วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2567

พานาโซนิค ยืดอกรับผิด กรณีพนักงานฆ่าตัวตายจากการทำงานหนัก พร้อมปรับวิธีนับเวลาทำงาน แม้จะทำนอกเวลาที่บ้าน ก็ให้รวมอยู่ในชั่วโมงการทำงานด้วย

by Smart SME, 13 ธันวาคม 2564

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมการทำงานหนัก จนมีข่าวที่ไม่สู้ดีนักเล็ดลอดออกสู่สายตาชาวโลกอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่ในอดีตเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ซึ่งล่าสุด Panasonic ยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นได้ออกมายอมรับผิด และกล่าวคำขอโทษไปยังอดีตพนักงานที่ฆ่าตัวตายจากการทำงานหนักเกินไป

อดีตพนักงานดังกล่าวเป็นชายอายุ 43 ปี จากจังหวัดฮิโรชิมา ผู้เริ่มทำงานให้กับพานาโซนิคตั้งแต่ปี 2003 ในตำแหน่งคนงาน ก่อนที่ในปี 2019 จะได้เลื่อนขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าแผนกวิศวกรรมที่ทำให้เขาต้องประสบกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและหนักหน่วงมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งที่เวลาในการทำงานตามมาตรฐานมีเพียง 40 ชั่วโมง จนต้องเข้านอนในเวลาประมาณตี 4 - 5 และออกจากบ้านไปทำงานอีกครั้งก่อน 8 โมงเช้า

ทนายความของเขาบอกว่านอกจากชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป ภาระงานที่มอบให้ก็ค่อนข้างเกินกำลัง ในบางวันเขาต้องประชุมมากถึง 10 ครั้ง และหนึ่งในเงื่อนไขของการเลื่อนขั้น พานาโซนิคยังต้องให้พนักงานทดสอบว่าตนเองมีคุณสมบัติเพียงพอ จนทำให้เขาไม่มีเวลาสำหรับจัดการงานในตำแหน่งปัจจุบัน และในที่สุดกิจวัตรที่ไม่เป็นปกติก็ทำให้อดีตพนักงานตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าจากการทำงานหนักมากเกินไป และตัดสินใจฆ่าตัวตายในเดือนตุลาคมปี 2019

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้งและได้รับความสนใจในระดับชาติ ซึ่งในปี 2018 รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้มีการผ่านร่างแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน โดยกำหนดให้มีการทำงานล่วงเวลาได้สูงสุด 45 ชั่วโมงต่อเดือน

แต่แม้ว่าจะมีกฏหมายดังกล่าวออกมาแล้ว ก็ยังไม่ได้ผลในเชิงปฏิบัติเท่าที่ควร เพราะบริษัทใหญ่หลายแห่งรายงานชั่วโมงการทำงานต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการสำรวจบริษัท 24,042 แห่ง และพบว่ามีกว่า 37 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว

สำหรับกรณีนี้โฆษกของพานาโซนิคบอกว่า ตอนนี้บริษัทตระหนักดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และได้ดำเนินการแก้ไขนโยบายเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน โดยตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาบริษัทได้อัปเดตระบบนับเวลาทำงาน เพื่อให้นับชั่วโมงของพนักงานที่ทำงานจากบ้านด้วย

“บริษัทขออภัยต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและยื่นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการบริหารเวลาของพนักงาน นับเป็นครั้งแรกที่พานาโซนิคจะนับรวมเวลาของการทำงานที่บ้านเป็นส่วนหนึ่งของชั่วโมงในการทำงาน” ทนายความของอดีตพนักงานยังเสริมว่าการทำงานหนักเกินไปเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกที่ในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ ดังนั้นการนับเวลาทำงานอย่างเป็นธรรมนั้นสำคัญมาก ไม่เช่นนั้นบริษัทต่างๆ จะสามารถเลี่ยงช่องโหว่เหล่านี้ได้

ที่มาข้อมูล : https://www.vice.com/en/article/4awxdg/japans-top-electronics-company-admits-employee-died-by-suicide-from-overwork 


Mostview

ปิดแล้ว! ร้าน Lawson ฉากหลังภูเขาฟูจิ หลังนักท่องเที่ยวไม่ทำตามกฏ ทิ้งขยะเกลื่อน

อีกหนึ่งจุดถ่ายภาพเวลานักท่องเที่ยวไปภูเขาฟูจิที่ประเทศญี่ปุ่น นั่นคือพื้นที่ร้านสะดวกซื้อ Lawson ที่มีฉากหลังเป็นภูเขาฟูจิ ที่เรียกว่าเป็นแลนด์มาร์คที่ใครมาต้องมาถ่ายรูปให้ได้ แต่ตอนนี้กำลังจะเหลือเพียงความทรงจำ กลายเป็นอดีต

ผลกระทบขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจทำให้สินค้าขยับราคาขึ้น 15%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชน ทั้งในภาคส่วนการผลิต การค้า และบริการ การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

Noumami บริษัทนอร์เวย์ ผลิตน้ำปลาจากแซลมอน แบรนด์แรกของโลก

“น้ำปลา” จัดเป็นสินค้าสัตว์น้ำพื้นเมืองของประเทศไทย โดยปลาที่นิยมนำมาเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ ปลากะตัก ปลาสร้อย ปลาซิวแก้ว แต่ตอนนี้ไม่ใช่แค่ปลาดังกล่าวที่พูดมาสามารถนำมาทำเป็นน้ำปลาได้ เพราะปลาแซลมอนก็สามารถนำมาผลิตได้เช่นกัน

Wang Ning เจ้าของ Pop Mart ผู้กลายมาเป็นเศรษฐีจากการขายตุ๊กตา Molly ราคา 300 กว่าบาท ทั่วจีน

Pop Mart ร้านขายของเล่น Art Toys ชื่อดัง ที่ชั่วโมงนี้ไม่มีนักสะสมคนไหนไม่รู้จัก พร้อมที่จะมุ่งไปทันทีหากมีการเปิดขายคอลเล็กชันตัวละครใหม่ จนต้องมีการลงทะเบียนเพื่อรับคิวในการเข้าซื้อกันเลยทีเดียว

SmartSME Line