วันพุธ, พฤษภาคม 8, 2567

ผลสำรวจเผยมูลค่าการใช้จ่ายไอทีทั่วโลกปี 64 สูงแตะ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

by Smart SME, 31 พฤษภาคม 2564

การ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก เผยแนวโน้มการใช้จ่ายไอทีทั่วโลกปี 2564 สูงแตะ 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.4% จากปี 2563 โดยแหล่งที่มาของเงินทุนเพื่อเริ่มธุรกิจดิจิทัลใหม่ ๆ นั้นมาจากแผนกธุรกิจอื่นๆ นอกแผนกไอที และคิดเป็นต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนการขาย (COGS)

 

นายจอห์น-เดวิด เลิฟล็อค รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ อิงค์ กล่าวว่า “ไอทีไม่เพียงแต่ปรับโฉมรูปแบบการดำเนินงานขององค์กรไปสู่สิ่งใหม่ ๆ แต่ยังมีส่วนสำคัญในการส่งมอบและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ นอกเหนือจากการพลิกบทบาทจากการทำงานเบื้องหลังไปสู่ส่วนหน้าของธุรกิจแล้ว ไอทียังเปลี่ยนต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้กลายเป็นแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ การติดตามตรวจสอบ และบางครั้งตัดต้นทุนบางอย่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อให้องค์กรมุ่งเน้นในสิ่งที่สร้างรายได้”

 

การ์ทเนอร์คาดว่าการใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทุกเซกเมนต์จะเติบโตต่อเนื่องไปถึงปี 2565 (ดูตารางที่ 1) อุปกรณ์ดีไวซ์จะเติบโตสูงสุด (14%) ขณะที่ซอฟต์แวร์ระดับองค์กรเติบโต (10.8%) เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานระยะไกลเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ทีมงาน

 

ที่มา: การ์ทเนอร์ (เมษายน 2564)

 

หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ องค์กรให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกับทั้งประสบการณ์และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ซึ่งเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ แห่งอนาคต อาทิ โซเชียลซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มทำงานร่วมกัน และซอฟต์แวร์การบริหารทุนมนุษย์ในองค์กร (HCM)

 

แม้ความพยายามในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการประหยัดต้นทุนจะยังคงมีอยู่ เนื่องจากความแน่นอนทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นในปี 2564 แต่สิ่งที่ซีไอโอให้ความสำคัญตลอดในช่วงเวลาที่เหลือของปี คือ การเร่งดำเนินการตามแผนธุรกิจดิจิทัลเพื่อยกระดับการดำเนินงาน ขยายและเปลี่ยนแปลงคุณค่าในการดำเนินงานของบริษัท

 

“ปีที่แล้ว การลงทุนด้านไอทีเป็นไปตามสภาวะการณ์ที่จำเป็น เพื่อเร่งเปิดใช้ระบบการทำงานจากระยะไกลให้พนักงานภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ในขณะที่รูปแบบการทำงานไฮบริดนั้นเกิดขึ้น ซีไอโอจะมุ่งให้ความสำคัญไปกับการใช้จ่ายไอทีที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมไม่ใช่เพียงทำงานให้สำเร็จลุล่วง” นายเลิฟล็อคกล่าวเพิ่มเติม

 

การใช้จ่ายไอทีกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการระบาดแต่มีความต่างออกไป

การฟื้นตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ๆ และกลุ่มไอทีในประเทศต่าง ๆ ยังคงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในรูปแบบ K-Shape จากมุมมองในระดับอุตสาหกรรม ภาคการเงินการธนาคาร หลักทรัพย์และการประกันภัยจะฟื้นตัวกลับมาในระดับเดียวกับช่วงก่อนการระบาดเมื่อต้นปี 2564 ขณะที่กลุ่มค้าปลีกและภาคการขนส่งจะยังไม่ฟื้นตัวจนกว่าจะถึงปี 2566

 

