วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 16, 2567

ปัจจัยที่ต่างชาติไป 4.0 ได้ไกลกว่า เพราะไทยขาดแรงงานทักษะ 5 ล้านคน

by Smart SME, 30 ตุลาคม 2561

นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ และนางสาวพัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอประเด็น ‘เมื่อโลกกําลังทําสงครามแย่งชิงคนเก่ง ประเทศไทยทําอะไรอยู่’ พร้อมชี้ให้เห็นปัญหาและเปรียบเทียบกับหลายประเทศที่ไปไกลกว่าไทย ดังนี้

รูปแบบของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไปจากกระแสของทั้งสังคมสูงอายุและเทคโนโลยี ทำให้เกิดการแย่งชิง แรงงานทักษะ (War for Talents) ซึ่งทุกประเทศ ต่างมีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Economy 4.0 จึงต่างแสวงหาคนเก่งจากทุกมุมโลก เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศตนเอง โดยเฉพาะในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ยากต่อการคาดเดาว่างานในอนาคตจะต้องการคนประเภทใด การผลิตคนในประเทศให้ตรงและทันกับความต้องการ

ที่ผ่านมา ประเทศแถวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างสหรัฐฯ สามารถสร้าง Data Scientist ได้เพียง 35,000 คน ขณะที่ข้อมูลจาก LinkedIn ในปี 2017 เผยให้เห็นว่าความต้องการ Data Scientist ทั่วโลกปรับขึ้นถึง 6.5 เท่า จากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้กว่า 2 ใน 5 ประเทศทั่วโลก ผ่อนคลายกฎระเบียบการนำเข้าแรงงานต่างชาติ เพื่อดึงดูดคนเก่ง ตัวอย่างเช่น

  • แคนาดา ติดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บริเวณทางเข้า Silicon Valley เพื่อเชิญชวนชาวต่างชาติโดยเฉพาะผู้ที่จบการศึกษาใหม่ในสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถหางานได้จากการจำกัดจำนวนแรงงานต่างชาติผ่านโควตาวีซ่า H-1B และกระแสอนุรักษ์นิยม เนื่องจากแคนาดาต้องการรวบรวมคนเก่งและดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก มาช่วยผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีที่วางไว้ เช่น ในเมืองโตรอนโต
  • ญี่ปุ่น ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านแรงงานควบคู่กับการสร้างวัฒนธรรมการยอมรับคนต่างชาติในสังคมเพื่อลดผลกระทบจากสังคมผู้สูงอายุ เช่น การเปิดให้นำเข้าพยาบาล ที่ไม่สามารถผลิตแรงงานที่มีทักษะดังกล่าวได้ทัน
  • มาเลเซีย ออกนโยบายเชิงรุกในปี 2010 มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางคนเก่งของอาเซียน ผ่านการ สร้าง-ดึงดูด-รักษา โดยจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบตรงและมีศูนย์อำนวยความสะดวก 24 ชั่วโมง เพื่อให้คำปรึกษาชาวต่างชาติที่ต้องการหางานในประเทศ ทั้งยังใช้นโยบายทางภาษีเพื่อดึงคนเก่งที่ออกไปทำงานในต่างประเทศกลับมาช่วยพัฒนาประเทศตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่เผชิญภาวะสมองไหล
  • เช่น อินเดีย ที่ประสบความสำเร็จในการดึงคนกลับประเทศจนสามารถสร้าง IT Hub ที่เมืองบังคาลอร์ได้
  • ขณะ จีน ที่มีอัตราสมองไหลสูง ก็พยายามดึงคนจีนกลับบ้าน ถึงขนาดยอมให้คนจีนที่ย้ายสัญชาติไปแล้ว กลับมาถือ 2 สัญชาติได้
    จากตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่าแรงงานต่างชาติมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการรวมกลุ่มของคนเก่ง ที่เห็นได้ชัดเจนคือ Silicon Valley ที่จะไม่มีทางเกิดขึ้น หากขาดการรวมกลุ่มของหัวกะทิด้านเทคโนโลยี เพราะกว่า 2 ใน 3 เป็นแรงงานต่างชาติ

