วันจันทร์, พฤษภาคม 20, 2567

CTH กำลังจะล่มสลาย จริงหรือ ?

by Smart SME, 6 กรกฎาคม 2559

วิชิต เอื้ออารีวรกุล โดย.....วิชิต เอื้ออารีวรกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มเจริญเคเบิลทีวี หลายคนคงสงสัยว่า คุณวิชัย ทองแตง ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “นักปั้นดินให้เป็นดาว” และนักเล่นหุ้นมือระดับต้นๆของประเทศไทย มาเสียท่าให้กับการทำธุรกิจเคเบิลทีวี ในชื่อ CTH ได้อย่างไร  ใครเป็นคนพาคุณวิชัย มาตกที่นั่งลำบากในวัย 70 ปี หรือคุณวิชัยอยากฝากผลงานชิ้นสำคัญ (The Last Master Piece) ก่อนวางมือไปเลี้ยงหลานเอง ก่อนอื่นต้องบอกว่า คุณวิชัย ทองแตง เป็นเขยจังหวัดสมุทรสาคร ทุกวันนี้มีบ้านปลูกอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง และยังกลับบ้านไปนอนที่สมุทรสาครทุกวัน  ในวันหยุดก็จะไปเดินจ่ายตลาด ที่ตลาดสดแม่กลอง ใส่กางเกงขาสั้น ลากรองเท้าแตะ เดินตามหลังคุณแม่บ้าน ถือตะกร้าเพื่อให้คุณแม่บ้าน เพื่อนำกลับไปทำอาหารรับประทานที่บ้านกับครอบครัว อย่างมีความสุขไม่เคยขาด   คุณวิชัย เกี่ยวข้องกับเคเบิลท้องถิ่นได้อย่างไร ถัดจากบ้านคุณวิชัย ไม่เกิน 100 เมตร เป็นบ้านของ “คุณสุรพล ซีประเสริฐ” อดีตนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ที่มีศักดิ์เป็น น้าเขยของคุณวิชัย ถึงตรงนี้ คงพอมองเห็นความเกี่ยวพันกันแล้วนะครับว่า คุณวิชัยจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจเคเบิลทีวีได้อย่างไร   ต้นเหตุมาจากเรื่องลิขสิทธิ์ คุณสุรพล เดิมมีอาชีพทำประมง เป็นไต้ก๋ง ออกเรือไปหาปลาในท้องทะเล เคยมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมประมง จังหวัดสมุทรสาคร และเคยเป็นเลขาธิการ สมาคมประมงแห่งประเทศไทย เป็นคนทำโครงการน้ำมันเขียว ให้กับชาวประมง เพื่อให้ชาวประมงทั่วประเทศ ได้ใช้น้ำมันในราคาถูก คุณสุรพล เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจเคเบิลทีวี เพราะทำเคเบิลท้องถิ่นอยู่ที่อำเภอกระทุ่มแบน จ. สมุทรสาคร มากว่า 15 ปี และต่อมาได้ร่วมก่อตั้งบริษัท เคเบิลไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) มีชื่อย่อว่า CTH เพื่อแก้ปัญหา ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นถูกกล่าวหาว่าเป็น "เคเบิลเถื่อน" เพราะไปละเมิดลิขสิทธิ์ช่องรายการของ True Visions และเจ้าของลิขสิทธิ์รายอื่น   เคเบิลท้องถิ่นถูกรังแกเป็นประจำ สาเหตุที่เคเบิลท้องถิ่นต้องละเมิดลิขสิทธิ์ ก็เพราะเคเบิลท้องถิ่นแต่ละราย ล้วนเป็นรายเล็ก ไม่สามารถเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการดีๆ จากต่างประเทศ เพื่อนำกลับมาให้บริการกับสมาชิกได้  หรือแม้แต่บางครั้งไปซื้อมาได้ ก็จะถูกเคเบิลเจ้าใหญ่ระดับชาติ เข้าไปเจรจาแย่งซื้อต่อ  โดยเสนอให้ราคาที่สูงกว่า และขอซื้อแบบผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว หรือไม่ก็ไม่ยอมให้เจ้าของลิขสิทธิ์  แบ่งขายลิขสิทธิ์ให้เคเบิลท้องถิ่น  สุดท้าย เมื่อเคเบิลท้องถิ่นซื้อลิขสิทธิ์แบบถูกต้องไม่ได้  ก็ต้องขโมย เคเบิลท้องถิ่น เคยพยายามเรียกร้องให้ภาครัฐ เข้าดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องการป้องกันไม่ให้มีการซื้อลิขสิทธิ์แบบผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว เหมือนดังเช่นในต่างประเทศที่ไม่ยอมให้มีการผูกขาด แต่ไม่เคยได้ผล เพราะภาครัฐบอกว่า เป็นการแข่งขันโดยเสรี และหากเคเบิลท้องถิ่นละเมิดลิขสิทธิ์ ก็จะมีหน่วยงานของทางราชการถึง 7 แห่ง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง มาปราบปราม และสั่งปิดกิจการ  เพื่อไม่ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้  กระทั่งมีคนสงสัยว่า แค่ปราบเคเบิลท้องถิ่น ทำไมจึงต้องระดมถึง 7 หน่วยงาน   เคเบิลท้องถิ่นต้องช่วยตนเอง เมื่อหาใครช่วยแก้ไขปัญหาไม่ได้ “คุณเกษม อินทร์แก้ว” นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยในสมัยนั้น จึงต้องจัดประชุมผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือกันเอง ด้วยการจัดตั้ง บริษัท เคเบิลไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ CTH  ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมเงินไปซื้อลิขสิทธิ์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำช่องรายการที่ซื้อมาได้ มาขายต่อให้กับผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศ ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้เคเบิลท้องถิ่นไปละเมิดลิขสิทธิ์รายอื่น  โดยมีเงื่อนไขว่า CTH จะไม่ทำเคเบิลทีวีแข่งกับผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น   CTH เริ่มต้นด้วยเงิน 50 ล้านบาท การตั้ง CTH ในระยะเริ่มต้น เป็นการลงทุนร่วมกันของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นประมาณ 120 ราย (ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาถือหุ้น) โดยต้องการวงเงินลงทุนเบื้องต้น 50 ล้านบาท และมีข้อกำหนดที่สำคัญคือ ผู้ถือหุ้น 1 รายจะถือหุ้นได้ไม่เกิน 2 ล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เอาเปรียบรายอื่น และเป้าหมายของ CTH ในขณะนั้น ก็เพียงต้องการให้บริษัท มีรายได้เท่ากับรายจ่าย หรือมีกำไรเพียงเล็กน้อย เพื่อกระจายกำไรไปสู่ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นโดยรวม   CTH เริ่มต้นด้วยการเป็น Content Provider ในการดำเนินการครั้งแรก CTH สามารถเจรจาซื้อลิขสิทธิ์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศมาได้ 16 ช่อง และส่งขายให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศ (Content Provider) ส่งผลให้เคเบิลท้องถิ่นมีช่องรายการลิขสิทธิ์ที่ถูกกฎหมายเพิ่มขึ้น การละเมิดลิขสิทธิ์ช่องรายการ จากเจ้าของช่องรายอื่นๆ เริ่มลดลง   CTH ต้องการเพิ่มทุน ต่อมา CTH ต้องการที่จะเพิ่มคุณภาพช่องรายการ และต้องการซื้อช่องลิขสิทธิ์ช่องรายการเพิ่มเติม จึงระดมเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านบาท แต่ด้วยนโยบายที่ไม่ต้องการให้ CTH มีกำไรมาก และด้วยข้อจำกัดของข้อกำหนดให้ ผู้ถือหุ้น 1 รายจะถือหุ้นได้ไม่เกิน 2 ล้านบาท ทำให้การระดมทุนไม่สามารถทำได้ตามเป้า  จึงได้มีการแก้ข้อกำหนด ให้ผู้ถือหุ้น 1 รายถือ หุ้นได้ไม่จำกัด และอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุนได้   คุณวิชัย ได้รับการร้องขอให้เข้ามาช่วย คุณสุรพล ต้องการสนับสนุนโครงการ CTH ให้สำเร็จ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นโดยรวม จึงมีการระดมเพื่อนฝูงเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน กระทั่งกลุ่มของคุณสุรพล ได้กลายเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ใน CTH  และมีอำนาจในการบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยในกลุ่มเพื่อนของคุณสุรพลที่เข้ามาร่วมระดมทุน  มีชื่อของ คุณวิชัย ทองแตง รวมอยู่ด้วย โดยคุณสุรพล เป็นผู้เดินจากบ้านริมแม่น้ำแม่กลองไปชักชวนด้วยตนเอง อีกทั้งยังขอให้คุณวิชัย เข้ามาเป็นที่ปรึกษา CTH เพื่อร่วมกันวางแผนช่วยเคเบิลบ้านนอกลืมตาอ้าปากให้ได้   CTH กลายเป็น Operator เมื่อได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษา CTH  คุณวิชัย จึงส่งคุณกฤษณัน งามผาติพงศ์ (ต่อมาเป็น CEO คนแรกของ CTH)  พร้อมทีมงาน เข้าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ CTH และพบว่า ด้วยโครงสร้างที่เข้มแข็งของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น  โดยมีสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยเป็นแกนกลาง น่าจะมีช่องทางในการนำผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นเป็นฐานในการทำเคเบิลทีวีระดับชาติได้ ด้วยการปรับแนวคิดจากการให้ CTH ไปซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการมาขายต่อให้กับเคเบิลท้องถิ่น (Content Provider)  เป็นการนำ CTH มาทำธุรกิจเคเบิลทีวีระดับชาติ (Operator)  โดยตรง เพื่อแข่งกับ True Visions และเพื่อยกระดับการให้บริการของเคเบิลท้องถิ่นโดยรวมให้มีมาตรฐาน  และเปลี่ยนระบบการให้บริการจาก Analog ไปสู่ Digital โดย CTH จะเป็นผู้ลงทุนระบบ Digital ให้เอง   ความบังเอิญครั้งที่ 1 เรื่องนี้มีความบังเอิญครั้งที่ 1 