วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2567

เปิดตลาดไม้เศรษฐกิจ ทางเลือกใหม่เกษตรกร

by Anirut.j, 2 พฤษภาคม 2562

“พาณิชย์” นำผู้แทนสถาบันการเงินลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ดูตลาดรับซื้อไม้ยืนต้น และกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ สร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินรับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันการกู้เงินมากขึ้น

กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินกรณีนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันการให้สินเชื่อ หลังพบปัญหาสถาบันการเงินขาดความเชื่อมั่นในหลักประกัน (ไม้ยืนต้น)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงาน “อุตสาหกรรมไม้โตเร็ว โอกาสของเกษตรกรนำไม้โตเร็ว”มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ” ณ บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด (ธุรกิจในเอสซีจีแพคเกจจิ้ง) โรงงานวังศาลา จ. กาญจนบุรี

โดยนำคณะผู้แทนสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เช่น กรมป่าไม้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน ฯลฯ ลงพื้นที่ดูภาพรวมของธุรกิจไม้ ตลาดรับซื้อไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ ความต้องการปริมาณไม้ของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

รวมทั้งเยี่ยมชมระบบบริหารจัดการสวนป่าไม้ยืนต้นที่มีค่าของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงินกรณีนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันการกู้เงิน หลังพบปัญหา...สถาบันการเงินขาดความเชื่อมั่นในหลักประกัน (ไม้ยืนต้น) รวมทั้ง ความเสี่ยงในการดูแลต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันหลังการให้สินเชื่อ ทำให้สถาบันการเงินยังไม่กล้ารับความเสี่ยงที่จะนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกัน”

“การลงพื้นที่ในครั้งนี้ จะเน้นที่อุตสาหกรรมไม้โตเร็วเป็นหลัก ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นชนิดที่มีรอบตัดฟันสั้น เช่น ไม้ยูคาลิปตัส ฯลฯ ใช้ระยะเวลาในการปลูก 3 - 5 ปี และเป็นไม้ที่เป็นที่ต้องการของตลาดไม้ทั้งในและต่างประเทศสูง หากสถาบันการเงินต้องการบริหารความเสี่ยง (ความเสี่ยงน้อย) ต้นไม้โตเร็วกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เพราะมีผู้ต้องการรับซื้อไม้เป็นจำนวนมาก ทำให้ง่ายต่อการใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสประมาณ 70,000 ราย ต้นทุนเฉพาะต้นกล้าไม้ประมาณ 600 บาท/ไร่ (ค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 2,000 - 3,000 บาท/ไร่) โดยมีราคาหน้าโรงงานประมาณ 1,300 - 1,500 บาท/ตัน” รองอธิบดีฯ กล่าว

 

 

"สำหรับตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการไม้ยูคาลิปตัสสูง ได้แก่ จีนและญี่ปุ่น โดยเฉพาะไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC (Forest Standard Certification - การรับรองมาตรฐานป่าไม้ที่มุ่งเน้นในเรื่องของความยั่งยืน) เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมาก ทั้งนี้ มีการขายไม้ยูคาลิปตัสในตลาดในประเทศประมาณ 7 ล้านตัน/ปี และส่งออกไปจำหน่ายที่ตลาดต่างประเทศประมาณ 5 ล้านตัน/ปี ส่วนแนวโน้มตลาดโลกในอนาคต คาดว่าจะมีความต้องการไม้ยูคาลิปตัสที่เพิ่มมากขึ้น ราคาขายมีการปรับตัวจาก 130 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 145 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน” รองอธิบดีฯ กล่าวต่อ

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้เยี่ยมชมระบบบริหารจัดการสวนป่ายูคาลิปตัสของเกษตรกรในพื้นที่ที่มีความพร้อมที่จะนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ วิธีการเลือกชนิดไม้ที่ปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ การดูแลรักษาต้นไม้ของเกษตรกร ประเภทผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไม้ กระบวนการรับซื้อไม้ กระบวนการผลิตไม้ ซึ่งเป็นธุรกิจป่าไม้ ธุรกิจเยื่อ และธุรกิจกระดาษ

