วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2567

รมว.คลัง ย้ำชัด! เอสเอ็มอี คือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 63

by Nanyarath Niyompong, 6 มกราคม 2563

"อุตตม" เผยปี 63 เดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจประเทศ แม้เผชิญอุปสรรครอบด้านที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลก เร่งอัดมาตรการเสริมแกร่งเอสเอ็มอี ยกเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ดร.อุตตม สาวนายน โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ดร.อุตตม สาวนายน  เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า 

เข้าสู่ศักราชใหม่มาแล้ว 4 วัน ผมคิดว่าหลายๆท่านคงได้เริ่มต้นเดินตามเป้าหมายชีวิตที่ตั้งไว้ในปีนี้แล้ว จึงขอให้ท่านจงประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้

สำหรับตัวผมเอง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังคงเป้าหมายที่จะทำงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว

ทุกท่านคงทราบดีว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจประเทศ ที่กำลังเผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะปัญหาที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่นสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลก

หลายท่านคงเห็นถึงความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย ที่ช่วยกันบริหารจัดการผลกระทบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่เกิดจากการแข็งค่าของเงินบาท รวมทั้งการร่วมมือบริหารอีกหลายๆโครงการ ที่จะก่อให้เกิดความเข้มแข็งภายในประเทศ รองรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเข้าพบท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมกับท่านรองนายกฯ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อหารือ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตามที่กระทรวงการคลังได้ตกผลึกร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

มาตรการนี้ เรียกว่า “มาตรการเสริมแกร่งเอสเอ็มอี เพิ่มทุน สร้างไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน” โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือด้านเงินทุน ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประมาณ 100,000 ราย
ทั้งนี้ในรายละเอียดมาตรการ ได้แบ่งกลุ่มเอสเอ็มอีที่จะให้การช่วยเหลือ เป็น 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่มีอุปสรรคการเข้าถึงแหล่งทุน แต่ไม่ถึงขั้นเป็น NPL ซึ่งเชื่อว่า เอสเอ็มอีกกลุ่มนี้จะมีราว 50 % จากเป้าหมาย 100,000 ราย หรือราว 5 หมื่นราย ที่ทาง บสย.จะเข้าไปช่วยขยายการค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มเติม เป็นการเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

2. กลุ่มที่มีปัญหาด้านเงินทุนอย่างมาก และกำลังจะกลายเป็น NPL ซึ่งน่าจะมีประมาณ 2 หมื่นรายจากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด โดยรูปแบบช่วยเหลือ คือเปิดทางให้ปรับโครงสร้างหนี้กับ บสย. ก่อน และบสย.จะจ่ายค่าเคลมเงินประกันให้ธนาคารผู้ให้สินเชื่อ เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง และเปิดทางให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้ ถือเป็นการยืดหยุ่นเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการ สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อีก

3. กลุ่มที่ดำเนินการได้ปกติ แต่ต้องการเงินทุนเสริมสภาพคล่อง กลุ่มนี้จะมีอยู่ประมาณ 3 หมื่นราย ซึ่งจะได้รับการดูแล ผ่านโครงการสินเชื่อพิเศษจากธนาคารรัฐ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน หรือ ธนาคารเอสเอ็มอีฯ เป็นต้น

ดังที่กล่าวข้างต้นไปว่า มาตรการทั้งหมดนี้ เป็นการตกผลึกร่วมกันของธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และบสย. โดยจะนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีรับทราบในรายละเอียดอีกครั้งเร็วๆนี้

ผมเชื่อว่ามาตรการข้างต้นนี้ จะช่วยแก้ปัญหาภาวะเข้าถึงเงินทุนยากให้กับเอสเอ็มอีกได้อย่างดี โดยจะมีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบประมาณ 1 แสนล้าน โดยทั้งหมดไม่ได้พึ่งพางบประมาณรัฐ แต่เป็นการใช้กลไกทางการเงินผ่านระบบธนาคารและบสย.

ขอเรียนว่า รัฐบาลยังมีมาตรการอื่นๆอีก ที่อยู่ในแผนสร้างความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอี ซึ่งรัฐบาลตั้งใจว่าจะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในปีนี้

ขอบคุณครับ

 


Mostview

คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท

ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ซึ่งมีการพูดถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อน และรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาได้สบายขึ้น

กล้าพอไหม! Airbnb เปิดให้เข้าพักบ้านลอยฟ้า มีลูกโป่งกว่า 8,000 ใบ โยงติดอยู่บนหลังคา

หากอยากจะทำอะไรตื่นเต้นต้องมาทางนี้ เมื่อ Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พักได้เปิดตัวโปรเจคต์ “Icon” เพื่อสร้างประสบการณ์พักผ่อนให้กับลูกค้า เปลี่ยนสิ่งที่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ให้กลายเป็นความจริง

ซีพีออลล์ ทำรายได้ไตรมาส 1/2567 รวม 241,307 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 พบว่าบริษัทมีรายได้รวม 241,307 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

SmartSME Line