วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2567

ส่องธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม เทรนด์โลกที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น กับแบรนด์ "CHEWW.CO" ผู้มาพร้อมนวัตกรรมยาสีฟันอัดเม็ด

by Smart SME, 10 ตุลาคม 2564

"CHEWW.CO" นวัตกรรมยาสีฟันอัดเม็ด เกิดจากนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ต้องการให้สินค้า Green เกิดขึ้นอยู่รอดได้จริงในสังคมทุนนิยม มุ่งปณิธานสิ่งแวดล้อมมากกว่าเป้าหมายทางธุรกิจ

"ยาสีฟันอัดเม็ด" ผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นสินค้านวัตกรรมและรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีมานานในต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่า "CHEWW.CO" เป็น Innovation Product รายแรกของเมืองไทย จุดเริ่มต้นจากคุณเกวลิน (หลิว) ศักดิ์สยามกุล ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการบริหาร ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชิว อีโค่ซีสเต็ม (Chew Ecosystem Limited Partnership)

ผู้ซึ่งมีความสนใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ตอนศึกษาการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยคิดว่าแนวคิดการออกแบบไม่จำเป็นต้องออกแบบเพื่อความสวยงาม สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า เพื่อขายสินค้าในกลุ่มที่มีรายได้มากเท่านั้น แต่ควรที่จะตอบโจทย์เพื่อการรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อม การทำสินค้าประเภท green ต้องสามารถอยู่รอดได้จริงในสังคมทุนนิยม ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ยังอยู่ในความคิด ความฝันในใจของคุณหลิวตลอดมา

เมื่อจบการศึกษาแล้วคุณหลิวก็เข้าทำงานด้านการตลาดในบริษัทโฆษณาเหมือน ๆ กับคนอื่น ๆ ที่จบมาในสาขาออกแบบบรรจุภัณฑ์เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากการทำงานในวงการโฆษณามีแรงกดดัน มีกาารแข่งขันสูง ทำให้ไม่มีความสุขจากการทำงาน และเกิดโรคซึมเศร้า เมื่อทำได้ประมาณ 8 ปี จึงตัดสินใจออกจากงานและหันมาทำงานในส่วนที่ตนเองถนัด

โอกาสนี้เอง คุณหลิวได้นำความฝันที่อยากจะทำผลิตภัณฑ์คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ตนเองเคยเก็บไว้ในใจตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือออกมาปัดฝุ่น โดยแนวคิดนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการจุดประกายจากอาจารย์ที่ปรึกษาสมัยเรียนปริญญาตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ชื่อ อ.ตุ๊กตา-ดร. ตรีชฎา โชติรัตนภินันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ไปปรึกษาการทำธุรกิจ green ที่ไฝ่ฝัน และชวนมาร่วมเป็น Co-founders โดยทั้งคุณหลิวและอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้ดูแล Product Concept และมีอาเขยที่เป็นเภสัชกร เชี่ยวชาญงานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยา เป็นคนดูแลเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์

.

.

.

.

จากประสบการณ์ที่คุณหลิวอยู่ในวงการโฆษณาถึง 8 ปี จึงเห็นโอกาสทางการตลาด เห็นถึงความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคส่วนหนึ่งในประเทศไทยนั้นมีอยู่จริง และสามารถที่จะพัฒนาเป็นลูกค้าในอนาคตต่อไป จึงได้ผลักดันยาสีฟันอัดเม็ด "CHEWW.CO" ออกมาเมื่อต้นปี 2562 ทันทีที่ออกตลาดก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค ช่องทางขายในระยะแรกเน้นการขายทางออนไลน์ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก เพราะนอกเหนือการมีช่องทางการขายออนไลน์ที่มีต้นทุนต่ำแล้ว ยังเป็นการใช้ช่องทางดังกล่าวในการทำโฆษณา แนะนำจุดเด่นความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนยาสีฟันทั่วไปในท้องตลาด

คุณหลิวบอกว่า "การให้ความสนใจจากสื่อมวลชนที่เห็นว่าสินค้าของเราอยู่ในกลุ่ม green คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แล้วนำไปเผยแพร่ยังที่ต่าง ๆ เป็นประโยชน์อย่างมากในการสร้างแบรนด์ ลูกค้าให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ไม่ต้องใช้แรงผลักดันมากนักในการเข้าสู่ตลาด"

