วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2567

ซีอีโอทั่วโลก แสดงมุมมองที่เป็นลบต่อเศรษฐกิจโลกสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์

by Smart SME, 21 มกราคม 2563

PwC สัมภาษณ์ซีอีโอ 1,581 คน ใน 83 ประเทศ ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2562 โดยกลุ่มตัวอย่างมีการถ่วงน้ำหนักด้วย GDP ของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามุมมองของซีอีโอจะถูกนำเสนออย่างยุติธรรมในทุกภูมิภาค

และนี่คือข้อมูลสำคัญจากการสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอครั้งที่ 23 โดย PwC ที่ทำการสำรวจซีอีโอเกือบ 1,600 คน จาก 83 ประเทศทั่วโลก จากการประชุมประจำปี World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

บรรดาซีอีโอมีมุมมองที่เป็นลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากเป็นพิเศษในอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และตะวันออกกลาง โดยซีอีโอ 63%, 59% และ 57% จากภูมิภาคดังกล่าวตามลำดับ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตช้าลงในปีนี้

 “เมื่อพิจารณาจากความไม่แน่นอนอันเป็นผลมาจากความตึงเครียดทางการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการขาดฉันทามติในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงไม่น่าแปลกใจที่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจะลดลง” บ๊อบ มอริตซ์ ประธานของ PwC Network กล่าว “ความท้าทายเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ขนาดของปัญหาและการลุกลามอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้น ประเด็นสำคัญสำหรับบรรดาผู้นำที่มารวมตัวกันที่ดาวอสก็คือ เราจะร่วมมือกันจัดการกับความท้าทายเหล่านี้อย่างไร”

“อย่างไรก็ดี แม้บรรดาผู้นำธุรกิจจะมีมุมมองเป็นลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ยังมีโอกาสมากมายรออยู่ข้างหน้า การใช้กลยุทธ์ที่ว่องไว เน้นตอบสนองความคาดหวังที่เปลี่ยนไปของผู้ถือหุ้น และประสบการณ์ที่หลายบริษัทสั่งสมมานานนับสิบปีท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทาย จะช่วยให้บรรดาผู้นำธุรกิจสามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจขาลงและเติบโตต่อไปได้”

 

ซีอีโอมีความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้ลดลง

บรรดาซีอีโอมีมุมมองที่ไม่เป็นบวกมากนักต่อแนวโน้มของบริษัทตัวเองในปีนี้ โดยมีซีอีโอเพียง 27% ที่ “มั่นใจมาก” เกี่ยวกับการเติบโตขององค์กรใน 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2552 และลดลงจากระดับ 35% ในปี 2562

อย่างไรก็ดี ระดับความเชื่อมั่นของซีอีโอแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหญ่นั้น จีนและอินเดียมีระดับความเชื่อมั่นสูงสุดที่ 45% และ 40% ตามลำดับ สหรัฐอเมริกา 36%, แคนาดา 27%, สหราชอาณาจักร 26%, เยอรมนี 20%, ฝรั่งเศส 18% และญี่ปุ่นต่ำสุด โดยมีซีอีโอเพียง 11% ที่มั่นใจมากเกี่ยวกับการเติบโตของรายได้ในปี 2563

การที่บรรดาซีอีโอมีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของรายได้เปลี่ยนไป ถือเป็นตัวคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี เพราะจากการวิเคราะห์การคาดการณ์ของซีอีโอนับตั้งแต่ปี 2551 พบว่าความเชื่อมั่นของซีอีโอที่มีต่อการเติบโตของรายได้ใน 12 เดือนข้างหน้า และการเติบโตที่แท้จริงของเศรษฐกิจโลกนั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก (ดู exhibit 4 ในหมายเหตุ) หากเป็นไปตามการวิเคราะห์ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอาจชะลอลงแตะระดับ 2.4% ในปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ส่วนใหญ่ รวมถึงการคาดการณ์ของ IMF เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.4%

