วันจันทร์, พฤษภาคม 6, 2567

9 ธุรกิจกวาดกำไรช่วงโควิด-19

by Smart SME, 21 เมษายน 2563

จากมาตรการ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" ของรัฐบาล ที่ส่งผลกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เริ่มลดน้อยลง แต่มาตรการดังกล่าวก็ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องเจอทางตัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางธุรกิจที่สามารถพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสได้ มาดูกันว่าธุรกิจที่สามารถกวาดกำไรในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีอะไรบ้าง

9 ธุรกิจทำเงินช่วงโควิด-19

1. ธุรกิจรับส่งอาหารและสินค้า

เมื่อคนต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน แต่ความต้องการเรื่องของอาหารและสินค้าที่ต้องการใช้ไม่ได้ลดลงไปตาม ทำให้ช่วงเวลาแบบนี้เป็นการเติบโตของบริการรับส่งอาหาร และรับซื้อสินค้าอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้บรรดาแพลตฟอร์มบริการส่งสินค้าและอาหาร มียอดการสั่งซื้อชนิดที่เพิ่มขึ้นแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากจะทำให้มีคนใช้บริการมากขึ้นแล้ว ยังทำให้คนหันมาทำอาชีพคนส่งของมากขึ้นไปด้วย 

2. ร้านค้าออนไลน์ยอดพุ่ง

ธุรกิจขายสินค้าออนไลน์กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง มีการจับจ่ายสั่งซื้อสินค้าสนั่นโลกโซเชียลดันยอดขายพุ่งกระฉูด กลายเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการ นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในช่วงที่รัฐบาลออกมาตรการปิดห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร ฯลฯ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งบรรดาขาช้อปทั้งหลายได้ เพราะความต้องการสินค้าส่วนตัว หรือสิ่งของจำเป็นเพื่ออุปโภคบริโภคยังมีคำสั่งต่อเนื่องทุกวัน

3. อุปกรณ์ตกแต่งบ้านก็มาแรง

การทำงานอยู่ที่บ้าน หรือ work from home (WFH) ทำให้พ่อบ้านแม่บ้านที่ไม่เคยใช้เวลาอยู่กับบ้านเป็นเวลานาน ก็จะมีเวลาที่จะมองเห็นสิ่งขาดตกบกพร่องภายในบ้านว่ามีอะไรที่ขาดหายไป การออกไปจับจ่ายซื้อสินค้าเองคงเป็นไปไม่ได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยในยุคนี้สามารถมองหาสินค้าตามความต้องการผ่านร้านสินค้าออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย ทำให้พ่อบ้านคิดจะตกแต่งบ้านเป็นไปได้โดยง่ายดายเพียงปลายนิ้ว

4. ความบันเทิงแบบสตรีมมิ่งเติบโตสูง

ทำงานที่บ้านว่ากันว่าว่าคงเป็นไปไม่ได้หรอกที่ทุกคนจะ WFH ตลอดเวลา ต้องมีเวลาปลีกวิเวกพักผ่อนคลายสมองกันบ้าง นอกจากนี้การพักผ่อนยังช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นด้วย วิธีผ่อนคลายแต่ละคนอยู่บ้านจึงมีเพียงไม่กี่วิธี แต่ที่ง่ายและสะดวกที่สุด คือการที่พ่อบ้านแม่บ้านนั่งดูหนังดูรายการทีวีที่โปรดปรานนั่นเอง ทำให้ธุรกิจทีวีดิจิทัลและสตรีมมิ่ง (streaming) อย่าง Netflix เฟื่องฟูตอบโจทย์คนอยู่ที่บ้าน

5. แอปพลิเคชันการทำงานจากระยะไกลแจ้งเกิด

โควิด-19 ยังเป็นไฟลามทุ่ง แต่ใช่ว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ด้วยเทคโนโลยีล้ำยุค การเรียนการสอนออนไลน์ การทำงานออนไลน์ การประชุมปรึกษาหารืองานออนไลน์ เป็นภาคบังคับของวิถีชีวิตที่ต้องทำงานช่วงหลบเลี่ยงภัยโควิด โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการทำงานดังกล่าว จึงเป็นเสมือนอีกปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นขณะนี้ บรรดาเจ้าของแอปพลิเคชันต่าง ๆ จึงรับทรัพย์ไปเต็ม ๆ ไม่ว่าจะเป็น Zoom, Google Hangouts และ Microsoft Team 

6. อาหารปรุงสำเร็จขายดีเป็นพิเศษ

รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว ทำให้เกิดการจำกัดในการจับจ่ายซื้ออาหาร แม้ว่าตลาดสดจะไม่ปิดก็ตาม แต่กลายเป็นว่าปัจจุบันร้านสะดวกซื้อได้กระจายตั้งอยู่ในทุกหย่อมหญ้าใกล้บ้านกว่าตลาดสด การไม่อยากออกไปที่ใดไกลบ้านเดี่ยวกลับมาไม่ทันเคอร์ฟิว จึงส่งผลให้ปริมาณความต้องการซื้ออาหารแพ็คสำเร็จรูปเพื่อการบริโภคในครัวเรือนยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น