ที่ทำให้คุณวิชัย ตัดสินใจลงทุนใน CTH ได้ง่ายขึ้นคือ ในปี 2555  คณะกรรมการกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม. (กสทช.) กำลังจะออกใบอนุญาตประกอบกิจการเคเบิลทีวีระดับชาติ แบบถูกต้องตามกฎหมายเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  โดยใบอนุญาตดังกล่าวจะมีอายุ 15 ปี ซึ่งจะเป็นใบอนุญาตเดียวกันกับที่ True Visions จะมีในอนาคตเช่นกัน งานนี้หาก CTH จับมือกับเคเบิลท้องถิ่นได้  CTH ก็จะโตอย่างรวดเร็ว เพราะมีเคเบิลท้องถิ่นเป็นฐาน มีผู้ประกอบกิจการกว่า 350 ราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่วนเคเบิลท้องถิ่นก็จะสามารถทำเคเบิลทีวีต่อไปได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ถูกรังแกเรื่องการแย่งซื้อลิขสิทธิ์เหมือนในอดีตอีกต่อไป เพราะมีคุณวิชัย เป็นผู้สนับสนุน   ความบังเอิญครั้งที่ 2 เมื่อแนวคิดในการทำ CTH เปลี่ยนจากการเป็น Content Provider มาเป็น Operator หัวใจของการเป็นผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีคือ ช่องรายการ และถ้า CTH จะแข่งกับ True Visions ก็ต้องดึงช่องรายการที่เป็นหัวใจของ True Visions มาให้ได้ นั่นคือ การแย่งซื้อลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดสด Premier League  มาให้ได้ เรื่องนี้ก็เป็นความบังเอิญครั้งที่ 2 ที่ลิขสิทธิ์ดังกล่าว ของ True Visions จะหมดอายุลงในเดือน พฤษภาคม 2556 ดังนั้น หากจะล้ม True Visions คุณวิชัย ก็จะต้องไปประมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ Premier League ซึ่งการประมูลจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2555   ได้ ไทยรัฐเข้ามาร่วมโครงการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า โครงการดังกล่าวจะต้องประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน คุณวิชัย จึงเพิ่มทุน CTH เป็น 300 ล้านบาท และเพิ่มอีกครั้ง เป็น 1,000 ล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้ Grammy และ ไทยรัฐ เข้าร่วมลงทุนด้วย แต่ในที่สุด คุณวิชัย ก็ไม่สามารถตกลงกับ Grammy ได้  จึงจับมือกับ ไทยรัฐ เพียงรายเดียว เพื่อมาเป็น 3 ขาร่วมกับเคเบิลท้องถิ่น โดยคุณวิชัยลงทุนเพิ่ม 250 ล้านบาท ไทยรัฐลง 250 ล้านบาท ทำให้ CTH มีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 800 ล้านบาท ส่วนอีก 200 ล้านรอไว้หารายอื่นเข้ามาแทน Grammy   ได้ลิขสิทธิ์ Premier League หลังจากได้พันธมิตรอย่างไทยรัฐเข้ามาถือหุ้นด้วย คุณวิชัยก็เหมือนเสือติดปีก การไปประมูลลิขสิทธิ์ Premier League เป้าหมายของคุณวิชัยคือ "เอามาให้ได้"  ตรงนี้จึงเป็นที่มาของการสู้ราคาครั้งประวัติศาสตร์ โดยมูลค่าการประมูลเพิ่มจาก 2,500 ล้านบาท เป็น  10,000 ล้านบาท โดยมี บมจ.ธนาคารกรุงเทพ และไทยรัฐ เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ   CTH มั่นใจเต็ม 100 เมื่องานใหญ่ทำสำเร็จ 3 เรื่องคือ ได้ CTH มาบริหารอย่างเต็มรูปแบบ  ได้ไทยรัฐมาเป็นผู้ถือหุ้นเพิ่มทุน และได้ลิขสิทธิ์ Premier League มาไว้ในมือ ทำให้ผู้บริหาร CTH มีความมั่นใจว่า จะสามารถแย่งฐานสมาชิกของ True Visions มาได้อย่างแน่นอน  และจะสามารถเพิ่มฐานสมาชิกได้ถึง 10 ล้านครัวเรือนภายในเวลา 3 ปี เมื่อ 3 ก้าวแรกที่เดินไปประสบผลสำเร็จ ความมั่นใจจึงเต็ม 100 จนเป็นที่มาของความผิดพลาดสำหรับ CTH ในเวลาต่อมา   ความผิดพลาดครั้งที่ 1 เมื่อ CTH มีความมั่นใจสูง จึงมั่นใจต่อไปอีกว่า เคเบิลท้องถิ่นทุกราย จะต้องเข้าร่วมโครงการกับ CTH อย่างแน่นอน ดังนั้นการตั้งเงื่อนไขเพื่อให้เคเบิลท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการ จึงเป็นไปแบบไม่ง้อเคเบิลท้องถิ่น นั่นคือ  
  1. เคเบิลท้องถิ่นที่จะเข้าร่วมโครงการ จะต้องส่งรายชื่อฐานสมาชิกทั้งหมดมาให้ CTH เพื่อยืนยันจำนวนฐานสมาชิก เพื่อ CTHจัดส่งกล่องรับสัญญาณระบบ Digital DVB-C ไปให้ติดตั้งกับสมาชิก "ฟรี" โดยลูกค้าที่ไม่ได้ส่งรายชื่อจะไม่ได้กล่อง Digital ฟรี
  2. ต้องให้สมาชิกทั้งหมดของเคเบิลท้องถิ่น ที่ติดตั้งกล่อง Digital ของ CTH กรอกใบสมัครใหม่เพื่อเปลี่ยนมาสมัครเป็นสมาชิกของ CTH โดยตรง