ซึ่งทุกกระบวนการดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงินในการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและประชาชนผู้ปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินกรรมสิทธิ์โดยใช้ไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันมากขึ้นในอนาคต โดยกรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันส่งเสริมให้ประชาชนและเกษตรกรหันมาปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูงที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง-ช้า เช่น สัก พะยูง ชิงชัน จันทน์หอม ฯลฯ ในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออมเป็นมรดกแก่ลูกหลานในอนาคต

“อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น คือ เกษตรกรที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสใน 5 ปีแรกจะยังไม่มีรายได้ (รอบตัดฟันประมาณ 5 ปี) หากสถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อแก่เกษตรกรเหล่านี้ได้ จะสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งการที่สถาบันการเงินรับต้นไม้ (ยูคาลิปตัส) เป็นหลักประกันจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกไม้ยูคาลิปตัสเป็นอย่างมาก”

ทั้งนี้ จากการสอบถาม เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกยูคาลิปตัสต่างเห็นว่าโครงการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันได้มีประโยนช์มาก เช่น ใช้ต้นไม้ที่ปลูกไว้มาเป็นหลักประกัน 5-10 ไร่ เพื่อขอวงเงินกู้ 50,000-100,000 บาทกับสถาบันการเงิน เพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นทุนหมุนเวียนในช่วงก่อนถึงการตัดไม้ไปขายถือว่าดีและอยากให้สถาบันการเงินช่วยมาสนับสนุนที่สำคัญตัวหลักประกัน คือ ต้นยูคาลิปตัสจะมีคุณภาพดี เนื่องจากก่อนเกษตรกรจะปลูกจะต้องมาขอต้นกล้ายูคาลิปตัสจากทางบริษัทไปปลูกเท่านั้น

ซึ่งต้นกล้ายูคาลิปตัสจะเป็นต้นที่ทางบริษัทมีการดูแลเป็นอย่างดี จึงมั่นใจเมื่อต้นยูคาลิปตัสครบกำหนดที่จะฟันภายใน 3-5 ปี จะเป็นต้นที่มีมาตรฐานสูง จึงเป็นสินค้าที่ราคาไม่ตกไปมากนัก และคาดว่าอนาคตราคาต้นไม้ยูคาลิปตัสจะสูงขึ้น เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่ใช้ไปในทางอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ แบบครบวงจร ซึ่งปัจจุบันจุดรับซื้อไม้ของบริษัทแบ่งเป็นภาคตะวันตกและภาคเหนือกว่า 50 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 37 แห่ง และมีตัวแทนรับซื้อกว่า 100 ราย

นางก่อง ฤิทธิ์แก้ว เกษตรกรปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบถึงโครงการไม้ยืนต้นใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันตามที่ภาครัฐประกาศใช้ แต่ถ้ามีจริงตนก็อยากที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อจะได้ไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินจะได้นำเงินมาจุนเจือเลี้ยงครอบครัวที่บ้านมีพื้นที่ปลูกต้นยูคาลิปตัสประมาณ 12 ไร่ และเข้าร่วมฟันต้นยูคาลิปตัสขายให้กับบริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด ในอัตราตันละ 1,400 บาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งขนส่ง ตัดไม้แล้วจะเหลือเงินต่อตันละ 900 บาทขึ้นไป ถือว่าพออยู่ได้ แต่บางปีก็ไม่เหลือเงินพอ ดังนั้น หากรัฐบาลมีโครงการใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นหลักประกันกู้เงินได้จริงก็พร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการนี้แน่นอน

 

 