"CHEWW.CO" ถูกวางแนวคิดด้าน green มาตั้งแต่ต้น เริ่มต้นจากตัวผลิตภัณฑ์ที่คัดสรรและนำส่วนประกอบที่เป็นสิ่งปรุงแต่งยาสีฟันออกไป เช่น ส่วนผสมของน้ำ เพื่อให้สามารถพัฒนาเข้มข้นจนสามารถอัดเป็นเม็ดได้ ลดปัญหาเรื่องบรรจุภัณฑ์หลอดพลาสติกที่ย่อยสลายยาก เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นขวดแก้ว ซึ่งสามารถ Recycle ได้ เปิดแนวคิดในการใช้ยาสีฟันไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมากนัก เพราะในปากก็มีน้ำลายซึ่งมีสภาพเป็นน้ำอยู่แล้ว ทำการตลาดสำหรับลูกค้าที่มาซื้อซ้ำโดยไม่จำเป็นต้องซื้อชนิดขวดเป็นรอบที่ 2 แต่ส่งเสริมให้ซื้อ refill โดยใส่ถุงกระดาษเป็นบรรจุภัณฑ์ และหาทางส่งเสริมเปิดช่องทางขายร้านขายสินค้าจำพวก green ที่มีแนวคิดเรื่องการนำภาชนะมาตักซื้อ เพื่อลดขยะด้านบรรจุภัณฑ์

"นอกเหนือจากการเจาะเข้าร้านค้าประเภท green แล้ว ปัจจุบันก็ได้วางอยู่ในท็อปซุปเปอร์มาเก็ต เซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ แต่ในช่องทางประเภทนี้ไม่สามารถให้บริการแบบนำภาชนะมาตักได้ จึงขายได้แต่เฉพาะบรรจุภัณฑ์แบบขวด เพราะยังติดปัญหาเรื่องกฎหมายที่จะต้องป้องกันเรื่องการปนเปื้อน การตรวจสอบเรื่องมาตรฐานต่าง ๆ สำหรับสินค้าเข้าห้างได้ต้องปฏิบัติตามรายละเอียดที่ทางห้างกำหนดไว้" คุณหลิวเล่าถึงข้อจำกัดในการทำการตลาด refill ในประเทศไทย ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย สวีเดน ที่สามารถทำได้เป็นการทั่วไปในห้างสรรพสินค้า หรือซูปเปอร์มาร์เก็ตสโตร์

.

.

ทางด้านเป้าหมายตลอดจนวิสัยทัศน์ในการดำเนินกิจการตั้งแต่แรก และจะเป็นทิศทางต่อไปในอนาคต คุณหลิวบอกว่า เรื่องการขยายไปสู่ mass ก็เป็นเป้าหมายทางการตลาด โดยจะพยายามส่งเสริมให้ผู้บริโภคนิยมมากขึ้น เพื่อเพิ่มยอดขาย ส่งผลให้ราคาต่อหน่วยลดลงมา สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีอำนาจการซื้อต่ำกว่าปัจจุบัน

เพราะยอมรับว่าด้วยข้อจำกัดด้านปริมาณการผลิต "CHEWW.CO" จึงเป็นสินค้าที่ตอบสนองคนในกลุ่ม B+ เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้เร่ง เพราะไม่ได้ใช้มาตรวัดทางธุรกิจเป็นเงื่อนไขของความสำเร็จ แต่เน้นมาตรวัดด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า เปิดให้สินค้าของตัวเองเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค แม้ว่าต้องใช้เวลา

ตอนคิดโมเดลธุรกิจก็ศึกษาให้คุ้มทุนตั้งแต่ล็อตแรกที่ผลิตแล้ว โดยการวางแผนกำหนดสูตรการผลิตแล้วส่งต่อให้ OEM เป็นคนผลิตน่าจะสะดวกกว่าและเป็นการลงทุนที่ถูกที่สุด สะดวกไม่ยุ่งยาก ไม่มีความคิดที่จะมาลงทุนด้านโรงงานของตัวเอง แม้ว่ายอดของการขายจะมากกว่านี้ก็ตาม ส่วนแนวคิดที่จะส่งออกไปต่างประเทศก็ยังไม่มี เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วและให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสินค้า Green เขาก็มียาสีฟันอัดเม็ดกันมานานแล้ว ช่วงต้นนี้เน้นขายตลาดในประเทศก่อน