  3. CTH จะเป็นผู้วางบิล เพื่อเรียกเก็บเงินจากสมาชิกเอง และจะโอนส่วนแบ่งรายได้ให้ เคเบิลท้องถิ่นในภายหลัง
  และจาก 3 ข้อกำหนดดังกล่าว CTH ยังไม่อนุญาตให้มีการต่อรอง หรือแก้ไขใดๆ เคเบิลท้องถิ่นรายใดจะมาก็มา  รายใดจะไม่มาเข้าร่วมก็ไม่ต้องมา และหากไม่มาตั้งแต่แรก แล้วเปลี่ยนใจจะมาเข้าร่วมในภายหลัง ก็จะเจอเงื่อนไขที่หนักกว่านี้อีก ซึ่งหลายคนมองว่า ตามแนวทางที่ CTH เสนอให้กับเคเบิลท้องถิ่นนี้ จะทำให้เคเบิลท้องถิ่น ต้องเปลี่ยนสถานะ จากการเป็นเจ้าของกิจการ (Operator) ที่มีอำนาจตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียวมา 30 ปี  ต้องกลายสภาพเป็นศูนย์บริการของ CTH เหมือนกับศูนย์บริการรถโตโยต้า ประจำจังหวัด ไม่สามารถมีอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเองได้อีกต่อไป เงื่อนไขตรงนี้เอง ที่ทำให้ เคเบิลท้องถิ่นประมาณ 50% ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการกับ CTH โดยขอยอมไปตายเอาดาบหน้า CTH จึงได้เคเบิลท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการเพียงประมาณ 170 ราย จากทั้งหมด 350 ราย ซึ่งทำให้คุณวิชัย ผิดหวังมาก จึงตัดสินใจเปิดเจรจากับผู้ที่สนใจจะทำธุรกิจเคเบิลท้องถิ่นร่วมกับ CTH เพื่อแข่งกับเคเบิลท้องถิ่นที่ไม่เข้าร่วมโครงการกับ CTH ซึ่งนับว่า เป็นการเปิดศึกกับเคเบิลท้องถิ่นแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน และเป็นที่มาของการแตกแยกในกลุ่มผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น อีกกลุ่มหนึ่งโดยตรง   ความผิดพลาดครั้งที่ 2 เมื่อ CTH ได้ Premier League มาในราคาที่สูง การให้บริการเคเบิลทีวีผ่านเคเบิลท้องถิ่นกลุ่มเดียว จึงไม่เพียงพอเพราะเคเบิลท้องถิ่นมีพื้นที่ให้บริการที่จำกัด CTH จึงคิดเปิดให้บริการผ่านระบบดาวเทียมด้วย เพื่อให้สามารถให้บริการได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และจะต้องให้บริการผ่านดาวเทียม Thaicom ด้วย จึงจะสามารถแย่งลูกค้า True Visions ได้อย่างรวดเร็ว เพราะหากให้บริการผ่านดาวเทียม Thaicom สมาชิกของ CTH สามารถทำได้เพียงแค่นำกล่องรับสัญญาณของ CTH ไปแทนกล่อง True Visions โดยใช้จานดาวเทียม True Visions รับสัญญาณเหมือนเดิม สมาชิกของ CTH ก็จะสามารถรับชม Premier League ผ่านกล่องรับสัญญาณของ CTH บนจานดาวเทียมของ True Visions ได้ทันที ซึ่งจะทำให้การแย่งฐานสมาชิก True Visions เป็นไปได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว   แต่เกมส์นี้ CTH ช้าเกินไป เพราะ True Visions ไหวตัวทัน จึงกว้านซื้อ Transponder ของดาวเทียม Thaicom หมดจนไม่เหลือ Transponder ให้ CTH นำมาทำเคเบิลทีวีผ่านดาวเทียม Thaicom ได้ ซึ่งในความเป็นจริงในขณะนั้น หากคุณวิชัย กลับไปคุยกับ Grammy อีกครั้ง เพื่อดึงมาเป็นพันธมิตร  เหตุการณ์อาจจะพลิกกลับได้ เพราะในขณะนั้น Grammy มี Transponder บนดาวเทียม Thaicom เพียงพอที่จะนำมาให้บริการ Premier League และรายการอื่นๆ ของ CTH เพื่อให้บริการเคเบิลทีวีผ่านดาวเทียม Thaicom เพื่อแย่งฐานลูกค้าของ True Vision แบบตรงๆ ได้)   แต่คุณวิชัยเลือกที่จะไปซื้อ Transponder จากเวียดนาม นั่นคือ ดาวเทียม Vinasat ปัญหาคือ ผู้ที่จะรับชม CTH ในระบบดาวเทียมได้ จะต้องติดตั้งจานดาวเทียมใหม่อีก 1 ชุด เพราะดาวเทียม Vinasat กับ Thaicom อยู่คนละองศาคนละทิศ จึงเป็นที่มาของ "จานฟ้า" ของ CTH ซึ่งสร้างความยุ่งยากในการให้บริการในเวลาต่อมา เพราะหากต้องการรับชม CTH ผ่านดาวเทียม จะต้องไปหาตัวแทนมาติดตั้ง จานฟ้า ซึ่งก็คือกลุ่มผู้ขายจานดาวเทียม PSI  ในจังหวัดต่างๆ  ทำให้สมาชิกต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และการติดตั้งทำได้ช้า ไม่ทันกับการเปิดฤดูกาลของ Premier League ในเดือนสิงหาคม 2556   True Visions เปิดเกมส์รุก เมื่อ True Visions เตะสกัดดาวรุ่ง โดยบังคับให้ CTH ต้องไปขึ้นดาวเทียมที่ Vinasat ได้ เกมส์ต่อมาคือ เจรจา ดึงเคเบิลท้องถิ่นจำนวน 170 รายที่ไม่เข้าร่วมกับ CTH ไปเป็นพวก โดยยอมเสนอขายช่องรายการลิขสิทธิ์ของ True Visions