วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2567

‘เทสโก้’ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติอังกฤษ จ่อโบกมือลาไทย-มาเลฯ หนีตลาดเอเชีย

by Smart SME, 8 มกราคม 2563

หลังจากก่อนหน้านี้ ที่มีการรายงานว่า Tesco ยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกจากสหราชอาณาจักรเตรียมพิจารณาขายกิจการร้านค้าในไทย และมาเลเซีย หลังมีผู้ให้ความสนใจอยากเข้าซื้อ

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า กรณีเทสโก้ (Tesco) กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติอังกฤษมองหาผู้สานต่อธุรกิจในตลาดเอเชีย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราว 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.7 แสนล้านบาท) กลายเป็นตัวอย่างการ “ม้วนเสื่อกลับบ้าน” ล่าสุดของเหล่าบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่จากซีกโลกตะวันตก

สำนักข่าวดาวโจนส์ นิวส์ไวร์ส (Dow Jones Newswires) ระบุว่าข้อเสนอรอบแรกจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมกราคม หลังเทสโก้ประกาศเมื่อเดือนธันวาคมว่าเริ่มกระบวนการทบทวนทางเลือกสำหรับธุรกิจในไทยและมาเลเซีย รวมถึงความเป็นไปได้ในการจำหน่ายธุรกิจ

ชื่อของ “เทสโก้” ปรากฏบนพาดหัวข่าวในจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากถูกร้องเรียนว่าผลิตภัณฑ์บางชนิดของเทสโก้ถูกผลิตขึ้นจากการใช้แรงงานนักโทษในเรือนจำที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถูกปฏิบัติเหมือนเป็นแรงงานทาส โดยเหตุการณ์นี้ทำให้เทสโก้ลดการขยายตัวในต่างประเทศ และเปลี่ยนไปมุ่งเน้นตลาดภายในของตนแทน แต่ก็ยังประสบปัญหาการแข่งขันสูงเพราะมีคู่แข่งอย่างแอมะซอนด็อทคอม (Amazon.com) และ โอคาโด กรุ๊ป (Ocado Group)

เทสโก้นั้นถอนตัวออกจากตลาดต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ รวมถึงยอมเสียอำนาจการบริหารและการดำเนินงานส่วนหนึ่งในจีนด้วย

ช่วงระยะเวลา 6 เดือน เมื่อนับถึงวันที่ 24 ส.ค. 2019 กำไรก่อนหักภาษีของเทสโก้อยู่ที่ 494 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.96 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 463 ล้านยูโร (1.56 หมื่นล้าน) ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนธุรกิจของเทสโก้ในไทยมีมูลค่าโดยประเมิน 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.1 แสนล้านบาท) ขณะในมาเลเซียมีมูลค่าโดยประเมินอยู่ระหว่าง 1.5-2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.5-6. หมื่นล้านบาท)

ข่าวลือว่าบรรดาบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่จากซีกโลกตะวันตกกำลังล้มลุกคลุกคลานบนทางสองแพร่งว่าจะปล่อยธุรกิจไปตามยถากรรมหรือขายหุ้นให้ผู้อื่นมาสานต่อ เพื่อเอาตัวรอดท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดในตลาดจีน ได้รับการยืนยันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาด้วยกรณีของคาร์ฟูร์ (Carrefour) หนึ่งในผู้ค้าปลีกชาวตะวันตกรายใหญ่ในจีน และกรณีการเจรจาระหว่างอาลีบาบา (Alibaba) และเมโทร (Metro) บริษัทในเครือศูนย์การค้าส่งสัญชาติเยอรมัน

 

 

 

สำหรับ Tesco ดำเนินงานภายใต้แบรนด์ Tesco Lotus โดยมีสาขาในประเทศไทยจำนวน 1,967 แห่ง และในมาเลเซียจำนวน 74 แห่ง ซึ่งบริษัทมีพนักงานรวมกันมากกว่า 60,000 คน อีกทั้ง สาขาของทั้งสองประเทศยังสร้างรายได้รวมกันถึง 4.9 พันล้านปอนด์ ทำกำไร 268 ล้านปอนด์ คิดเป็นกำไร 1 ใน 5 จากทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังมีการระบุถึง 3 กลุ่มทุนรายใหญ่ที่สนใจเข้าซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ในประเทศไทย ประกอบด้วย 1.นายเจริญ สิริวัฒนภัคดี จากกลุ่มช้าง, 2.นายธนินท์ เจียรวนนท์ จากกลุ่ม CP และ 3.ตระกูล จิราธิวัฒน์ จากกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งคาดว่าจะมีการเสนอราคาเพื่อยื่นเข้าซื้อกิจการภายในเดือนมกราคม 2020

 

Source : สำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


Mostview

คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท

ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ซึ่งมีการพูดถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อน และรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาได้สบายขึ้น

กล้าพอไหม! Airbnb เปิดให้เข้าพักบ้านลอยฟ้า มีลูกโป่งกว่า 8,000 ใบ โยงติดอยู่บนหลังคา

หากอยากจะทำอะไรตื่นเต้นต้องมาทางนี้ เมื่อ Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พักได้เปิดตัวโปรเจคต์ “Icon” เพื่อสร้างประสบการณ์พักผ่อนให้กับลูกค้า เปลี่ยนสิ่งที่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ให้กลายเป็นความจริง

ซีพีออลล์ ทำรายได้ไตรมาส 1/2567 รวม 241,307 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 พบว่าบริษัทมีรายได้รวม 241,307 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

SmartSME Line