ในความเห็นของคุณหลิวคิดว่าอุปสรรคที่สำคัญของการทำผลิตภัณฑ์ "CHEWW.CO" ไม่ได้อยู่ที่ส่วนของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคหรือองค์กร NGO ต่างเรียกร้องและพร้อมให้การต้อนรับกับสินค้าในลักษณะนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว สิ่งที่ไม่พร้อมคือระบบ ตลอดจนกรอบทางความคิดของผู้มีอำนาจทางกฎหมาย ข้อจำกัดประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ภาครัฐบาลมองเห็นต่างจากภาคผู้บริโภคและองค์กร NGO เช่น วิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศที่มีต่อเรื่องของ สิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์ทางด้าน Green ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ไม่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์ Green โครงสร้างทางภาษี หรือสิ่งแวดล้อม ไม่มีมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับธุรกิจ Green 

.

โมเดลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ "CHEWW.CO"

1.) มุ่งปณิธานสิ่งแวดล้อมมากกว่าเป้าหมายทางธุรกิจ
2.) ต้องการให้สินค้า Green เกิดขึ้นอยู่รอดได้จริงในสังคมทุนนิยม
3.) เป็นสินค้าที่ใช้ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาสร้างนวัตกรรมยาสีฟันให้ลดการใช้น้ำ และลดการเกิดขยะพลาสติก
4.) ส่งเสริมให้ซื้อ refill โดยใส่ถุงกระดาษเป็นบรรจุภัณฑ์เมื่อซื้อครั้งที่ 2 ตลอดจนส่งเสริมช่องทางขายร้านขายสินค้าจำพวก green ที่นำภาชนะมาตักซื้อ เพื่อลดขยะด้านบรรจุภัณฑ์

.

.


Mostview

ปิดแล้ว! ร้าน Lawson ฉากหลังภูเขาฟูจิ หลังนักท่องเที่ยวไม่ทำตามกฏ ทิ้งขยะเกลื่อน

อีกหนึ่งจุดถ่ายภาพเวลานักท่องเที่ยวไปภูเขาฟูจิที่ประเทศญี่ปุ่น นั่นคือพื้นที่ร้านสะดวกซื้อ Lawson ที่มีฉากหลังเป็นภูเขาฟูจิ ที่เรียกว่าเป็นแลนด์มาร์คที่ใครมาต้องมาถ่ายรูปให้ได้ แต่ตอนนี้กำลังจะเหลือเพียงความทรงจำ กลายเป็นอดีต

ผลกระทบขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจทำให้สินค้าขยับราคาขึ้น 15%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชน ทั้งในภาคส่วนการผลิต การค้า และบริการ การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

Noumami บริษัทนอร์เวย์ ผลิตน้ำปลาจากแซลมอน แบรนด์แรกของโลก

“น้ำปลา” จัดเป็นสินค้าสัตว์น้ำพื้นเมืองของประเทศไทย โดยปลาที่นิยมนำมาเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ ปลากะตัก ปลาสร้อย ปลาซิวแก้ว แต่ตอนนี้ไม่ใช่แค่ปลาดังกล่าวที่พูดมาสามารถนำมาทำเป็นน้ำปลาได้ เพราะปลาแซลมอนก็สามารถนำมาผลิตได้เช่นกัน

Wang Ning เจ้าของ Pop Mart ผู้กลายมาเป็นเศรษฐีจากการขายตุ๊กตา Molly ราคา 300 กว่าบาท ทั่วจีน

Pop Mart ร้านขายของเล่น Art Toys ชื่อดัง ที่ชั่วโมงนี้ไม่มีนักสะสมคนไหนไม่รู้จัก พร้อมที่จะมุ่งไปทันทีหากมีการเปิดขายคอลเล็กชันตัวละครใหม่ จนต้องมีการลงทะเบียนเพื่อรับคิวในการเข้าซื้อกันเลยทีเดียว

SmartSME Line