7. โชห่วยกลับมาลืมตาอ้าปากได้

ทุกวันนี้แม้ว่าร้านสะดวกซื้อมีอยู่จำนวนมากผุดขึ้นตั้งแต่ปากซอยยันท้ายซอย แต่ด้วยการจำนวนผู้คนเข้าไปซื้อสินค้าครั้งละ 15 คน ทำให้เกิดการยืนต่อแถวยาวเยียดเป็นห่างว่าว ทำให้ผู้บริโภคต้องหาทางเลือกอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัด เบื่อหน่ายเข้าแถวรอคิวนาน ดังนั้นการซื้อของละแวกบ้านที่ดีที่สุด คือร้านโชห่วยในตำนานประจำถิ่น ประจำซอยที่ยังไม่ตาย ซึ่งแต่ละร้านจำหน่ายสินค้าจิปาถะ ทำช่วงนี้พลอยได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย

8. อุปกรณ์ออกกำลังกายก็มาแรง

ผู้ที่ชื่นชอบออกกำลังกายสวนสาธารณะ หรือสถานที่ฟิตเนส ต่างก็ถูกปิดตายหมด เมื่ออยู่บ้านในช่วงระยะเวลานานจำเจ แต่ยังมีวิธีแก้ความเครียด ด้วยการออกกำลังกายภายในบริเวณบ้านปลอดภัยมากกว่าที่ออกกำลังกายที่แจ้ง ทุกวันนี้มีอุปกรณ์การออกกำลังกายล้ำสมัยไม่ซ้ำซากจำเจและเป็นทางเลือกใหม่ กลุ่มเจนเรอเนชั่นใหม่จึงหันมาใช้อุปกรณ์ออกกำลังที่ทันสมัยมากกว่าเดิม ธุรกิจเครื่องออกกำลังกายจึงกลายเป็นโอกาสทองทำกำไรในระยะนี้

9. ธุรกิจทำความสะอาดงานไม่ขาดมือ

จากความหวั่นวิตกกังวลการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นทุกหัวระแหง ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ระบบขนส่งสาธารณะ ร้านรวงต่าง ๆ บ้านพักอาศัย สถานที่สำคัญ ทำให้ต้องหมั่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อกันขนานใหญ่ และจำเป็นต้องใช้มืออาชีพที่มีอุปกรณ์ครบครัน ธุรกิจรับทำความสะอาดและรับพ่นยาฆ่าเชื้อโรคครบวงจรจึงมีงานเข้ามาอย่างไม่ขาดมือ แต่ละบริษัทต่างรับทรัพย์อื้อซ่าไปตาม ๆ กัน


Mostview

ปิดแล้ว! ร้าน Lawson ฉากหลังภูเขาฟูจิ หลังนักท่องเที่ยวไม่ทำตามกฏ ทิ้งขยะเกลื่อน

อีกหนึ่งจุดถ่ายภาพเวลานักท่องเที่ยวไปภูเขาฟูจิที่ประเทศญี่ปุ่น นั่นคือพื้นที่ร้านสะดวกซื้อ Lawson ที่มีฉากหลังเป็นภูเขาฟูจิ ที่เรียกว่าเป็นแลนด์มาร์คที่ใครมาต้องมาถ่ายรูปให้ได้ แต่ตอนนี้กำลังจะเหลือเพียงความทรงจำ กลายเป็นอดีต

ผลกระทบขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจทำให้สินค้าขยับราคาขึ้น 15%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชน ทั้งในภาคส่วนการผลิต การค้า และบริการ การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

Noumami บริษัทนอร์เวย์ ผลิตน้ำปลาจากแซลมอน แบรนด์แรกของโลก

“น้ำปลา” จัดเป็นสินค้าสัตว์น้ำพื้นเมืองของประเทศไทย โดยปลาที่นิยมนำมาเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ ปลากะตัก ปลาสร้อย ปลาซิวแก้ว แต่ตอนนี้ไม่ใช่แค่ปลาดังกล่าวที่พูดมาสามารถนำมาทำเป็นน้ำปลาได้ เพราะปลาแซลมอนก็สามารถนำมาผลิตได้เช่นกัน

Wang Ning เจ้าของ Pop Mart ผู้กลายมาเป็นเศรษฐีจากการขายตุ๊กตา Molly ราคา 300 กว่าบาท ทั่วจีน

Pop Mart ร้านขายของเล่น Art Toys ชื่อดัง ที่ชั่วโมงนี้ไม่มีนักสะสมคนไหนไม่รู้จัก พร้อมที่จะมุ่งไปทันทีหากมีการเปิดขายคอลเล็กชันตัวละครใหม่ จนต้องมีการลงทะเบียนเพื่อรับคิวในการเข้าซื้อกันเลยทีเดียว

SmartSME Line