กลับมามองประเทศไทย ข้อมูลของ UN ปี 2017 พบว่า ไทยเป็นประเทศที่เปิดรับแรงงานต่างชาติมากที่สุดในอาเซียน โดยมีมากถึง 36 ล้านคน แต่จํานวนนั้นเป็นกลุ่มที่มีทักษะเพียง 1.5 แสนคนเท่านั้น หรือคิดเป็น 0.4% ของแรงงานทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่า ไทยพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนมาก ทั้งยุทธศาสตร์การคัดเลือกและดึงดูดแรงงานทักษะที่จะตอบโจทย์เศรษฐกิจ 4.0 ยังไม่ชัดเจน ซึ่งต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียที่มีนโยบายด้านแรงงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว

จากการสำรวจผู้ประกอบการกว่า 800 บริษัท ในปี 2017-18 พบว่า การขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาหลักของบริษัทบริษัทในไทย โดยกว่า 20% ขาดแคลนแรงงานทักษะ โดยเฉพาะทักษะดิจิทัล เช่น การเขียนโปรแกรม ซึ่งผลกระทบดังกล่าวรุนแรงถึงขั้นทําให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ย้ายธุรกิจไปลงทุนในประเทศที่มีนโยบายแรงงานเสรีกว่า เช่น สิงคโปร์ ส่งผลให้ไทยสูญเสียโอกาสในการจ้างงานกว่า 1,000 ตําแหน่ง

ทั้งบริบทของโลกที่ไร้พรหมแดนในปัจจุบัน บริษัทสามารถจ้างคนต่างประเทศทำงานให้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากัน ทำให้การปกป้องแรงงานในประเทศด้วยการปิดกั้นชาวต่างชาติแทบจะเป็นไปไม่ได้

ในทางตรงกันข้าม การเปิดรับคนเก่งให้มาอยู่รวมกันในประเทศไทยกลับเป็นการเพิ่มศักยภาพของประเทศและทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ดังที่ Tim Cook เคยกล่าวว่า การที่ Apple เลือกผลิต iPhone ในจีน ไม่ใช่เพราะเป็นแหล่งผลิตราคาถูก แต่เป็นเพราะจีนเป็นแหล่งรวมแรงงานทักษะที่มีจำนวนมากกว่าสหรัฐฯ

ระหว่างที่ทั่วโลกต่างแข่งขันกันเพื่อแย่งคนเก่ง ประเทศไทยกลับทําแค่ชําเลืองมองโดยไม่มีแผนเชิงรุกที่ชัดเจนทั้งที่ไทยกําลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ‘แรงงาน’ ถือเป็นปัจจัยสําคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ 4.0 เพราะไทยจะต้องหาแรงงานทักษะกว่า 5 ล้านคน เพื่อตอบโจทย์ S-curve การเปิดรับต่างชาติในช่วงเริ่มต้น จึงเป็นทางเลือกที่จะช่วยขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายได้

ทัศนคติที่มองว่าแรงงานต่างชาติจะเป็นภัยคุกคามต่องานของคนไทยคืออุปสรรคสำคัญ ที่ปิดกั้นโอกาสของการพัฒนาศักยภาพของประเทศ เพราะสิ่งที่น่ากลัวกว่าการถูกต่างชาติแย่งงาน คือการเลือกปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานไทย จนท้ายที่สุดประเทศก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และคนไทยอาจไม่มีงานทำ


Mostview

4 สิ่งของคนเลี้ยงลูกประสบความสำเร็จไม่เคยสอนตอนเมื่อลูกยังเล็ก

ครอบครัวถือเป็นสถาบันหลักสำคัญในการสั่งสอนลูกว่าจะเป็นคนอย่างไร โดยช่วงเวลาที่ผ่านมาเราได้ยินว่าควรทำอย่างไรกับลูกของเรา และเรื่องไหนที่ไม่ควรทำกับลูกของเรา

แม็คโคร-โลตัส ไตรมาสแรกปี 2567 ทำรายได้รวม 127,020 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,481 ล้านบาท

บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT เผยผลประกอบการในช่วงไตรมาส 1/67 พบว่ามียอดรายได้รวม 127,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน มีกำไรสุทธิ 2,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน

เกษตรกรเวียดนามไม่ทนหันปลูกทุเรียนส่งออกจีนแทนปลูกกาแฟที่ขาดแคลน แถมราคาถูกกว่า

ราคากาแฟโรบัสต้าทั่วโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยเวียดนามซึ่งเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟรายใหญ่ที่สุด กำลังต่อสู้กับภัยแล้ง รวมถึงเกษตรกรได้เปลี่ยนมาปลูกทุเรียนแทน

คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท

ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ซึ่งมีการพูดถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อน และรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาได้สบายขึ้น

SmartSME Line