจอยู่ก็ตาม เกิดอะไรขึ้นกับ Nokia เรามาหาคำตอบกัน

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ก่อนที่ Nokia จะมาเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ พวกเขาทำมาหลายธุรกิจด้วยกัน ตั้งแต่ผลิตกระดาษ, วิทยุสื่อสาร, หน้ากากกันแก๊สพิษ, ยุทโธปกรณ์-รองเท้ายางสำหรับทหาร อย่างไรก็ตาม ในปี 1990 การมาของ Jorma Ollila ซีโอคนใหม่ ณ ตอนนั้น นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะเขาพา Nokia กลายเป็นบริษัทด้านโทรคมนาคม พัฒนาเครือข่าย

ต่อมาในปี 1992 Nokia ได้เปิดตัวโทรศัพท์มือถือเครื่องแรก และหลังจากนั้นเรื่อยมาสินค้าของพวกเขาก็ได้รับกระแสตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากดีไซน์ที่สร้างความแตกต่าง น่าสนใจ มีระบบปฏิบัติการที่ทันสมัย ทำให้ดึงดูดให้ผู้คนอยากซื้อ

เหล่านี้ทำให้ Nokia สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับธุรกิจ และดูเหมือนว่าแบรนด์ของพวกเขากำลังมาถูกทางแล้ว

ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง จึงทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมามากมาย เช่นเดียวกับ “โทรศัพท์มือถือ” ที่แปรเปลี่ยนกลายเป็น “สมาร์ทโฟน” ที่ทำอะไรได้มากกว่าโทร-เข้า ออก, ส่งข้อความ แต่สามารถสื่อสารพูดคุยระหว่างกัน, ถ่ายรูป, หน้าจอทัชสกรีน รวมถึงเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ดังนั้น เราจึงเห็นผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา ทั้ง blackberry ที่มีการแลกพินของคนใช้ด้วยกัน เอาไว้พิมพ์ข้อความคุยกัน หรือ iPhone ที่เข้ามาเขย่าบัลลังก์กับฟีเจอร์สมาร์ทโฟนแบบไม่เคยมีมาก่อน เรื่องนี้ใช่ว่า Nokia จะไม่รู้ เพราะพวกเขามีความพยายามที่จะพัฒนาระบบปฏิบัติการผ่านโครงการต่าง ๆ ตลอดจนร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ให้สามารถสู้กับแบรนด์ใหม่ ๆ เหล่านี้

สุดท้าย Nokia ต้องพบกับความผิดหวัง ไม่ประสบความสำเร็จจนเกิดความไม่แน่นอนทางธุรกิจ แบรนด์สมาร์ทโฟนใหม่เริ่มเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด นอกเหนือจาก Apple ที่ iPhone เป็นสินค้านำ ยังมี Samsung ที่เข้ามามีบทบาทเป็นคู่แข่งคนสำคัญ สุดท้ายดูเหมือนว่า Nokia จะถูกทิ้งแบบไม่เห็นฝุ่น กลายเป็นการแข่งขันระหว่าง Apple กับ Samsung ไปในที่สุด

Nokia ต้องปรับตัวทางธุรกิจเพื่อให้อยู่รอด โดยผันตัวกลับไปเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม ซึ่งในปี 2023 Nokia ภายใต้การบริหารของ Pekka Lundmark ได้กำหนดกลยุทธ์ใหม่ นั่นคือ “รีเซต-เร่ง-ขยายตัว” และยังดำเนินธุรกิจขายอุปกรณ์ให้กับบริษัทโทรคมนาคม รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ อีกด้วย

ล่าสุด Nokia มีการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งสำคัญ เมื่อเตรียมปลดพนักงานถึง 14,000 คน จากที่มีอยู่ทั้งหมด 86,000 คน เพื่อยกเครื่องธุรกิจใหม่ ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนได้มากถึง 1,200 ล้านยูโร (ภายในปี 2026) อย่างไรก็ตาม พนักงานที่ได้รับผลกระทบบริษัทจะช่วยเหลือตามกฎหมาย

เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า การทำธุรกิจไม่มีอะไรแน่นอน ดังนั้น การเตรียมแผนรับมือ หรือมีทางเลือกรองรับน่าจะเป็นการทำให้ความเสี่ยงเรื่องนี้ลดน้อยลงได้บ้าง ซึ่งการประเมินสถานการณ์ การคาดการณ์ก็เป็นทักษะที่คนทำธุรกิจควรมีเพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

 

 


Mostview

ผลกระทบขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจทำให้สินค้าขยับราคาขึ้น 15%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชน ทั้งในภาคส่วนการผลิต การค้า และบริการ การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

KFC มาเลเซียปิดกว่า 100 สาขา เพราะถูกชาวมุสลิมคว่ำบาตรธุรกิจสัญชาติสหรัฐฯ

KFC แฟรนไชส์สัญชาติอเมริกันกำลังตกเป็นเป้าหมายการรณรงค์คว่ำบาตรธุรกิจของประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับอิสราเอลที่ทำสงครามกับชาวปาเลสไตน์จนมีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

Wang Ning เจ้าของ Pop Mart ผู้กลายมาเป็นเศรษฐีจากการขายตุ๊กตา Molly ราคา 300 กว่าบาท ทั่วจีน

Pop Mart ร้านขายของเล่น Art Toys ชื่อดัง ที่ชั่วโมงนี้ไม่มีนักสะสมคนไหนไม่รู้จัก พร้อมที่จะมุ่งไปทันทีหากมีการเปิดขายคอลเล็กชันตัวละครใหม่ จนต้องมีการลงทะเบียนเพื่อรับคิวในการเข้าซื้อกันเลยทีเดียว

SmartSME Line