ในราคาถูกให้กับเคเบิลท้องถิ่นที่ไม่เข้าร่วมกับ CTH  และไม่ยอมขายให้กับรายที่เข้าร่วมกับ CTH เพื่อแบ่งเคเบิลท้องถิ่นออกเป็น 2 กลุ่ม ให้ต่อสู้กันเอง  รวมทั้งยังเป็นการกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เข้าร่วมกับ CTH ในช่วงแรก เปลี่ยนใจไปเข้าร่วมกับ CTH ในอนาคตได้อีก ตรงนี้ทำให้ฐานกำลังของ CTH อ่อนแรงลง และเคเบิลท้องถิ่นต้องต่อสู้กันเอง โดยมี CTH กับ True Visions เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง นอกจากนี้ True Vision ต้องยอมกลืนเลือด โดยหันไปจูบปากกับ PSI เพื่อนำช่องรายการของ True Visions ไปเผยแพร่ในกล่อง PSI ทั้งๆ ที่ในอดีต ทั้ง 2 ค่ายนี้ เป็นคู่แข่งชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่นี่คือธุรกิจ ไม่มีมิตรแท้และไม่มีศัตรูที่ถาวร ศัตรูของศัตรูก็คือมิตรของเรา มิตรของศัตรูก็คือศัตรูของเรา งานนี้ PSI ส้มหล่น คว้าพุงปลาไปกินคนเดียว   CTH ไม่อยากลงทุนในสาย Coaxial ของเคเบิลท้องถิ่น แต่ CTH ก็ยังไม่รู้ตัวว่า กำลังถูกเตะตัดขา กลุ่มเคเบิลท้องถิ่นที่เข้าร่วมกับ CTH ส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก โครงข่ายสายเคเบิลที่จะให้บริการระบบ Digital DVB-C ของ CTH จะต้องลงทุนปรับปรุงโครงข่ายสายเคเบิลทีวีใหม่ จึงจะรับสัญญาณระบบ Digital ได้  ซึ่งเคเบิลท้องถิ่นหลายรายต้องการได้เงินทุนจาก CTH เพื่อเอาไปปรับปรุงโครงข่ายสาย เพื่อให้ทันกับการเปิด ฤดูกาล Premier League แต่ CTH ไม่ยอม อาจจะเป็นเพราะ CTH มีความมั่นใจว่า ถึงอย่างไรก็จะสามารถล้ม True Visions ได้ และเคเบิลท้องถิ่น ถึงอย่างไรก็ต้องยอมลงทุนในสาย Coaxial ด้วยตัวเอง แม้จะช้าไปบ้างก็ไม่เป็นไร นอกจากนี้ CTH ก็มีอีกแผนหนึ่ง ที่เตรียมวางโครงข่ายสายเคเบิลแบบ FTTX คู่ขนานกับสาย Coaxial ของเคเบิลท้องถิ่น เพื่อเตรียมการในอนาคต สำหรับการเปลี่ยนผ่านสมาชิกที่ใช้สาย Coaxial ของเคเบิลท้องถิ่น มาใช้สาย Fiber To The Home ของ CTH เอง เพื่อให้บริการ Triple Play และ Quod Play ในอนาคต  CTH จึงไม่ต้องการลงทุนโครงข่ายสาย Coaxial บนโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่นให้ซ้ำซ้อนกัน   CTH ยึดฐานสมาชิกเคเบิลท้องถิ่น การให้บริการของเคเบิลท้องถิ่นที่เข้าร่วมกับ CTH จะต้องเปลี่ยนระบบการให้บริการจาก ระบบ Analog ไปสู่ Digital โดยให้ CTH เป็นผู้ลงทุนห้องส่งกลาง (Head-end)  เพื่อส่งสัญญาณเคเบิลทีวีไปให้เคเบิลท้องถิ่น และลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ห้องส่งระบบ Digital ปลายทาง ณ ห้องส่งของเคเบิลท้องถิ่นแต่ละราย พร้อมส่งกล่องรับสัญญาณ Digital DVB-C ไปให้เคเบิลท้องถิ่นเพื่อติดตั้งให้กับสมาชิก "ฟรี"  โดยสมาชิกที่ติดตั้งกล่อง Digital ของ CTH ทั้งหมด จะต้องกรอกใบสมัครใหม่ เพื่อสมัครเป็นสมาชิกของ CTH (ไม่ใช่สมาชิกของเคเบิลท้องถิ่นอีกต่อไป)   CTH ผิดพลาดเรื่อง "เงิน" เมื่อ CTH เปิดให้บริการจริงบนสายเคเบิลท้องถิ่น  ในทางเทคนิคสามารถให้บริการได้ แต่ติดขัดที่ระบบการเก็บเงินของ CTH ที่ CTH มีหน้าที่ต้องเรียกเก็บค่าบริการรายเดือนจากสมาชิก แล้วแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้เคเบิลท้องถิ่นตามสัดส่วนที่ได้ตกลงกันไว้  โดยหากสมาชิกไม่จ่ายเงิน  CTH ก็สามารถสั่งตัดสัญญาณได้โดยตรง ตามเงื่อนไขที่ CTH ได้กำหนดไว้ในใบสมัครสมาชิก แต่ปรากฏว่า หลังจากที่เปิดสัญญาณให้บริการกับสมาชิกแล้ว เคเบิลท้องถิ่นก็ไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้จาก CTH ตามที่ได้ตกลงกัน และ CTH ก็ไม่ได้ตัดสัญญาณกับสมาชิก ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่า CTH เก็บเงินจากสมาชิกได้แล้ว ไม่แบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้เคเบิลท้องถิ่น หรือ CTH เก็บค่าบริการรายเดือนกับสมาชิกไม่ได้  จึงไม่แบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้เคเบิลท้องถิ่น ตรงนี้มีข้อสังเกตว่า หากสมาชิกไม่จ่ายค่าบริการรายเดือนให้ CTH  ทำไม CTH จึงไม่ตัดสัญญาณเคเบิลทีวีของสมาชิก ทั้งๆ ที่ระบบของ CTH สามารถตัดสัญญาณได้ทันที โดยไม่ต้องไปตัดที่บ้านสมาชิก