 

ซีอีโอจีน มองหาตลาดใหม่แทนสหรัฐ

 

สหรัฐยังคงเป็นตลาดอันดับหนึ่งที่บรรดาซีอีโอต้องการทำธุรกิจใน 12 เดือนข้างหน้า ที่ระดับ 30% ตามมาด้วยจีนที่ 29% อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งทางการค้าและความตึงเครียดทางการเมืองส่งผลให้ซีอีโอจีนสนใจตลาดสหรัฐลดลงอย่างมาก โดยในปี 2561 ซีอีโอจีน 59% เลือกสหรัฐเป็นตลาดสำคัญหนึ่งในสามอันดับแรก แต่ในปี 2563 ตัวเลขดังกล่าวร่วงลงเหลือเพียง 11% และพบว่าออสเตรเลียก้าวขึ้นมาเป็นตลาดสำคัญแทน โดยซีอีโอจีน 45% มองว่าออสเตรเลียเป็นตลาดสำคัญหนึ่งในสามอันดับแรก เพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2561

สำหรับตลาดสำคัญที่เหลือในห้าอันดับแรกไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้ว ได้แก่ เยอรมนี (13%) อินเดีย (9%) และสหราชอาณาจักร (9%) โดยสหราชอาณาจักรยังติดห้าอันดับแรกแม้เผชิญความไม่แน่นอนจาก Brexit ส่วนออสเตรเลียยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาติดห้าอันดับแรกแม้ได้รับความสนใจจากซีอีโอจีนมากขึ้นก็ตาม

 

ซีอีโอกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

 

ในปี 2562 เมื่อถามถึงอุปสรรคสำคัญต่อแนวโน้มการเติบโตขององค์กร พบว่า ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไม่ติดสิบอันดับแรก โดยรั้งอันดับ 12 แต่ในปีนี้ ความเสี่ยงดังกล่าวได้กระโดดขึ้นมารั้งอันดับ 3 เป็นรองแค่ความขัดแย้งทางการค้า อีกหนึ่งความเสี่ยงที่โดดเด่นขึ้นมาในปีนี้ และกฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดมากเกินไป ซึ่งครองแชมป์ความเสี่ยงอันดับหนึ่งอีกครั้งในปีนี้

นอกจากนี้ บรรดาซีอีโอยังกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม แม้จะมีภัยธรรมชาติรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และมีการถกเถียงในประเด็นดังกล่าวอย่างเข้มข้นมากขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงถูกปัจจัยเสียงอื่น ๆ บดบังความสำคัญ จึงยังไม่สามารถเข้ามาติดสิบอันดับแรกได้

 

การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์

 

ซีอีโอทั่วโลกแสดงความกังวลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับอุปสรรคของกฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดมากเกินไป นอกจากนั้นยังคาดการณ์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบข้อบังคับอย่างมากในภาคส่วนเทคโนโลยี โดยซีอีโอทั่วโลกกว่าสองในสามเชื่อว่ารัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะออกกฎหมายใหม่เพื่อควบคุมเนื้อหาในโลกอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย และเพื่อลดอำนาจของบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ขณะเดียวกัน ซีอีโอส่วนใหญ่ (51%) คาดการณ์ว่ารัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับให้ภาคเอกชนจ่ายเงินชดเชยให้แก่บุคคลเมื่อนำข้อมูลส่วนตัวมาใช้งาน

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการวางกฎระเบียบข้อบังคับด้านความเป็นส่วนตัว บรรดาซีอีโอยังก้ำกึ่งว่าการเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกับการรักษาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจมีความสมดุลกันหรือไม่ โดยซีอีโอ 41% มองว่าสมดุล ขณะที่ 43% มองว่าไม่สมดุล

 

ความท้าทายในการเพิ่มทักษะ

 