สำหรับ บริษัทสยามฟอเรสทรี จำกัด (ธุรกิจในเอสซีจีแพคเกจจิ้ง) ผลิตสินค้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ (Packaging) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (Packaging Business Chain) และ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มาจากต้นไม้ (Fibrous Business Chain) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจย่อย คือ 1) ธุรกิจป่าไม้ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นกล้าที่จะนำมาผลิตเยื่อ 2) ธุรกิจเยื่อ ผลิตเยื่อคุณภาพสูง และ 3) ธุรกิจกระดาษ ผลิตกระดาษที่ใช้ทั่วไป กระดาษที่ใช้บรรจุอาหารและกระดาษอุตสาหกรรม (ฉลากอาหาร) ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 500,000 ตัน/ปี

โครงสร้างของการทำธุรกิจเริ่มจากการศึกษาวิจัยต้นไม้ เน้นปลูกต้นยูคาลิปตัสเป็นหลักทั่วประเทศ มีการผลิตต้นกล้าประมาณ 50 ล้านต้น/ปี ทั้งปลูกเองและเกษตรกรปลูก (95%) มีรอบตัดฟันประมาณ 4 - 6 ปี ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไม้มาขาย ณ จุดรับซื้อของบริษัทได้ทั่วประเทศ ภาคตะวันตกและภาคเหนือกว่า 50 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 37 แห่ง และมีตัวแทนรับซื้อกว่า 100 ราย โดยบริษัทจะนำไม้เข้าโรงสับไม้และส่งต่อไปยังโรงผลิตเยื่อตามลำดับ

 


Mostview

ปิดแล้ว! ร้าน Lawson ฉากหลังภูเขาฟูจิ หลังนักท่องเที่ยวไม่ทำตามกฏ ทิ้งขยะเกลื่อน

อีกหนึ่งจุดถ่ายภาพเวลานักท่องเที่ยวไปภูเขาฟูจิที่ประเทศญี่ปุ่น นั่นคือพื้นที่ร้านสะดวกซื้อ Lawson ที่มีฉากหลังเป็นภูเขาฟูจิ ที่เรียกว่าเป็นแลนด์มาร์คที่ใครมาต้องมาถ่ายรูปให้ได้ แต่ตอนนี้กำลังจะเหลือเพียงความทรงจำ กลายเป็นอดีต

คู่รักนักธุรกิจอินเดียบริจาคทรัพย์สิน 890 ล้านบาท พร้อมออกบวชเข้าสู่เส้นทางศาสนา

คู่รักชาวอินเดียผู้มั่งคั่งจากรัฐคุชราตได้บริจาคทรัพย์สินทั้งหมดคิดเป็นมูลค่า 200 ล้านรูปี (ประมาณ 890 ล้านบาท) เพื่อบวชเป็นพระ หลังได้รับแรงบันดาลใจจากการบวชของลูกชาย และลูกสาว

สิงคโปร์ แจกเงินละ 8,000 บาท ให้ 1.1 ล้านครัวเรือนไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า-ประปา ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากสถานการณ์โลกร้อนทำให้หลายประเทศกลับมาตระหนักถึงเรื่องนี้กันมากยิ่งขึ้น ทำอย่างไรที่จะออกนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอันดับต้น ๆ

ผลกระทบขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจทำให้สินค้าขยับราคาขึ้น 15%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชน ทั้งในภาคส่วนการผลิต การค้า และบริการ การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

Noumami บริษัทนอร์เวย์ ผลิตน้ำปลาจากแซลมอน แบรนด์แรกของโลก

“น้ำปลา” จัดเป็นสินค้าสัตว์น้ำพื้นเมืองของประเทศไทย โดยปลาที่นิยมนำมาเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ ปลากะตัก ปลาสร้อย ปลาซิวแก้ว แต่ตอนนี้ไม่ใช่แค่ปลาดังกล่าวที่พูดมาสามารถนำมาทำเป็นน้ำปลาได้ เพราะปลาแซลมอนก็สามารถนำมาผลิตได้เช่นกัน

SmartSME Line