ปัญหาเรื่อง "การจ่ายเงินค่าส่วนแบ่งรายได้" จึงเป็นที่มาของความขัดแย้งระหว่างเคเบิลท้องถิ่น กับ CTH กระทั่งเคเบิลท้องถิ่นหยุดส่งสมาชิกให้ CTH และกลับไปให้บริการในระบบ Analog กับสมาชิก และเก็บค่าสมาชิกกับสมาชิกเหมือนเดิม  ทำเส้นทางการทำงานร่วมกันระหว่าง CTH กับเคเบิลท้องถิ่นไม่ราบรื่น ฐานสมาชิกที่ CTH ได้จากเคเบิลท้องถิ่นไม่เพิ่มขึ้น แถมยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ และเคเบิลท้องถิ่นหลายรายก็หยุดทำงานร่วมกับ CTH   CTH จับมือกับ PSI แทนที่ CTH จะเข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องนี้ให้ถูกจุด แต่ CTH กลับมองว่า การให้บริการผ่านเคเบิลท้องถิ่น ไม่ได้ผล และไม่มีอนาคต  จึงต้องการหาช่องทางอื่นเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มฐานสมาชิก CTH  วิธีการก็คือ ไปเจรจากับ PSI (ตาอยู่อีกแล้ว)  เพื่อให้บริการช่องรายการของ CTH ผ่านฐานสมาชิกของ PSI โดยมีการออก Package ร่วมกับ PSI และเรียกเก็บค่าบริการรายเดือนเพียง 270 บาท/เดือน เมื่อรับชมผ่านจานดาวเทียม PSI ซึ่งเป็นการออก Package เข้ามาชนกับเคเบิลท้องถิ่นโดยตรง เพราะเคเบิลท้องถิ่นเรียกเก็บค่าบริการกับสมาชิก 300-350 บาท/เดือน จุดแตกหักระหว่าง CTH กับ เคเบิลท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น เพราะเคเบิลท้องถิ่นมองว่า PSI เป็นคู่แข่งแต่เดิมอยู่แล้ว และเพิ่งเจอสถานการณ์ True Visions จับมือกับ PSI มาหมาดๆ ครั้งนี้ต้องมาเจอ CTH  ไปเสริมเขี้ยวเล็บให้กับ PSI โดยไม่ปรึกษาเคเบิลท้องถิ่นเข้าไปอีก เคเบิลท้องถิ่นจึงถือว่า เป็นการประกาศสงครามกันนั่นเอง   CTH จับมือกับ Grammy หลังจากนั้น CTH ก็หันไปจับมือกับ Grammy (ไม่มีอะไรแน่นอนในทางธุรกิจ อะไรอะไรก็เกิดขึ้นได้) โดย CTH เข้าไปถือหุ้นใน GMMZ โดยหวังนำ Transponder ของ Grammy และกล่อง GMM-Z มาเป็นเครื่องมือในการบุกตลาดจานดาวเทียม Ku-Band ของ True Visions ตามแผนเดิม คู่กับ PSI ผ่านดาวเทียม Thaicom (CU-Band) โดยไม่ต้องติด "จานฟ้า" ของ CTH รวมทั้งหวังนำระบบ IPTV ของ Grammy ในชื่อ "ZIP TV" มาให้บริการแบบไร้สายกับสมาชิกเพิ่มเติม   เกมส์รุก CTH ล้มเหลว แต่....สายไปแล้ว เพราะชื่อเสียงของ CTH เริ่มส่อไปในทางที่ไม่ดี ประชาชนเริ่มไม่แน่ใจ ซึ่งต่างจากเมื่อได้ลิขสิทธิ์ Premier League มาใหม่ๆ  ทำให้ยอดขายที่เข้ามาทางช่องทางจานดาวเทียม ทั้ง PSI และ กล่อง GMM-Z ไม่เป็นไปตามเป้า และกลับเป็นการเพิ่มภาระ รวมทั้งเพิ่มต้นทุนการให้บริการเข้าไปอีก จนทำให้ CTH ขาดทุนเพิ่มขึ้น   กลับมาทบทวนแผน CTH หากพิจารณาย้อนหลังในภาพรวม จะพบว่า สุดท้ายแล้ว CTH ต้องเปิดช่องทางการให้บริการสัญญาณเคเบิลทีวีของ CTH กับสมาชิกครบทั้ง  5 ช่องทาง ซึ่งแต่ละช่องทางก็ทำให้ CTH มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนี้
  1. ให้บริการผ่านเคเบิลท้องถิ่น โดย CTH จะต้องเช่าสาย Fiber Optic ของ Symphony และ TOT เพื่อส่งสัญญาณไปให้เคเบิลท้องถิ่น 170 รายทั่วประเทศ งานนี้ CTH ต้องเสียค่าเช่าสาย Fiber Optic ปีละเกือบ 200 ล้านบาท หากได้รายได้จากเคเบิลท้องถิ่นไม่เพียงพอ CTH ก็จะขาดทุนเพิ่มเติม
  2. ให้บริการผ่านจานดาวเทียม Vinasat ของเวียดนาม โดย CTH ไปเช่า Transponder จากดาวเทียม Vinasat คงต้องดูว่า สัญญาเช่ากี่ปี และเสียค่าเช่าปีละเท่าใด จึงจะตัดสินใจได้ว่า จะคุ้มค่าหรือไม่ หรือจะให้บริการต่อไปหรือไม่
  3. ให้บริการผ่านจานดาวเทียม PSI โดยทาง CTH ต้องเสียค่าเช่า Transponder กับดาวเทียม Thaicom เพื่อส่งสัญญาณไปให้บริการเพิ่มในจานดาวเทียม PSI คงต้องดูว่า รายได้ที่ได้จากสมาชิก PSI จะเพียงพอกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นหรือไม่
  4. ให้บริการผ่านกล่อง GMMZ ในระบบ Ku-Band เพราะเมื่อไปซื้อ GMMZ จาก Grammy มาได้ จึงสามารถให้บริการ CTH ผ่านกล่อง GMMZ ในดาวเทียม Thaicom ได้ งานนี้ CTH หวังเอาไว้มาก เพราะสมาชิก True Visions ที่ต้องการรับชม Premier League ของ CTH สามารถนำกล่อง GMMZ ไปเปลี่ยนกล่อง True Visions ได้ทันทีโดยไม่ต้องติดตั้งจานดาวเทียมเพิ่มเติม แต่การได้มาก็ต้องเพิ่มต้นทุนค่า Transponder ในดาวเทียม Thaicom ซึ่งก็คงต้องดูว่า สัญญาเหลือกี่ปี และต้องจ่ายค่าเช่าอีกปีละเท่าใด รายได้ที่เข้ามา คุ้มค่าหรือไม่
