วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2567

"ยอมเจ็บเพื่อจบ" เหล่าธุรกิจร้านอาหารต้องปรับ ขยับโปรฯ ให้แรง! เพื่อรอดวิกฤติโควิด-19

by Smart SME, 9 เมษายน 2563

เมื่อธุรกิจร้านอาหาร “ต้องรอด” วิกฤตโควิด19

การรับมือกับโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด19 ซึ่งในหลายประเทศทั่วโลกต้องใช้มาตรการเข้มเพื่อยับยั้งการแพร่กระจาย หนึ่งในมาตรการสำคัญคือการให้อยู่บ้านและปิดพื้นที่ที่คนจำนวนมากอยู่รวมกัน อย่างศูนย์การค้าและงดการรับประทานอาหารในร้าน สถานการณ์นี้ทำให้ร้านอาหารเผชิญกับความยากลำบาก

จะเห็นจากการที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการรายได้ของธุรกิจร้านอาหารในปี 2563 ลงเหลือ 4.02 – 4.12 แสนล้านบาทจากคาดการณ์เดิม ณ ต้นปี 2563 มูลค่า 4.39 แสนล้านบาทหรือลดลง 2.65 - 3.65 หมื่นล้านบาท การกู้วิกฤติครั้งนี้จึงกลายเป็น “ความท้าทาย” อย่างมากในการประคองธุรกิจให้อยู่รอดภายใต้วิกฤติครั้งใหญ่นี้

 

MK เจ็บเพื่อจบ จัดโปรแรง “ซื้อ 1 แถม1”

 

 

บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่การมีสาขานอกศูนย์การค้าจำนวนน้อย การปิดพื้นที่ดังกล่าวจึงได้รับผลกระทบมาก ซึ่งการรับมือครั้งนี้ขั้นแรกเอ็มเคมุ่งไปที่การระบายสต็อกซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่มีอายุจำกัด ด้วยแคมเปญซื้อ 1 แถม 1 ในอาหารหลายเมนู ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในรอบ 33 ปีของเอ็ม เค ที่ยอมเฉือนเนื้อลงถึง 50%

โดยหันมาจำหน่ายเฉพาะช่องทางออนไลน์อย่าง www.MK1642.com, MK Delivery แน่นอนว่าสินค้าที่สร้างกระแสให้กับแคมเปญนี้เป็นอย่างมากคือ “เป็ดย่างเอ็ม เค” เมื่อมีการจัดแคมเปญซื้อ 1 แถม 1 ในวันที่ 25 มีนาคมพบว่ามีคำสั่งซื้อและส่งเป็ดย่างให้ลูกค้ามากกว่า 100,000 จาน


นอกจากนี้เอ็มเคได้เปิดให้บริการใหม่ผ่าน MK FRESH MART ด้วยการจำหน่าย “ผักสด” ภายใต้แนวคิด “พร้อมส่งผักสด ตรงถึงบ้าน” เป็นผักจากโครงการหลวงและไม่คิดค่าส่งเมื่อสั่งครบ 150 บาท มีกำหนดให้บริการประมาณ 30 วันหรือจนกว่าสินค้าจะหมด กรณีนี้สะท้อนให้เห็นได้ว่ากลยุทธ์กระจายความเสี่ยงของเอ็มเคได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

เนื่องจากในปีที่ผ่านมาได้ตัดสินใจร่วมทุนกับเซนโค กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด บริษัทโลจิสติกส์จากญี่ปุ่น ซึ่งเชี่ยวชาญในการขนส่งสินค้าแบบเย็น (Cold Chain) ด้วยรถควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งเป็นรายแรกในไทยที่สามารถให้บริการลอจิสติกส์แบบเย็นได้ครบวงจร ทำให้เอ็มเค มีความได้เปรียบในการจัดการด้านคุณภาพของสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จะเห็นว่าครั้งนี้นอกจากเอ็มเคจะสามารถระบายสินค้าในสต็อกได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก แม้ว่าจะไม่ได้ระดับกำไรเทียบเท่าช่วงเวลาปกติก็เชื่อว่ายังมีกำไร ขณะเดียวกันยังทำให้เห็นว่ากลยุทธ์ที่เลือกใช้นั้นสอดคล้องกับพฤติกรรมเป็นอย่างมาก เพราะทุกคนต้องอยู่บ้าน ต้องกินหรือหันมาทำอาหารกินเองมากขึ้น


ZEN รุดปรับโมเดล “ครัวกลาง” ประคองรายได้

 

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระยะแรกส่งผลกระทบต่อยอดขายบริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยตัวเลขที่ลดลงถึง 20% เนื่องจากรายได้หลักมาจากสาขาในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงประกอบกับผู้บริโภคจะระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้นเพราะความกังวล ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การขยายตัวของช่องทางเดลิเวอรีเพิ่มขึ้น 20% ขณะที่ร้านอาหารที่ราคาไม่สูงกลับมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