การขาดแคลนทักษะที่จำเป็นยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโต โดยบรรดาซีอีโอเห็นด้วยว่าการฝึกอบรมใหม่และการเพิ่มทักษะ (retraining/upskilling) เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการอุดช่องว่างด้านทักษะ แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวกลับไม่คืบหน้ามากนัก โดยมีซีอีโอเพียง 18% ที่ระบุว่า “มีความคืบหน้าอย่างมาก” ในการจัดโครงการเพิ่มทักษะ ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งผลสำรวจของ PwC ซึ่งสำรวจแรงงาน 22,000 คนทั่วโลก พบว่า 77% ต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่หรือเข้ารับการฝึกอบรมใหม่ แต่มีเพียง 33% ที่รู้สึกว่าได้รับโอกาสพัฒนาทักษะทางดิจิทัลนอกเหนือไปจากงานประจำของตนเอง

บ๊อบ มอริตซ์ ประธานของ PwC Network กล่าวว่า “การเพิ่มทักษะจะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการพูดคุยกันในสัปดาห์นี้ที่ดาวอส โดยบรรดาผู้นำธุรกิจ นักการศึกษา รัฐบาล และภาคประชาสังคม ต้องร่วมมือกันสร้างความเชื่อมั่นว่าแรงงานทั่วโลกจะได้มีส่วนร่วมในงานที่มีความหมายและมีคุณค่า ซึ่งบรรดาผู้นำธุรกิจมีบทบาทสำคัญในส่วนนี้ หลายคนอาจหวั่นกลัวอนาคต แต่ก็ยังต้องการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง และพวกเขาต้องการผู้นำที่ไว้วางใจได้”

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ - ความท้าทายหรือโอกาส

 

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่ติดสิบอันดับอุปสรรคสำคัญต่อแนวโน้มการเติบโตขององค์กร แต่บรรดาซีอีโอก็เห็นด้วยมากขึ้นกับการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง หากเทียบกับครั้งหลังสุดที่มีการถามคำถามนี้เมื่อสิบปีที่แล้ว บรรดาซีอีโอที่ “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” ว่าการลงทุนในโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มชื่อเสียงให้กับองค์กร มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า (30% ในปี 2563 เทียบกับ 16% ในปี 2553) ขณะเดียวกัน ซีอีโอที่มองว่าโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างโอกาสใหม่ ๆ ด้านผลิตภัณฑ์และบริการขององค์กร เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 25% ในปี 2563 เทียบกับ 13% ในปี 2553

มุมมองที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างโอกาสใหม่ ๆ ด้านผลิตภัณฑ์และบริการค่อนข้างคงที่ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร แต่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในจีนตลอดสิบปีที่ผ่านมา โดยในปี 2553 มีซีอีโอจีนเพียง 2% ที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำไปสู่โอกาส แต่ในปี 2563 มีมากถึง 47% นับว่าเพิ่มขึ้นมากที่สุดในบรรดาประเทศที่มีการสำรวจ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนโอกาสเหล่านี้ให้กลายเป็นความสำเร็จในระยะยาวนั้น จำเป็นต้องปลูกฝังหลักการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่อุปทานธุรกิจและประสบการณ์ของลูกค้า

 


Mostview

คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท

ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ซึ่งมีการพูดถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อน และรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาได้สบายขึ้น

กล้าพอไหม! Airbnb เปิดให้เข้าพักบ้านลอยฟ้า มีลูกโป่งกว่า 8,000 ใบ โยงติดอยู่บนหลังคา

หากอยากจะทำอะไรตื่นเต้นต้องมาทางนี้ เมื่อ Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พักได้เปิดตัวโปรเจคต์ “Icon” เพื่อสร้างประสบการณ์พักผ่อนให้กับลูกค้า เปลี่ยนสิ่งที่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ให้กลายเป็นความจริง

ซีพีออลล์ ทำรายได้ไตรมาส 1/2567 รวม 241,307 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 พบว่าบริษัทมีรายได้รวม 241,307 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท

SmartSME Line