  5. ผ่าน IPTV ในชื่อ ZIP TV ระบบนี้ เป็นระบบที่จะมีประโยชน์ในอนาคต ที่อยู่ในแผนของ CTH
  CTH วางแผนลงจากหลังเสือ ตลอดเวลาที่ผ่านมา CTH ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ  ไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้ เพราะทุกอย่างเร่งรีบไปหมด หรือเมื่อวางแผนล่วงหน้า แผนมักจะรั่ว จนคู่แข่ง สามารถมองเกมส์ออก และแก้เกมส์ได้ทุกครั้ง  ดังนั้นการที่ CTH เปลี่ยน CEO  กี่คน  ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะต้องรบทั้งศึกภายใน และศึกภายนอก ที่สำคัญคือ ต้องรบกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด  เพราะทุกนาทีที่ผ่านไป คือเงินที่ไหลออกจากกระเป๋า ชนิดที่ไม่สามารถทวงคืนกลับมาได้กระทั่ง คุณวิชัย ต้องตัดสินใจยอมแพ้ และต้องวางแผนลงจากหลังเสือแบบเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่ปี2558 ดังนี้   1) ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 CTH ประกาศยุติการให้บริการผ่านเคเบิลท้องถิ่น นั่นหมายความว่า สมาชิกเคเบิลทีวีของ CTH ที่รับบริการเคเบิลทีวีของ CTH โดยใช้กล่องรับสัญญาณ DVB-C ของ CTH ผ่านโครงข่ายสายเคเบิลของเคเบิลท้องถิ่น จะไม่สามารถรับสัญญาณช่องรายการของ CTH ได้อีกต่อไป เป็นการตัดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ระหว่าง CTH กับ เคเบิลท้องถิ่น และเกิดกรณี ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทั้ง 2 ฝ่ายในเวลาต่อมา ซึ่งเกมส์นี้ คงจะยืดเยื้อไปอีกนาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการสัญญาณ CTH ผ่านกล่องดิจิตอลของ CTH จะต้องติดต่อกับสมาชิกเพื่อให้เปลี่ยนมารับสัญญาณระบบ Analog ของเคเบิลท้องถิ่นต่อไป หรือเคเบิลท้องถิ่นบางรายที่ได้ลงทุนติดตั้งระบบ Digital ไว้แล้ว ก็แจ้งให้สมาชิกเปลี่ยนมารับสัญญาณในระบบ Digital ของเคเบิลท้องถิ่นเอง แต่เนื่องจากมีเวลาเพียง 30 วันในการเปลี่ยนแปลง ความโกลาหนจึงเกิดขึ้นมากพอสมควร ส่วน CTH เองเมื่อตัดสัญญาณเคเบิลท้องถิ่นแล้ว CTH ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการเช่าโครงข่ายสาย Fiber Optic ที่ CTH ไปเช่าจาก Symphony และ TOT ปีละเกือบ 200 ล้านบาท นั่นแสดงว่า การเช่าสาย Fiber Optic น่าจะครบอายุสัญญา CTH จึงตัดสินใจไม่ต่อสัญญา เพราะ รายได้ที่ CTH ได้จากการให้บริการผ่านโครงข่ายสายเคเบิล ของเคเบิลท้องถิ่น น่าจะไม่คุ้มกับค่ากับค่าใช้จ่ายที่ CTH ต้องจ่ายค่าเช่าสาย Fiber Optic  จึงต้องปิดสัญญาณเป็นรายแรก และเรียกกล่อง Digital DVB-C จากเคเบิลท้องถิ่นกลับ เพื่อนำกล่อง DVB-C ไปขายต่อให้กับ เคเบิลทีวีที่ประเทศอินเดีย ซึ่งกำลังอยู๋ในสถานการณ์ขาดแคลนกล่อง DVB-C กำลังขาดตลาด จึงเป็นโอกาสที่ CTH จะได้ปล่อยกล่อง Digital ที่ค้างอยู่ในโกดังหลายแสนกล่อง ออกไปให้อินเดียต่อไป   2) ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 CTH ประกาศปิดสัญญาณที่ให้บริการผ่าน PSI ตรงนี้ น่าจะหมายความว่า ค่าสมาชิกที่ CTH ได้รับจากสมาชิกที่ใช้จาน PSI ไม่คุ้มกับค่าเช่า Transponder ของดาวเทียมไทยคม เมื่อสัญญาเช่า Transponder ครบกำหนด CTH จึงไม่เช่าต่อ  จึงต้องแจ้งตัดสัญญาณ CTH ที่ให้บริการผ่านสมาชิก PSI ส่วนลูกค้าที่จ่ายค่าบริการล่วงหน้าไว้ ก็ต้องตามไปแก้ไขกันต่อไป   3) ในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 CTH ประกาศปิดสัญญาณ Ku-Band ที่ให้บริการผ่านดาวเทียม Thaicom ประเด็นนี้หมายความว่า สมาชิก CTH ที่รับบริการผ่านกล่อง GMMZ ก็น่าจะไม่คุ้มกับค่า Transponder ที่ CTH เสียค่าเช่า Transponder ให้กับดาวเทียม Thaicom จึงต้องประกาศ ยุติการให้บริการในระบบ Ku Band และเป็นที่มาของปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ว่า CTH จะแก้เกมส์อย่างไร จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น แสดงว่า หลังจากวันที่ 1 สิงหาคม 2559 สมาชิกที่ต้องการดูเคเบิลทีวีของ CTH จะต้องดูผ่านดาวเทียม Vinasat เพียงช่องทางเดียว โดยการติดตั้ง "จานฟ้า" ของ CTH เท่านั้น และนี่คงเป็นคำตอบว่า CTH ยังไม่ปิดกิจการ เพราะยังเปิดให้บริการต่อไป อย่างน้อยก็จนกว่า สัญญาเช่าดาวเทียม Vinasat ของเวียดนาม จะสิ้นสุดลง ถึงตอนนั้นคงต้องมาดูว่า CTH จะตัดสินใจอย่างไร กับอนาคตของตนเอง   การปิดสัญญาณครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก การประกาศปิดสัญญาณ Ku-Band ที่ให้บริการผ่านดาวเทียม Thaicom ในวันที่ 1 สิงหาคม 2559  จึงเป็นการปิดสัญญาณครั้งที่ 3 แล้ว และครั้งนี้น่าจะมีผู้คนเดือดร้อนน้อยที่สุด เพราะไม่มี Premier League แล้ว เปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้ที่มีการปิดไป 2 ระบบคือ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 CTH ประกาศยุติการให้บริการผ่านเคเบิลท้องถิ่น  และในวันที่ 1 มีนาคม 2559 CTH ประกาศปิดสัญญาณที่ให้บริการผ่านจานดาวเทียม PSI  ซึ่งใน 2 ครั้งที่ผ่านมา มีคนเดือดร้อนมากมาย เพราะจ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว แต่ไม่ได้ดู Premier League  ดังนั้นหากจะผิดกฎหมายข้อใด หรือต้องลงโทษอย่างไร กสทช. ก็น่าจะเตือนไปนานแล้ว  ครั้งนี้คงไม่ต้องออกข่าวว่าจะเรียกมาเตือนอีก   ถึงอย่างไรก็ต้องบาดเจ็บ ในมุมของ CTH ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 ก็คงมองเห็นแล้วว่า CTH กำลังจะค่อยๆ Down Scale ลงมาเรื่อยๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย มุมบุกในธุรกิจเคเบิลทีวีคงไม่มีแล้ว เพราะอาวุธที่สำคัญคือ Premier League ก็ไม่มีตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559  :ซึ่งหมายความว่า อาวุธที่จะไปต่อสู้ในธุรกิจเคเบิลทีวีก็คงจะหมดแล้ว โดยในวันนี้เหลือเพียงลิขสิทธิ์จากกลุ่ม Fox ที่ซื้อมาเป็นมูลค่า 2,000 ล้านบาท  และไม่มีใครรู้ว่า จะหมดสัญญาเมื่อไร แต่หากหมดสัญญา  ก็น่าจะถึงเวลาที่ CTH จะต้องปิดกิจการจริงๆ เสียที  ซึ่งก็จะเป็นการลงจากหลังเสือแบบที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสมากพอสมควร แต่การลงทุนมีความเสี่ยงที่เอกชนทุกคนเข้าใจ โดยเฉพาะเมื่อมีโอกาสได้มาก ก็มีโอกาสเสียมาก เรื่องนี้ คุณวิชัย ทองแตง ท่านคงเข้าใจ   CTH อาจลอกคราบกลายเป็นอย่างอื่นที่ทุกคนคาดไม่ถึงก็ได้ อย่างไรก็ตาม คุณวิชัย ทองแตง คงไม่ทำให้ตนเองเสียชื่อ หรือเสียเหลี่ยมความเป็นมืออาชีพ โดยมั่นใจว่า เคเบิลทีวีของ CTH ที่อยู่ในมือ คุณวิชัย น่าจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เช่น นำไปให้ AIS ใช้เป็นอาวุธ ในกิจการ Internet เพื่อแข่งกับ True Move ที่นำเคเบิลทีวีของ True Visions ไปแถมในกิจการ Internet ของ True Move เป็นต้น หรือคุณวิชัย อาจมีไม้เด็ดอื่นๆ ออกมาอีก หลังจากปลดภาระต่างๆ ของ CTH ออกไปจนหมดแล้วก็เป็นได้  ดังนั้นในช่วงนี้ CTH อาจกำลังจะเข้าสู่สภาวะ การเป็นดักแด้ เพื่อรอเวลาลอกคราบ เพราะเมื่อลอกคราบออกมาแล้ว อาจกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึง เหมือนหนอนที่กลายเป็นผีเสื้อได้ จึงต้องคอยดูฝีมือคุณวิชัย ทองแตง ในตอนต่อไป...และโปรดอย่ากระพริบตา  

Mostview

พาชมงาน MONEY EXPO 2024 โซน Franchise SMEs มีธุรกิจอะไรน่าลงทุน

เริ่มไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับงาน MONEY EXPO 2024 ที่อาคารชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยภายงานในงานได้มีสถาบันทางการเงินที่นำบริการสินเชื่อต่าง ๆ มานำเสนอให้กับผู้ที่สนใจมองหาแหล่งทุนสำหรับนำไปใช้ในเรื่องต่าง

คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท

ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ซึ่งมีการพูดถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อน และรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาได้สบายขึ้น

ซีพีออลล์ ทำรายได้ไตรมาส 1/2567 รวม 241,307 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 พบว่าบริษัทมีรายได้รวม 241,307 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

SmartSME Line