การตีโจทย์ของกลุ่มธุรกิจเซนกับภาวะวิกฤตครั้งนี้ สิ่งแรกคือปรับเมนูและโมเดลธุรกิจใหม่ เช่น ปลาดิบ ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดทำให้ลดครัวเย็นลง ปรับไปเน้นเมนูปรุงสุก ขณะเดียวกันเลือกที่จะปรับโมเดลธุรกิจด้วยการหันมาโฟกัสที่ช่องทางเดลิเวอรี่ ด้วยระบบครัวกลาง โดยปรับพื้นที่ครัวของร้านอาหารในเครือ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการเดลิเวอรี่ได้อย่างหลากหลาย

เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่นเซนจะพื้นที่เป็น ‘ครัวกลาง’ ให้กับร้านอาหารต่าง ๆ ในกลุ่ม ซึ่งเฟสแรกจะปรับ 5 สาขา ได้แก่ สาขาดองกิ มอลล์ ทองหล่อ, สยามสแควร์ วัน, เดอะมอลล์ บางกะปิ, เดอะแจส วังหิน และอาคารออล ซีซั่นส์ หรือครัวเขียงจะเข้าไปแบ่งพื้นที่ครัวตำมั่ว, ครัวมุฉะ อยู่ในพื้นที่ครัวเซน เป็นต้น เป็นการสลับแบรนด์ร้านอาหารลูกมาอยู่ในครัวแบรนด์หลัก ซึ่งคาดว่าจะช่วยทำให้มีรายได้อีก 5-10%

อย่างไรก็ตาม จะยังคงมีการพัฒนาปรับรูปแบบธุรกิจรูปแบบนี้ต่อไปอีก 1-2 ปีรวมถึงการมองโมเดลธุรกิจใหม่ เช่น การขยายเมนูที่เป็นสตรีทฟู้ดอย่าง ข้าวมันไก่ ที่จะให้บริการร่วมกับร้านเขียง หรือการทำอาหารกล่อง ข้าวปั้น อาหารทำสำเร็จที่จะไปขายตามจุดต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์พนักงานออฟฟิศที่ไม่มีเวลามาก ซึ่งจะทำคู่กับการเดลิเวอรี่ในอนาคต

 

ไมเนอร์ ประกาศยกระดับ “เดลิเวอรี่”ขั้นสูง 

 

 

บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำในตลาดเชนร้านอาหารด้วยร้านอาหารในเครือ 1,430 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ไม่น้อยจากการปิดสาขาชั่วคราวไปแล้วกว่า 500 สาขา ซึ่งเป็นช่องทางที่สร้างยอดขายหลักให้กับไมเนอร์ ทำให้สัดส่วนรายได้ในขณะนี้มาจากที่นั่งกินในร้านเหลือ 0% เดลิเวอรี่เพิ่มเข้ามาเป็น 70% และซื้อกลับบ้านมาเป็น 30% ส่วนบริการไดรฟ์ทรูของจากเบอร์เกอร์คิง เติบโตกว่า 2 เท่าตัว

การปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่สะท้อนจากรายได้ในแต่ละช่องทางซึ่งเปลี่ยนแปลงจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ไมเนอร์ต้องปรับกลยุทธ์ไปในทิศทางที่สอดคล้อง เช่น ขยายระยะเวลาให้บริการสำหรับร้านที่ไม่อยู่ในศูนย์การค้า เช่นเดอะ พิซซ่า คอมปานี้และเบอร์เกอร์คิงจากเดิมเริ่มส่งอาหารเวลา 10.00 น. ได้ขยับมาเป็น 08.00 น. และส่งจนถึงเที่ยงคืน โดยจะรับผิดชอบค่าส่งแทนผู้บริโภค 50 บาท เมื่อสั่งผ่านแอปฯ 1112 จาก 22 มีนาคม ถึง 12 เมษายน 2563

สำหรับไมเนอร์ฯ จัดเป็นเชนร้านอาหารที่มีความหลากหลายด้านช่องทางจัดจำหน่ายสูง ทำให้ในสถานการณ์นี้ยิ่งต้องพยายามนำจุดแข็งที่มีมาใช้ประโยชน์สูงสุด โดยการปรับระบบการให้บริการจากเดิมที่แยกเป็นรายแบรนด์แต่เริ่มจากวันที่ 24 มีนาคมนี้จะสามารถใช้บริการรับคำสั่งซื้อและให้เดลิเวอรี่ได้เช่นเดียวกันทั้งหมด เพื่อเพิ่มความสะดวกและเพิ่มโอกาสในการขาย


KFC ย้ำความมั่นใจด้วย“Contactless Delivery”

 