การใช้จ่ายด้านไอทีในภูมิภาคละตินอเมริกาคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปี 2567 ขณะที่ประเทศจีนกลับมาอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกับปี 2562 ส่วนภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตกคาดว่าจะฟื้นตัวได้ช่วงปลายปีนี้

 

ชมผลวิเคราะห์อย่างละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวโน้มการใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลกที่เว็บบินาร์ของการ์ทเนอร์ ในหัวข้อ"IT Spending Forecast, 1Q21 Update: How the Winners are Winning." เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวโน้มใหม่ ๆ ความท้าทายธุรกิจในอนาคต และแนวทางปฏิบัติสำหรับซีไอโอรวมถึงผู้นำไอทีในอีบุ๊คของการ์ทเนอร์ “Top Priorities for IT: Leadership Vision for 2021.”

 

การคาดการณ์แนวโน้มการใช้จ่ายด้านไอทีของการ์ทเนอร์ ใช้วิธีการวิเคราะห์ยอดขายอย่างเข้มข้นจากผู้ค้าหลายพันรายครอบคลุมผลิตภัณฑ์และบริการด้านไอทีทั้งหมด การ์ทเนอร์ใช้เทคนิคการวิจัยขั้นต้นซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยแหล่งข้อมูลทุติยภูมิที่เชื่อถือได้ในการสร้างฐานข้อมูลที่ครอบคลุมข้อมูลขนาดตลาดซึ่งเป็นฐานการพยากรณ์

 

 

การคาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีของการ์ทเนอร์ รายไตรมาสนำเสนอมุมมองที่แตกต่างครอบคลุมกลุ่มฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ บริการทางด้านไอทีและในกลุ่มของการสื่อสารโทรคมนาคม รายงานเหล่านี้ช่วยให้ลูกค้าของการ์ทเนอร์ ตระหนักถึงโอกาสและความท้าทายทางการตลาด ลูกค้าของการ์ทเนอร์สามารถอ่านรายงานการคาดการณ์การใช้จ่ายด้านไอทีล่าสุดได้จาก Gartner Market Databook, 1Q21 Update การคาดการณ์การใช้จ่ายไอทีไตรมาสนี้รวมลิงก์ข้อมูลของรายงานการใช้จ่ายด้านไอทีล่าสุด webinar blog posts และข่าวประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ไว้ด้วย

 

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางของการ์ทเนอร์ในการช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจอย่างถูกต้องเพื่อขับเคลื่อนอนาคตของธุรกิจได้ที่

gartner.com

 


Mostview

ผลกระทบขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจทำให้สินค้าขยับราคาขึ้น 15%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชน ทั้งในภาคส่วนการผลิต การค้า และบริการ การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

KFC มาเลเซียปิดกว่า 100 สาขา เพราะถูกชาวมุสลิมคว่ำบาตรธุรกิจสัญชาติสหรัฐฯ

KFC แฟรนไชส์สัญชาติอเมริกันกำลังตกเป็นเป้าหมายการรณรงค์คว่ำบาตรธุรกิจของประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับอิสราเอลที่ทำสงครามกับชาวปาเลสไตน์จนมีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

นี่คือเหตุผล เพราะอะไรการทำงานหนักไม่การันตีว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป

ทุกคนมักคิด และถูกปลูกฝังมาตลอดว่าให้ทำงานหนักเข้าไว้ แล้วผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่นี่อันเป็นความเชื่อที่ผิดก็ได้ หากเราตั้งข้อสงสัยว่า “ความหมายการทำงานหนักที่แท้จริงคืออะไร?” ทำไมผู้คนต่างทำตาม และดิ้นรนให้เกิดขึ้นจริง

เศรษฐกิจไม่ดี! KFC-Pizza Hut ในจีน ดึงกลยุทธ์สุดฤทธิ์เรียกลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

Yum China Holdings เจ้าของ KFC และ Pizza Hut เชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในจีน วางแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มในพื้นที่ที่ยังไม่เคยเปิด โดยใช้กลยุทธ์ขายเมนูในราคาต่ำเพื่อดึงลูกค้าเข้ามาในจำนวนมาก

SmartSME Line