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เคเอฟซีมีตัวเลขผู้ใช้บริการผ่านช่องทางดีลิเวอรี (Delivery) เพิ่มสูงขึ้น 50% และบริการไดรฟ์ทรูเพิ่มขึ้น 20% สะท้อนถึงความต้องการสั่งอาหารไปรับประทานที่บ้านเพิ่มขึ้น หากเทียบกับช่วงปกติ ส่งผลให้สำหรับเคเอฟซี เลือกที่จะให้ความสำคัญกับมาตรการทางสังคมเพื่อสร้างมั่นใจในการใช้บริการ
เริ่มการหนุนแนวคิดเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distance) ด้วยบริการใหม่ “Contactless Delivery” หรือ “บริการส่งอาหารแบบไร้สัมผัส” เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดส่งนั้น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อที่เกิดจากการสัมผัส ทั้งจากการสัมผัสเงินและการสัมผัสมือ ผ่าน 3 ขั้นตอน ดังนี้

การสั่ง-สั่งผ่านเว็บไซต์ kfc.co.th หรือ แอปพลิเคชัน KFC Thailand เพื่อเลือกและสั่งเมนูตามต้องการใช้บริการ Contactless ชำระเงินด้วยบัตรเครดิต หรือ Rabbit Line Pay จากนั้นจะทำการบรรจุสินค้า ด้วยพนักงานผู้ดูแลออร์เดอร์เป็นคนจัดอาหาร บรรจุ และตรวจคุณภาพอาหารก่อนผูกมัดถุง และนำอาหารจัดใส่กระเป๋าขนส่งของการจัดส่งขั้นตอนการส่งพนักงานส่งเดินทางไปยังจุดหมาย โทรหาลูกค้า โดยลูกค้าหยิบถุงบรรจุอาหารออกจากกระเป๋าจัดส่งเองและเว้นระยะห่างในการยืนรอ

นอกจากนี้เคเอฟซี เลือกนำแคมเปญรณรงค์ให้ประชาชนอยู่ในที่ตั้งเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อและติดเชื้อจากภายนอก ผ่านข้อความรณรงค์ให้กำลังใจคนไทย “อยู่บ้าน ยิ้มเข้าไว้ เคเอฟซียังอยู่คอยให้บริการ” ด้วยภาพพนักงานเคเอฟซีจากจังหวัดต่าง ๆ ทั้งประเทศ ที่ร่วมส่งกำลังในให้คนไทยและยืนยันว่าจะอยู่ให้บริการเปิดให้บริการร้านเคเอฟซี บริการเดลิเวอร์รี่ และไดร์ฟทรู ทั่วประเทศ ในทุกจังหวัดที่ ได้รับอนุญาตในการให้บริการปัจจุบันเคเอฟซีเปิดให้บริการทั้งสิ้น 810 สาขา ใน 73 จังหวัด โดยมีบริการดีลิเวอรี่รวมกว่า 600 สาขา และไดรฟ์ทรูอีก 94 สาขา

 

 

 


Mostview

ปิดแล้ว! ร้าน Lawson ฉากหลังภูเขาฟูจิ หลังนักท่องเที่ยวไม่ทำตามกฏ ทิ้งขยะเกลื่อน

อีกหนึ่งจุดถ่ายภาพเวลานักท่องเที่ยวไปภูเขาฟูจิที่ประเทศญี่ปุ่น นั่นคือพื้นที่ร้านสะดวกซื้อ Lawson ที่มีฉากหลังเป็นภูเขาฟูจิ ที่เรียกว่าเป็นแลนด์มาร์คที่ใครมาต้องมาถ่ายรูปให้ได้ แต่ตอนนี้กำลังจะเหลือเพียงความทรงจำ กลายเป็นอดีต

ผลกระทบขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจทำให้สินค้าขยับราคาขึ้น 15%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชน ทั้งในภาคส่วนการผลิต การค้า และบริการ การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

Noumami บริษัทนอร์เวย์ ผลิตน้ำปลาจากแซลมอน แบรนด์แรกของโลก

“น้ำปลา” จัดเป็นสินค้าสัตว์น้ำพื้นเมืองของประเทศไทย โดยปลาที่นิยมนำมาเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ ปลากะตัก ปลาสร้อย ปลาซิวแก้ว แต่ตอนนี้ไม่ใช่แค่ปลาดังกล่าวที่พูดมาสามารถนำมาทำเป็นน้ำปลาได้ เพราะปลาแซลมอนก็สามารถนำมาผลิตได้เช่นกัน

Wang Ning เจ้าของ Pop Mart ผู้กลายมาเป็นเศรษฐีจากการขายตุ๊กตา Molly ราคา 300 กว่าบาท ทั่วจีน

Pop Mart ร้านขายของเล่น Art Toys ชื่อดัง ที่ชั่วโมงนี้ไม่มีนักสะสมคนไหนไม่รู้จัก พร้อมที่จะมุ่งไปทันทีหากมีการเปิดขายคอลเล็กชันตัวละครใหม่ จนต้องมีการลงทะเบียนเพื่อรับคิวในการเข้าซื้อกันเลยทีเดียว

SmartSME Line